ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
คอลัมนิสต์ประจำอปท.นิวส์ ย้อนกลับ
เศรษฐกิจสีเงิน
03 ก.พ. 2565

โลกของจีน : โดย ชัยวัฒน์ วนิชวัฒนะ                                                                

เศรษฐกิจสีเงิน

การที่จีนสามารถพัฒนาจากชาติด้อยพัฒนาที่ยากจนข้นแค้น ขึ้นมายืนหายใจรดต้นคอสหรัฐอเมริกาได้ในเวลาไม่กี่สิบปี ก็เพราะการเมืองที่มั่นคงและได้ผู้ปกครองประเทศที่มีวิสัยทัศน์ยาวไกล คิดและทำเพื่อประชาชน เตรียมแผนรับมืออนาคต

วันนี้จีนมีประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปมากถึง 264 ล้านคน คิดเป็น 18.7% ของจำนวนประชากร และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 300 ล้านคนในปี 2025 และขยับขึ้นเป็น 487 ล้านคนในปี 2050 หรือสัดส่วนราว 1 ใน 3 ของประชากร เรียกได้ว่าเป็นสังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด (Super-aged Society)

ตัวเลขดังกล่าว ยังรวมถึงผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป 190.64 ล้านคน หรือคิดเป็น1 3.5 % ของประชากรทั้งหมด

สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) ระบุว่า “ข้อมูลดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า ประชากรสูงวัยของจีนนั้น มีมากขึ้น  และเรายังต้องเผชิญแรงกดดันต่อไปในการปรับจำนวนประชากรให้มีความสมดุลในระยะยาว

การสำรวจสำมะโนประชากรยังพบว่า 63.35% ของประชากรทั่วประเทศ มีอายุระหว่าง 15-59 ปี และสัดส่วนของชาวจีนที่มีอายุระหว่าง 0-14 ปีอยู่ที่ 17.95 %          

ในปี 1949 ที่เริ่มสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน มีประชากรอยู่เพียง 540 ล้านคน ด้วยความอดอยากยากจน  คนจีนเมื่อ 7 ทศวรรษก่อนมีอายุเฉลี่ยเพียง 35 ปี อัตราการเสียชีวิตของทารกแรกเกิดในขณะนั้นคือ 200 ต่อ 1,000

ในปี 1981 อายุเฉลี่ยคนจีนเพิ่มเป็น 67.8 ปี เมื่อถึงปี 2019 อายุเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 77.3 ปี โดยอัตราการเสียชีวิตของทารกลดลงเหลือ 6.1 ต่อ 1,000 และคาดว่า ในปี 2025 อายุเฉลี่ยชาวจีนจะเพิ่มเป็น 78.3 ปี

เมื่อชาติบ้านเมืองได้รับการพัฒนา โดยเฉพาะความมุ่งมั่นในการแก้ปัญหาความยากจน ซึ่งเป็นอุดมการณ์ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน คนจีนเมื่อเริ่มมีกินมีใช้ เริ่มดูแลรักษาสุขภาพ มีเวลาออกกำลังกาย สุขภาพจิตดี ชาวจีนจึงมีอายุยืนยาวขึ้น

เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นมณฑลเจียงซู ทางตะวันตกของจีน เปิดเผยว่า ในปี 2018 เจียงซูมีผู้ที่มีอายุมากกว่า 100 ปีจำนวน 6,015 คน

คณะกรรมการสุขภาพประจำมณฑลระบุว่า ตัวเลขผู้ขึ้นทะเบียนที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป มีทั้งสิ้น 18.05 ล้านคน คิดเป็น 23.04 %ของประชากรในมณฑล นอกจากนี้ จำนวนผู้ขึ้นทะเบียนที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป มีประมาณ 12.56 ล้านคน คิดเป็น 16.03% ของประชากรทั้งหมดในมณฑล

เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นมณฑลเหอหนาน ทางตอนกลางของจีน เผยว่า เหอหนาน ซึ่งเป็นหนึ่งในมณฑลที่มีประชากรหนาแน่นที่สุดในประเทศ ได้บันทึกสถิติมีผู้มีอายุตั้งแต่ 100 ปีขึ้นไปสูงสุดเป็นประวัติการณ์จำนวน 7,734 คน

ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระยะ 5 ปี ฉบับที่ 14 (2021-2025) ด้านบริการสาธารณะของจีน มีแผนเตรียม “เตียงสำหรับผู้สูงอายุในบ้านพักคนชรา” ไว้ 10 ล้านเตียงในปี 2025

แผนดังกล่าวระบุว่า ในปี 2025 พื้นที่เขตเมืองและชุมชนที่สร้างใหม่จะมีสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อรองรับกลุ่มผู้สูงอายุ 100% และอัตราความครอบคลุมของประกันขั้นพื้นฐานสำหรับผู้สูงอายุจะอยู่ในระดับ 95% ส่วนพื้นที่สำหรับสาธารณูปโภคด้านกีฬาจะอยู่ในระดับ 2.6 ตารางเมตรต่อประชากรหนึ่งคน

คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติจีน (NHC) เปิดเผยข้อมูลว่าจีนมี “พยาบาล” มากกว่า 4.7 ล้านคน เมื่อนับถึงสิ้นปี 2020

จีนมีพยาบาล 3.35 คนต่อประชากร 1,000 คน และมีอัตราส่วนของแพทย์ต่อพยาบาลอยู่ที่ 1 : 1.15 โดยจำนวนพยาบาลจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วยความพยายามพัฒนากลไกสร้างแรงจูงใจและบริการด้านการพยาบาล

จีนให้ความสำคัญกับการพัฒนาการพยาบาลสำหรับผู้สูงอายุ การดูแลในบ้านและระดับชุมชน ตลอดจนการดูแลในบ้านพักคนชรา

กระทรวงกิจการพลเรือนของจีนเปิดเผยว่า จีนมีสถานที่และสถาบันดูแลผู้สูงอายุเกือบ 220,000 แห่ง เมื่อนับถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2021 โดยมีเตียงสำหรับผู้สูงอายุกว่า 7.9 ล้านเตียง

เนื่องจากประชากรสูงอายุของจีนมีแนวโน้มเกิน 300 ล้านคนในอีก 5 ปี จึงจะมีการเสริมสร้างความพยายามฝึกอบรมผู้ให้บริการดูแลผู้สูงอายุ เพื่อประกันว่า จะมีผู้อำนวยการบ้านพักคนชรา 10,000 คน และนักสังคมสงเคราะห์นอกเวลาหรือเต็มเวลา 100,000 คน ได้รับการฝึกอบรมสำหรับรองรับบริการด้านนี้ภายในสิ้นปี 2022

จีนมองว่า จำนวนประชากรสูงวัยที่เพิ่มขึ้นของจีนเป็นทั้ง “ความท้าทายและโอกาส”

ถ้ามองให้เป็นปัญหาสังคม เมื่ออัตราการเกิดน้อยลงในขณะที่คนแก่อายุยืนขึ้นจะมีผลให้คนวัยทำงานลดลง  ความเป็นจริงในสังคมจีนวันนี้ คือภาระของครอบครัวในการดูแลอาปา-อามา-อากง-อาม่า รวมถึงเพิ่มแรงกดดันต่อรัฐบาลในการจัดสรรบริการสาธารณะขั้นพื้นฐาน

แต่รัฐบาลจีนพยายามมองให้เป็นบวกว่า ประชากรสูงวัยมีส่วนส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจสีน้ำเงิน (silver economy) หรือเศรษฐกิจผู้สูงวัน ที่จะมีบทบาทในการเพิ่มการบริโภคสินค้าและบริการสำหรับผู้สูงวัย และกระตุ้นความก้าวหน้าทางเทคนิค

จีนมีนโยบายจะจัดทำแผนการโดยรวมและบังคับใช้มาตรการเฉพาะ เพื่อทำให้ประชากรสูงวัยเป็นยุทธศาสตร์ระดับชาติทั้งปัจจุบันและอนาคต    

ประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุตั้งแต่ปี 2548  ซึ่งมีผู้สูงอายุ 10.4% ของประชากร และปี 2564 ที่ผ่านมา ไทยเข้าสู่ “สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์” (Aged Society) ตามหลักเกณฑ์ที่มีผู้สูงวัย อายุ 60 ปีขึ้นไป 13.3 ล้านคน ประมาณ 20% ของประชากรทั้งประเทศ และคาดการณ์ว่า ในปี 2574 ไทยจะเข้าสู่ “สังคมสูงอายุระดับสุดยอด” (Super-aged Society)แบบจีน 

แต่วันนี้รัฐบาลไทยยังไม่ขยับอะไรเลย นักการเมืองยังทำงานแบบพรรคใครพรรคมัน เอาตัวรอดและแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปวันๆให้พ้นตัว ส่วนผู้นำที่คิดยาวมองไกลคือวางแผนยื้ออำนาจ อนุมัติแผนลงทุนขนาดใหญ่หรือจัดซื้ออาวุธแบบก่อหนี้ผูกพันระยะยาว

คนพวกนี้ทำเพื่อใคร?

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...