นพ.อดิศัย ภัตตาตั้ง ผอ.สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก) พร้อมด้วย ผศ.พิเศษ พญ.ปิยรัชน์ สันตะรัตติวงศ์ หัวหน้างานกุมารเวชศาสตร์ และกุมารแพทย์เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ กล่าวว่า ช่วงที่มีการระบาดของสายพันธุ์เดลตาพบอัตราเด็กติดเชื้อประมาณ 10 % ส่วนสถานการณ์การติดเชื้อและอัตราของครองเตียงของเตียงของเด็กขณะนี้ไม่ได้มากขึ้นกว่าปกติ แต่คาดการณ์ว่าจำนวนผู้ป่วยจะมีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นเหมือนกันทั่วโลก เพราะเด็กอายุ 5-11 ปี เป็นกลุ่มที่ยังไม่ได้รับวัคซีน ไม่ใช่เชื้อมีความรุนแรงมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ต้องป้องกันไม่ให้จำนวนป่วยผู้ป่วยมาก ไม่เช่นนั้นอาจมีอาการรุนแรงได้ โดยกลุ่มอาการของเด็กที่พบ มีอาการคล้ายไข้หวัด อาการน้อยมาก ถึง 50% มีไข้ ไอ หรือบางคนอาจมีอาการท้องเสีย ทั้งนี้ หากผู้ปกครองไม่แน่ใจสามารถตรวจ ATK ในเด็กได้แต่ต้องอาศัยคนช่วยจับศีรษะ ป้องกันเด็กดิ้น ใช้การป้ายน้ำมูกตรวจเชื้อ และไม่จำเป็นต้องแยกสายพันธุ์ การรักษาเน้นตามอาการเพียง 3-4 วันก็หาย
นพ.อดิศัย กล่าวต่อว่า ขณะนี้ที่รพ.เด็ก มีเตียงเด็ก 70 เตียง เตียงสีแดงสำหรับทารกแรกเกิดและเด็กโต 13 เตียง ขณะนี้ ยังไม่พบผู้ป่วยอาการสีแดง สีส้ม มีเพียงอาการสีเหลือง 1 ราย นอกจากนี้ยังมีผู้ป่วยเด็กที่ต้องดูแลที่บ้าน (Home Isolation : HI) 60 คน และเป็นผู้ป่วยใน 32 คนในจำนวนนี้นับรวมผู้ปกครองด้วย เนื่องจากพบว่าในทางจิตวิทยาการมีผู้ปกครองพ่อแม่เด็กเฝ้าไข้ดูอาการช่วยให้เด็กหายเร็วมากยิ่งขึ้น
“ปัจจัยของการติดเชื้อยังเป็นเรื่องของการสัมผัสใกล้ชิดกับบุคคลในครอบครัวที่มีการติดเชื้อ เพราะส่วนใหญ่เด็กอยู่กับบ้าน ส่วนอาการหรือสัญญาณที่สมควรนำตัวเด็กมารับการรักษาดูอาการในรพ.นั้นต่อเมื่อมีอาการไข้สูง 39 องศา หายใจเร็ว ซึมไม่รับประทานอาหาร ควรมาพบแพทย์ทันที พร้อมเรื่องของการรับวัคซีนในเด็กช่วยป้องกันการติดเชื้อ” นพ.อดิศัย กล่าว.