ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
คอลัมนิสต์ประจำอปท.นิวส์ ย้อนกลับ
อันดับภาพลักษ์คอร์รัปชันไทย
05 มี.ค. 2565

เขียนให้คิด โดย ซีศูนย์

อันดับภาพลักษ์คอร์รัปชันไทย

สวัสดีครับท่านผู้อ่านที่เคารพ ช่วงปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา หลายท่านคงได้ทราบข่าวที่ดูเหมือนจะเป็นเรื่องเล็กq สำหรับสังคมไทย แต่กับต่างประเทศแล้วเขาให้ความสำคัญมากครับ โดยเฉพาะเรื่องการทุจริตที่มีองค์กรโลกบาลแห่งหนึ่งคือ องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International หรือ TI) เขาจัดทำดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชันของประเทศต่างๆ เผยแพร่ผลการสำรวจดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index หรือ CPI) ประจำปี 2564

อ้อองค์กรนี้เป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร ก่อตั้งโดยอดีตพนักงานของธนาคารโลก และจดทะเบียนที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี มาตั้งแต่ปี 2536 จุดประสงค์เพื่อรณรงค์การแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน คือการดำเนินการเพื่อต่อต้านการทุจริตทั่วโลกด้วยมาตรการต่อต้านการทุจริตของสังคมพลเรือนและเพื่อป้องกันกิจกรรมทางอาญาที่เกิดจากการทุจริต ดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชัน หรือ CPI นี้ เขาจัดอันดับประเทศเกี่ยวกับระดับการทุจริตในภาครัฐ ด้วยวิธีการประเมินผลโดยผู้เชี่ยวชาญและเขียนแบบสอบถามความคิดเห็นโดยทั่วไปแล้ว CPI มักวัดระดับการทุจริตเป็นเรื่องการใช้อำนาจสาธารณะในทางที่ผิดเพื่อรายได้ส่วนตัว

เขาคิดค่าคะแนนตั้งแต่ 0 ซึ่งถือว่า คอร์รัปชันมากที่สุด – 100 ถือว่า คอร์รัปชันน้อยที่สุด ค่า CPI ของประเทศไหนมีความโปร่งใสมาก คอร์รัปชันต่่า ประเทศไหนมีความโปร่งใสน้อย คอร์รัปชันสูง ซึ่งในปี 2564 ที่เพิ่งประกาศไปนี้พบว่า  เดนมาร์ก ฟินแลนด์ และนิวซีแลนด์ ครองตำแหน่งอันดับที่ 1 ของโลก ด้วยคะแนน สูงสุด 88 คะแนน รองลงมาคือ นอร์เวย์ สิงคโปร์ สวีเดนที่ได้ 85 คะแนนเท่ากัน ตามมาด้วยสวิตเซอร์แลนด์ 84 คะแนน เนเธอร์แลนด์ 82 คะแนน ลักเซมเบิร์ก 81 คะแนน และเยอรมนี 80 คะแนน ทั้งหมดติดอยู่ในกลุ่มประเทศที่ได้คะแนนสูงสุด 10 อันดับแรก

ส่วนไทยเราพอผลออกมาทำเอา ป.ป.ช.สะดุ้งไปพอควรครับ เพราะไทย ได้ 35 คะแนน อยู่ในอันดับที่ 110 จากจำนวน 180 ประเทศทั่วโลก โดยคะแนนลดลงจากปี 2563 ที่ได้ 36 คะแนน ลดลงไป 1 คะแนนครับ แต่อันดับร่วง 6 อันดับ จาก 104 ไปอยู่ที่ 110 มาดูเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอาเชียนเราเป็นไงครับ ของเราอยู่อันดับที่ 5 จากทั้งหมด 10 ประเทศ ไม่รวมบรูไนประเทศเดียวที่ไม่ได้มีการระบุข้อมูลคะแนนของปี 2564 โดยอันดับ 1 คือ สิงคโปร์ 85 คะแนน ถัดไปเป็นมาเลเซีย 48 คะแนน ติมอร์-เลสเต 41 คะแนน เวียดนาม 39 คะแนน อินโดนีเซีย 38 คะแนน และไทย 35 คะแนน

นอกนั้นคือ  ฟิลิปปินส์ 33 คะแนน ลาว 30 คะแนน เมียนมาร์ 28 คะแนน กัมพูชา 23 คะแนน ซึ่งในปี 2563 จากจำนวน 180 ประเทศทั่วโลก ไทยเราได้ 36 คะแนน เท่ากับปี  2562 แต่เป็นอันดับที่ 104 ของโลก และอยู่ในอันดับที่ 5 ของกลุ่มประเทศอาเซียน เท่ากับเวียดนาม ส่วนสิงค์โปรก็ยังได้คะแนนสูงสุด  85 คะแนนอยู่ในอันดับที่ 3 ของโลก ทีนี้ในปี 2564 การสำรวจของ TI เขาจะใช้แหล่งข้อมูลในการประเมินคะแนน 9 แหล่งข้อมูล จากคะแนนเต็ม 100 คะแนนเมื่อเปรียบเทียบกับคะแนนปี 2563 แล้วพบว่า

1.แหล่งข้อมูล IMD World Competitiveness Yearbook (IMD) หรือคะแนนในส่วนการติดสินบนและการทุจริตมีอยู่หรือไม่ มากน้อยเพียงใดอยู่ที่ 39 คะแนน ลดลง 2 คะแนนเมื่อเทียบกับปี 2563 ที่ได้ 41 คะแนน

2. แหล่งข้อมูล Bertelsmann Stiftung Transformation Index (BF (TI) หรือการปราบปรามการทุจริตและบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำผิดมีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด ได้ 37 คะแนน เท่ากับปี 2563

3. แหล่งข้อมูล Economist Intelligence Unit Country Risk Ratings (EIU) หรือความโปร่งใสและตรวจสอบได้ในการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ ได้ 37 คะแนน เท่ากับปี 2563

4. แหล่งข้อมูล Global Insight Country Risk Ratings (GI) หรือการดำเนินการทางธุรกิจ ต้องเกี่ยวข้องกับการทุจริตมากน้อยเพียงใด ได้ 35 คะแนน เท่ากับปี 2563

5. แหล่งข้อมูล The Political and Economic Risk Consultancy (PERC) หรือระดับการรับรู้ว่าการทุจริตเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสถาบันทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองมากน้อยเพียงใด ได้ 36 คะแนน ลดลง 2 คะแนนจากปี 2563 ที่ได้ 38 คะแนน

6. แหล่งข้อมูล PRS International Country Risk Guide (PRS) หรือการมีอำนาจหรือตำแหน่งทางการเมือง มีการทุจริตโดยใช้ระบบอุปถัมภ์ และระบุเครือญาติ และภาคการเมืองกับภาคธุรกิจมีความสัมพันธ์กันมากน้อยเพียงใด ได้ 32 คะแนน เท่ากับเมื่อปี 2563

7. แหล่งข้อมูล World Economic Forum (WEF) หรือภาคธุรกิจต้องจ่ายเงินสินบนในกระบวนการต่างๆ มากน้อยเพียงใด ได้ 42 คะแนน ลดลง 1 คะแนนจากปี 2563 ที่ได้ 43 คะแนน

8. แหล่งข้อมูล World Justice Project (WJP) หรือเจ้าหน้าที่รัฐมีพฤติกรรมการใช้ตำแหน่งหน้าที่ในทางมิชอบมากน้อยเพียงใด ได้ 35 คะแนน ลดลงมากที่สุดถึง 3 คะแนน จากปี 2563 ที่ได้ 38 คะแนน

9. แหล่งข้อมูล Varieties of Democracy Institute (V-DEM) หรือการทุจริตในภาครัฐ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และตุลาการ เกี่ยวกับสินบน การขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลกับส่วนรวม มากน้อยเพียงใด ไทยได้ 26 คะแนนเพิ่มขึ้น 6 คะแนนจากปี 2563 ที่ได้เพียง 20 คะแนน

นอกจากนั้น องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ ยังให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันว่า  ไทยต้องสร้างความเข้มแข็งให้กับหน่วยงานตรวจสอบ ต้องสร้างความเชื่อมั่นเกี่ยวกับการเปิดเผยและความโปร่งใสในการได้รับสัญญาเพื่อขจัดการกระทำผิดและขัดกันแห่งผลประโยชน์ และเสริมสร้างความเชื่อมั่นในการเข้าเสนอราคาอย่างเป็นธรรม ต้องปกป้องประชาธิปไตยและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของพลเมือง ต้องเผยแพร่ข้อมูลที่เกี่ยวข้องและรับรองการเข้าถึงข้อมูลเพื่อให้มั่นใจว่าสาธารณชนได้รับข้อมูลสำคัญได้โดยง่าย สะดวก และตรงต่อเวลา

ครับเป็นเรื่องยากที่จะให้ไทยได้รับการยอมรับเรื่องความโปร่งใส ตราบที่บริบทสังคมเรายังอยู่ในวังวนเลวร้ายเดิมๆ ก็เอาใจช่วย ป.ป.ช.นะครับ

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...