กรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เดินหน้าขับเคลื่อนนโยบาย “ตลาดนำการผลิต” ของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดพิธีลงนามข้อตกลงซื้อขายรังไหมอุตสาหกรรมในระบบเกษตรพันธสัญญา ระหว่างกลุ่มเกษตรกรหม่อนไหม จ.น่าน เชียงราย พะเยา และบริษัท จุลไหมไทย จำกัด เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2565 ณ ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ น่าน พร้อมคาดการณ์ผลผลิตปี 2565 ตามแผนการเลี้ยงไหม 10 รุ่น จะได้ผลผลิตรังไหมไม่น้อยกว่า 75 ตัน และจะสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร มากกว่า 12 ล้านบาท
นายปราโมทย์ ยาใจ อธิบดีกรมหม่อนไหม เปิดเผยว่า กรมหม่อนไหมได้ดำเนินงานตามนโยบาย “ตลาดนำการผลิต” ของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ที่แน่นอน มีความมั่นคงในอาชีพ สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนและการตลาด ด้วยการแสวงหาความร่วมมือจากภาคเอกชน เพื่อวางแผนการผลิตร่วมกัน ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ให้ได้มาตรฐานตรงตามความต้องการของตลาด โดยส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่ในจังหวัดน่าน เชียงรายและพะเยา หันมาปลูกหม่อนเลี้ยงไหม เป็นการสร้างอาชีพใหม่ ทดแทนการทำเกษตรกรรมแบบเดิมที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยว ซึ่งค่อนข้างมีความเสี่ยงด้านผลผลิตและราคา ส่งเสริมให้มีการรวมกลุ่มเลี้ยงไหมอุตสาหกรรม และขยายผลสู่ระบบเกษตรพันธสัญญา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน เป็นการบูรณาการระหว่างภาครัฐ เอกชน และกลุ่มเกษตรกร ซึ่งนอกจากจะช่วยลดต้นทุนการผลิต ลดความเสี่ยงด้านการตลาด มีการแบ่งปันผลประโยชน์ร่วมกันอย่างยุติธรรมระหว่างภาคเอกชนกับเกษตรกร ยังเป็นการสร้างความยั่งยืนในอาชีพ และคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับเกษตรกร
สำหรับภาคเอกชน คือบริษัท จุลไหมไทย จำกัด ซึ่งได้ทำสัญญาซื้อขายรังไหมอุตสาหกรรมกับกลุ่มเกษตรกรนั้น มีความต้องการผลผลิตรังไหมทั่วประเทศถึง 5,000 ตัน แต่เกษตรกรยังผลิตได้ประมาณ 2,000 ตัน กรมหม่อนไหมจึงเดินหน้าร่วมกับบริษัท จุลไหมไทย เร่งสร้างเกษตรกรรายใหม่ให้เข้าสู่ระบบการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมอุตสาหกรรมมากขึ้น โดยส่งเสริมกิจกรรมการฝึกอบรมให้ความรู้ในการผลิตไหมอุตสาหกรรมแบบครบวงจร สนับสนุนปัจจัยการผลิตที่จำเป็น และสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มเกษตรกร
ทั้งนี้ ในปี 2564 มีเกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมอุตสาหกรรม 3 จังหวัดดังกล่าว 307 ราย เลี้ยงไหม จำนวน 9 รุ่น ผลผลิตรังไหมรวม 55.77 ตัน รายได้ 8.67 ล้านบาท ส่วนในปี 2565 มีแผนการเลี้ยงไหม จำนวน 10 รุ่น คาดการณ์จะได้ผลผลิตรังไหม จำนวน 75 ตัน และสามารถสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรได้มากกว่า 12 ล้านบาท
“กรมหม่อนไหมยังเดินหน้าส่งเสริมการทำเกษตรพันธสัญญาในการซื้อขายรังไหมอุตสาหกรรม เป้าหมายเพื่อสร้างความมั่นคงทั้งด้านอาชีพและรายได้ให้กับเกษตรกร ลดการนำเข้าเส้นไหมจากต่างประเทศ อีกทั้งยังช่วยแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน อันจะเป็นการร่วมกันพัฒนาวงการหม่อนไหมไทย ให้ก้าวไปสู่การเป็นผู้นำในการผลิตเส้นไหม ทั้งในระดับภูมิภาคและในระดับโลกต่อไป”อธิบดีกรมหม่อนไหม กล่าว