ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
คอลัมนิสต์ประจำอปท.นิวส์ ย้อนกลับ
รถไฟความเร็วสูงจีน
25 ม.ค. 2565

โลกของจีน โดย ชัยวัฒน์ วนิชวัฒนะ

รถไฟความเร็วสูงจีน

คนจีนโบราณบอกว่า ถ้าอยากจะรํ่ารวยต้องสร้างถนน แต่คนจีนปัจจุบันบอกว่า ต้องสร้างทางรถไฟความเร็วสูง เพราะรถไฟความเร็วสูงมีส่วนช่วยพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม

ปี 2013 จีนมีโครงข่ายรถไฟความเร็วสูงจีนรวม 9,300 กิโลเมตร ตอนนั้นนับว่ายาวที่สุดในโลกแล้ว

แต่ ณ สิ้นปี 2016 โครงข่ายรถไฟความเร็วสงของจีนขยายเป็นมากกว่า 22,000 กิโลเมตร ยังรักษาความยาวที่สุดในโลก

เมื่อต้นเดือนมกราคม 2022 การรถไฟแห่งประเทศจีน เปิดเผยว่า ความยาวของโครงข่ายทางรถไฟความเร็วสูงที่ให้บริการในจีนมีมากกว่า 40,000 กิโลเมตรแล้ว เมื่อนับถึงสิ้นปี 2021 เรียกว่า ทิ้งห่างนานาชาติทั่วโลกจนยากที่จะมีชาติใดตามทัน

จุดพัฒนารถไฟความเร็วสูงหรือที่จีนเรียก “เกาเถี่ย” เริ่มต้นอย่างจริงจังในปี 2547 ซึ่งนโยบายของจีนตอนนั้นคือ นำเข้าเทคโนโลยีและพัฒนาไปด้วยกัน จีนมีความมุ่งมั่นยกระดับเทคโนโลยีของตนเอง เพิ่มขีดความสามารถการขนส่ง ตั้งเป้าหมายที่เหนือกว่า สร้างกระบวนการผลิตขึ้นใหม่

ในปี 2007 จีนสามารถสร้างรถไฟที่ยาวถึง 16 ขบวน ปี 2008 สามารถเปิดเส้นทาง ปักกิ่ง-เทียนจิน อู่ฮั่น-กวางโจว จีนสามารถพัฒนาความเร็วได้ถึง 380 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

เส้นทางปักกิ่ง-คุนหมิง ระยะทาง 2,700 กิโลเมตร ยาวที่สุดในโลก เจาะภูเขา 226 ลูก คือผลงานที่จีนภาคภูมิใจ วันนี้ จีนคือฐานผลิตรถไฟฟ้าความเร็วสูงที่ใหญ่ที่สุดในโลก  

ปัจจุบัน “เกาเถี่ย” มีบทบทาทอย่างมากในการเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่ง เพิ่มมูลค่าการขนส่ง ช่วยแก้ปัญหาการเดินทางของมหาชนในช่วงเทศกาลสำคัญต่างๆ เศรษฐกิจกระจายตัวมากขึ้นขณะที่เวลาในการเดินทางระหว่างเมืองลดลง

การที่จีนสามารถขยายเส้นทางรถไฟความเร็วสูงได้มากและรวดเร็วในแต่ละปี นอกจากเป็นนโยบายจากส่วนกลางแล้ว ยังเป็นความพอใจของรัฐบาลท้องถิ่น เพราะมีผลต่อการพัฒนาเมืองและคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ มีผลในการดึงดูดนักลงทุนภาคเอกชนให้เข้ามาเช่าที่จากรัฐในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ทำให้ท้องถิ่นมีรายได้เข้า มีโอกาสเก็บภาษีเพิ่มเติมในอนาคต             

การรถไฟแห่งประเทศจีน เปิดเผยว่า การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรด้านทางรถไฟของจีนในปี 2021 มีมูลค่า 7.48 แสนล้านหยวน (ประมาณ 3.89 ล้านล้านบาท) เนื่องด้วยมีการเริ่มก่อสร้างทางรถไฟเพิ่มขึ้น 4,208 กิโลเมตร ในจำนวนนี้เป็นทางรถไฟความเร็วสูง 2,168 กิโลเมตร

ปัจจุบันจีนมีทางรถไฟทุกประเภทที่เปิดให้บริการรวมกว่า 150,000 กิโลเมตร

CRRC ผู้ผลิตรถไฟรายใหญ่ที่สุดของจีน เปิดเผยว่า มีการพัฒนารถไฟที่วิ่งได้บนรางทุกขนาดทั้งแคบและกว้าง และมีความเร็วออกแบบสูงสุด 400 กิโลเมตรต่อชั่วโมง นอกจากนี้ ยังใช้เทคโนโลยีการตรวจจับอัจฉริยะ คลังข้อมูลขนาดใหญ่และปัญญาประดิษฐ์ เพื่อสร้างการเดินทางที่ปลอดภัย สะดวกสบาย และเป็นมิตรกับผู้โดยสารยิ่งขึ้น

เพื่อนสื่อมวลชนจีนช่วยให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันชาวจีนในแผ่นดินใหญ่นิยมใช้บริการ “เกาเถี่ย” หากต้องเดินทางไกลในระยะทางไม่เกิน 500 กิโลเมตร แม้ว่าค่าโดยสารรถไฟความเร็วสูงจะไม่ถูกนักก็ตาม 

กล่าวคือ ค่าโดยสารรถไฟความเร็วสูงในจีนโดยทั่วไปจะแบ่งเป็น 3 ระดับ จากระดับชั้นธุรกิจ ที่ราคาแพงกว่าขึ้นเครื่องบิน ที่นั่งกว้างใหญ่ปรับเอนนอนได้ มีบริการอาหารและเครื่องดื่มเป็นพิเศษ ถัดมาเป็นชั้น 1 ราคาเทียบเท่าเครื่องบิน  และชั้น 2 ที่ย่อมเยาลงมาหน่อย

เหตุที่นิยมใช้เพราะรู้สึกว่า นั่งรถไฟปลอดภัยกว่าเครื่องบิน ความเร็วสูงช่วยลดเวลาเดินทางลงมาก สบาย ลุกเดินไป-มาได้ ดีกว่านั่งเครื่องบินที่คับแคบและอึดอัด เสียงไม่ดัง และยุคนี้ยังมีบริการไวไฟ ชาร์ตแบตเตอรี่ได้ เล่นมือถือได้  เอาโน้ตบุ๊คออกมานั่งทำงานได้ เป็นการตอบโจทย์การใช้ชีวิตในยุค 5 จี

อีกเหตุผลของการที่ชาวจีนใช้บริการรถไฟความเร็วสูงมาก ก็เพราะทางการจีนมีนโยบายสร้างสถานีรถไฟความเร็วสูงให้เชื่อมต่อกับสถานีรถไฟใต้ดิน จึงสะดวกต่อการเดินทาง ขณะที่สนามบินหลายแห่งอยู่ห่างเขตชุมชนต้องนั่งแท็กซี่เพราะรถไฟฟ้าไปไม่ถึง

ประเทศไทยเราก็มีโครการรถไฟความเร็วสูงที่ร่วมกับจีน มีพิธีร่วมลงนามอย่างเป็นทางการกับจีนในระหว่างการประชุมกลุ่มเศรษฐกิจ BRICS ระหว่างวันที่ 3-5 กันยายน 2560 ณ นครเซียะเหมิน มณฑลฝูเจี้ยน ในสัญญาโครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคาย

โดยเป็นสัญญาการออกแบบและควบคุมงานก่อสร้างฯ เฟสแรก ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กิโลเมตร อัตราความเร็ว 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง วงเงินลงทุน 179,412 ล้านบาท กำหนดเริ่มก่อสร้างภายในปี 2560แล้วเสร็จในปี 2564 ต่อมาขยับเป็นปี 2568

ความจริงโครงการนี้น่าจะเกิดตั้งแต่ปี 2557 สมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่ก็ถูกโจมตีคัดค้านว่า จะสร้างหนี้ระยะยาว สุดท้ายถูกศาลรัฐธรรมนูญคว่ำร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท พร้อมความเห็นที่ว่า ให้ไปแก้ถนนลูกรังก่อนสร้างรถไฟความเร็วสูง

ครั้นมาถึงสมัยรัฐบาล คสช. แรกๆ ก็บอกว่า ไม่เอาความเร็วสูง แต่ก็ค่อยๆ เพิ่มสปีดจากความเร็วปานกลาง สุดท้ายก็เป็นความเร็วสูง อย่างไรก็ตาม หลังจากทำบันทึกความตกลงกับจีนในปี 2558 แล้ว ก็ยังลีลาในการเจรจากันอีกกว่า 20 ครั้ง ในช่วง 2 ปีกว่า จะลงนามเซ็นสัญญาอย่างเป็นทางการได้เมื่อเดือนกันยายน 2560 ดังกล่าว

ผ่านไป 4 ปี เฟส 1 กรุงเทพฯ-นครราชสีมา ที่แบ่งงานก่อสร้างเป็น 14 สัญญา เดินหน้าช้าแบบเต่าคลาน สร้างเสร็จแค่สัญญาที่ 1-1 ช่วงกลางดง-ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กิโลเมตรในเวลา 2 ปีครึ่ง ที่เหลืออยู่ระหว่างก่อสร้าง 7 สัญญา ลงนามและเตรียมก่อสร้าง 3 สัญญา รอประกวดราคาอีก 3 สัญญา

สิ้นปีที่แล้วกระทรวงคมนาคมไทยบอกว่า น่าจะเปิดบริการได้ในปี 2569

สปป.ลาวเพื่อนบ้านของไทย ได้ลงนามในข้อตกลงกับสาธารณรัฐประชาชนจีนเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2558 ในโครงการก่อสร้างทางรถไฟจีน-ลาว มูลค่าการลงทุน 2.38 แสนล้านบาท ระยะทาง 417 กิโลเมตร จากชายแดนจีน-ลาวที่เมืองบ่อเต็น แขวงหลวงน้ำทาถึงนครหลวงเวียงจันทน์ 

ผู้นำลาวได้ลั่นฆ้องชัย 9 ครั้ง ในพิธีเริ่มการก่อสร้างเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2559 ที่บ้านพอนไช เมืองหลวงพระบาง ผ่านไป 5 ปี เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2564 เวลา 15.30 น. สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีน และทองลุน สีสุลิด ประธานาธิบดี สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ได้ร่วมกันเป็นสักขีพยานในพิธีเปิดทางรถไฟลาว-จีน

รถไฟฟ้าลาว-จีน แม้จะแค่รถด่วนพิเศษไม่ใช่รถไฟความเร็วสูง แต่ก็วิ่งก่อนไทยละเด้อ

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...