รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นำคณะผู้บริหารลงพื้นที่เยี่ยมชมสถานประกอบการในจังหวัดกระบี่ ร่วมหารือแนวทางการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่ พร้อมสนับสนุนข้อเสนอของกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน (ภูเก็ต กระบี่ ตรัง พังงา ระนอง และสตูล) เร่งยกระดับและเพิ่มประสิทธิภาพด้านกระบวนการผลิตด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม มุ่งสู่อุตสาหกรรม 4.0 พร้อมขยายช่องทางการตลาดออนไลน์ ตั้งเป้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า การลงพื้นที่ เยี่ยมชมสถานประกอบการและร่วมประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 1/2564 ณ จังหวัดกระบี่ ระหว่างวันที่ 15-16 พฤศจิกายน 2564 เพื่อพบปะและรับฟังปัญหาข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการในพื้นที่ และนำไปขับเคลื่อนเศรษฐกิจในกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน (ภูเก็ต กระบี่ ตรัง พังงา ระนอง และสตูล) โดยจุดแรกได้เดินทางไปยังบริษัท วู้ดเวอร์ค จำกัด ประกอบกิจการแปรรูปไม้ยางพาราและไม้ที่ปลูกขึ้นโดยเฉพาะ 13 ชนิด (ตามมติ ครม.) อาทิ ยูคาลิปตัส กระถินณรงค์ กระถินเทพา มะพร้าว มะขาม ไม้จามจุรี ฯลฯ โดยการอัดน้ำยา อบแห้ง เพื่อทำลังไม้ และไม้รองสินค้าเพื่อจำหน่าย มูลค่าการลงทุนกว่า 390 ล้านบาท กำลังการผลิตภัณฑ์ไม้แปรรูปกว่า 11 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี มูลค่าการส่งออกกว่า 200 ล้านบาท/ปี โดยเป็นการส่งออก 90 % ใช้ในประเทศ 10 % ส่วนใหญ่ส่งไปยังประเทศจีน นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้เข้าร่วมโครงการของกระทรวงอุตสาหกรรมในหลายด้าน เช่น โครงการอุตสาหกรรมสีเขียว โครงการสร้างและพัฒนาเครือข่ายอุตสาหกรรมรักษ์สิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ปี 2561 จนถึงปัจจุบัน โดยทางบริษัทได้ขอให้กระทรวงอุตสาหกรรมช่วยส่งเสริมและสนับสนุนในการยกระดับบุคลากร เพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิตด้วยนวัตกรรมเพื่อมุ่งสู่อุตสาหกรรม 4.0
โดยในช่วงของสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า (Covid-19) บริษัทฯ ได้เข้าร่วมโครงการมาตรการ Bubble and seal ด้วยการแยกพนักงานออกเป็นกลุ่มย่อยและไม่ให้ทำงานเข้ากลุ่มกัน รวมถึงจำกัดพื้นที่ หรือการเดินทางภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด ซึ่งโรงงานจะจัดเตรียมที่พักสำหรับพนักงาน ขณะที่พนักงานที่ติดเชื้อจะถูกแยกไปตามพื้นที่ที่จัดสรรตามระดับอาการป่วยเพื่อรับการรักษาต่อไป
จากนั้น ได้เข้าเยี่ยมชมบริษัท จี้ออ ฟู้ด จำกัด ประกอบกิจการผลิตขนมและผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปพื้นเมือง อาทิ น้ำพริกกุ้งเสียบแปรรูป อาหารทะเลแห้งแปรรูป ขนมเต้าส้อ ผลไม้อบแห้ง มูลค่าการลงทุนกว่า 6.4 ล้านบาท โดยบริษัทฯ ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์และออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่สวยงาม สร้างมูลค่าเพิ่มและต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น และนำเอานวัตกรรมการผลิตอาหาร ที่ทันสมัยและได้มาตรฐานสากลมาใช้รองรับลูกค้าทั้งในพื้นที่และลูกค้ากลุ่มออนไลน์ที่กำลังเติบโต นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังเข้าร่วมโครงการของกระทรวงอุตสาหกรรมในหลายด้าน อาทิ โครงการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตรในภูมิภาค (OPOAI 4.0) ด้านการลดของเสียในกระบวนการผลิต โครงการเสริมสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ แก่อุตสาหกรรมอาหารและสร้างความเชื่อมั่นให้แก่คุณค่าอาหารของไทย โครงการสร้างเครือข่ายอุตสาหกรรมเพื่อสร้างความเข้มแข็งและมูลค่าเพิ่มภายใต้อัตลักษณ์ Andaman Brand โครงการปรับแผนธุรกิจและ เพิ่มขีดความสามารถ SMEs โครงการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปและอาหาร การจัดทำระบบมาตรฐานฮาลาล เป็นต้น และได้ขอให้กระทรวงอุตสาหกรรม สนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิตและการขยายช่องทางตลาดออนไลน์
“ผมได้รับทราบปัญหา ข้อเสนอจากเอกชนและกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม สถาบันอาหาร ธนาคาร SME D bank เร่งให้การช่วยเหลืออย่างเต็มที่ พร้อมยกระดับ เพิ่มประสิทธิภาพตามแนวทางเศรษฐกิจชีวภาพ – เศรษฐกิจหมุนเวียน - เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG Model) สนับสนุนและส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้เพื่อสร้างความแตกต่างให้กับผลิตภัณฑ์ ขยายช่องทางการตลาดออนไลน์ และพัฒนานวัตกรรมการผลิตเพื่อมุ่งสู่อุตสาหกรรม 4.0 ต่อไป” นายสุริยะ กล่าวปิดท้าย
สำหรับการลงพื้นที่ในครั้งนี้ มีนายธีรยุทธ วานิชชัง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม นายสุชาติ ไตรแสงรุจิระ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายกฤชนนท์ อัยยปัญญา เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และคณะผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมลงพื้นที่ด้วย