ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
คอลัมนิสต์ประจำอปท.นิวส์ ย้อนกลับ
ผลเจรจาผู้นำจีน-อเมริกา การแข่งขันต้องดำเนินต่อไป
23 ธ.ค. 2564

โลกของจีน โดย ชัยวัฒน์ วนิชวัฒนะ

ผลเจรจาผู้นำจีน-อเมริกา การแข่งขันต้องดำเนินต่อไป

 

การประชุมข้ามโลกด้วยระบบการประชุมทางไกลระหว่างสองผู้นำของสองซีกโลก คือ สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีน จากกรุงปักกิ่ง กับโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา จากกรุงวอชิงตัน เมื่อกลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา แม้จะไม่มีข้อสรุปหรือข้อตกลงใดระหว่างสองมหาอำนาจโลก เพราะดูเหมือนสองผู้นำของสองซีกโลกจะร่วมกันแสดงละครกระชากเรตติ้งจากผู้ชมและกองเชียร์ของแต่ละฝ่ายมากกว่าจะมุ่งหวังผลการเจรจา แต่อย่างน้อยโลกก็ได้ผ่อนคลายลงบ้าง หลังจากที่ต้องตึงเครียดจากท่าทีของการเผชิญหน้าในสงครามเย็นยุคใหม่

สหรัฐอเมริการู้ดีว่า “ไต้หวัน” คือหนึ่งในดินแดนของจีนแผ่นดินใหญ่ที่รัฐบาลจีนไม่ยอมให้เกิดการแบ่งแยกหรือประกาศเอกราชโดยเด็ดขาด ไบเดนได้กล่าวชัดเจนว่า สหรัฐอเมริกาสนับสนุนนโยบาย “จีนเดียว” แต่ก็รักษาฟอร์มของตัวเองว่า ยังคงสนับสนุนให้ไต้หวันปกป้องตัวเองได้ และคัดค้านอย่างเต็มที่ในการใช้ความพยายามเพียงฝ่ายเดียวเพื่อเปลี่ยนแปลงสถานะเดิม หรือบ่อนทำลายสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน

          ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง กล่าวในประเด็นนี้ว่า มีคนบางกลุ่มในอเมริกาต้องการใช้ไต้หวันเพื่อสกัดกั้นจีน ซึ่งอันตรายมากพอๆ กับการเล่นกับไฟ  “ใครก็ตามที่เล่นกับไฟจะต้องถูกเผาไหม้” และสำทับว่า จีนอดทนและต้องการรวมชาติอย่างสันติ แต่ถ้ากลุ่มสนับสนุนการแบ่งแยกดินแดนไต้หวันยั่วยุหรือล้ำเส้น ปักกิ่งจะตอบโต้อย่างเด็ดขาด          

มีข้อน่าสังเกตว่า หลังประชุมร่วมกับผู้นำจีน ประธานาธิบดีไบเดนให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนอเมริกาในภาษานักการเมืองว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ไม่เคยเปลี่ยนแปลงนโยบายที่มีต่อไต้หวัน “เราไม่ได้สนับสนุนการแยกตัวเป็นเอกราช เราสนับสนุนให้เขาทำในสิ่งที่อยู่ในกรอบของกฎหมาย Taiwan Relations Act เรื่องเอกราชให้พวกเขาตัดสินใจกันเอง”         

แม้ว่าการประชุมภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 26 หรือ UN Climate Change Conference of the Parties (COP26) เมื่อปลายเดือนตุลาคม ที่เมืองกลาสโกว์ สกอตแลนด์ โดยมีอังกฤษเป็นเจ้าภาพ จะไม่ปรากฏผู้นำจีนเข้าร่วม แต่รัฐบาลจีนก็ได้แสดงเจตนารมณ์ชัดเจนต่อความร่วมมือในการแก้ปัญหาร่วมของโลก เพราะในข้อเท็จจริงนั้น จีนคือชาติที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อันดับ 1 ของโลก รองลงมาคือสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป อินเดีย และรัสเซีย

ต่อเนื่องมาถึงการพบกันครั้งนี้ทั้งไบเดนและสี ต่างก็เอ่ยถึงความร่วมมือในการแก้ปัญหาโลกร้อน โดยผู้นำสหรัฐฯกล่าวว่า “เราควรทำงานร่วมกันในสิ่งที่จะเป็นประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นระดับโลก เช่น การลดโลกร้อน

ขณะที่สี จิ้นผิงกล่าวว่า “ความสัมพันธ์อันดีระหว่างจีนและสหรัฐนั้น จำเป็นต้องมีการพัฒนาด้านการให้ความเคารพซึ่งกันและกัน และปกป้องบรรยากาศระหว่างประเทศให้เป็นไปอย่างสันติและมีเสถียรภาพ ซึ่งรวมถึงการตอบสนองต่อความท้าทายระดับโลกอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ปัญหาโลกร้อน และการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

ปัญหาที่มนุษยชาติเผชิญมา 2 ปีเต็ม คือการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่มีผลให้ผู้คนล้มตายไปแล้วกว่า 5 ล้านชีวิต และผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวกันเป็นลูกโซ่ที่ยากจะประเมินความเสียหาย โดยยังไม่รู้ว่าจะจบสิ้นลงเมื่อใด เพราะทุกวันนี้ ยังคงมีการแพร่ระบาด การเสียชีวิต และโอกาสการกลายพันธุ์ของเชื้อร้าย

ก่อนที่สองผู้นำโลกจะคุยกันมีการให้ข่าวว่า จะร่วมกันหารือแก้ปัญหาโควิด-19 และในวันที่พบกันก็มีการเอ่ยเรื่องนี้ แต่หลังจบการพูดคุยยาวนานกว่า 3 ชั่วโมง กลับไม่ปรากฏแม้แต่น้อยว่า สองชาติมหาอำนาจที่ต่างเร่งทุ่มเทพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 มีการระดมฉีดแก่ประชาชนในประเทศ แถมยังใจบุญแจกจ่ายแก่นานาประเทศทั่วโลก ทั้งสีและไบเดนได้คุยเรื่องความร่วมมือในการเอาชนะโควิด-19 หรือไม่อย่างไร

จีนนั้นเคยตกเป็น “แพะของทรัมป์” ว่าปล่อยให้ไวรัสโควิด-19 หลุดจากแล็ปที่อู่ฮั่น แต่ในระยะเวลาอันสั้นจีนสามารถควบคุมการแพร่ระบาด สามารถพัฒนาวัคซีนที่ใช้ฉีดป้องกันแก่ประชาชนในประเทศและแจกจ่ายวัคซีนและเครื่องมือแพทย์แก่ประเทศต่างๆทั่วโลก จนเปลี่ยนภาพจากแพะเป็น “พระเอก” ที่ออกมาช่วยกอบกู้โลกในยามวิกฤติ ในขณะที่พ่อคาวบอยอเมริกันคนเดิม ยังมะงุมมะงาหราแก้ปัญหาในบ้านตัวเองไม่ลงตัว

ฝ่ายสหรัฐอเมริกาเพิ่งจะมาพลิกเกมหลังโจ ไบเดน ขึ้นนั่งเก้าอี้ประธานาธิบดีครบ 100 วัน พร้อมนโยบาย Smart Power เมื่อเห็นจีนโกยคะแนนไปไกล ได้สั่งเร่งผลิตวัคซีน เร่งระดมฉีดคนในประเทศ ขณะที่ชาวอเมริกันไม่น้อยออกมาต่อต้าน จากนั้นรัฐบาลวอชิงตันเริ่มประกาศบริจาควัคซีน จับมือกับนานาชาติเช่นกลุ่ม QUAD กลุ่ม G7 บอกว่า จะผลิตและบริจาควัคซีนนับ 1,000 ล้านโดสแก่ชาติกำลังพัฒนา

วัคซีนโควิด-19 จึงกลายเป็น “เครื่องมือทางการเมือง” กลายเป็นการทูตวัคซีนที่มีเป้าหมายด้านการเมืองระหว่างประเทศ กลายเป็นการแข่งขันระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา กับพันธมิตรที่แบ่งขั้วแยกค่าย ที่ใช้ความเป็นความตายของมนุษยชาติมาต่อรองความเป็นพรรคพวก เป็นมิตรหรือศัตรู

วันนี้จีนสามารถผลิตวัคซีนชนิดสูดดมที่อ้างว่า มีประสิทธิภาพดีกว่าแบบฉีด สูดเข้าปอดโดยตรงได้ผลรวดเร็วต่อระบบทางเดินหายใจ แถมยังประหยัดช่วยลดต้นทุน เพราะไม่ต้องใช้เข็มและกระบอกฉีด นอกจากนี้ ยังสามารถพัฒนาวัคซีนรุ่นใหม่ที่ลดการป่วยหนักและการเสียชีวิตได้ดียิ่งขึ้น

ฝ่ายสหรัฐอเมริกาก็สามารถพัฒนายาเม็ดที่ทรงประสิทธิภาพลดการติดเชื้อและลดการตายได้ในเปอร์เซ็นต์สูง  และได้แบ่งสูตรยาดังกล่าวแก่ 95 ประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลก โดยไม่คิดค่าลิขสิทธิ์หรือส่วนแบ่งรายได้ เพื่อให้บริษัทท้องถิ่นสามารถผลิตและจำหน่ายแก่ประชาชนได้ในราคาถูก

คิดดูว่า ถ้าจีนและสหรัฐอเมริกาได้ร่วมมือกันจริงๆ มีการถ่ายทอดข้อมูลและเทคโนโลยีเรื่องวัคซีนและยารักษาโควิด เชื่อว่า จะใช้เวลาไม่นานในการผลิตวัคซีนหรือยาที่เอาชนะไวรัสร้ายได้อย่างแน่นอน

แต่เพราะ “มังกร” กับ “อินทรี” เป็นคนละสายพันธุ์ จึงมิอาจพัวพันกันได้ลึกซึ้ง เพราะประชาธิปไตยแบบอเมริกัน ไม่ใช่ประชาธิปไตยที่มีอัตลักษณ์แบบจีน และเพราะคำว่า “ผู้นำโลก” มีได้แค่หนึ่งเดียว มิอาจจะแบ่งปัน การแข่งขันจึงต้องดำเนินต่อไป           

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...