คาดการณ์ส่งออกยางพาราปีนี้ 4.2 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน แม้เผชิญผลกระทบจากปัญหาสงครามยูเครน-รัสเซียและการแพร่ระบาดโควิดระลอกใหม่ “อลงกรณ์” เผยราคายางยังอยู่ในช่วงขาขื้น เร่งเดินหน้าลดพื้นที่ยางปีละ 1 แสนไร่ ตามมาตรการบริหารอุปสงค์อุปทานเพื่อสร้างเสถียรภาพราคาระยะยาว
นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการติดตามและเสนอมาตรการแก้ไขปัญหาราคายางและรักษาเสถียรภาพราคายาง ได้ประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 2/2565 ณ ห้องประชุมรัษฎา อาคาร 2 ชั้น 2 การยางแห่งประเทศไทย พร้อมด้วย นายกุลเดช พัวพัฒนกุล ประธานการยางแห่งประเทศไทย นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการยางแห่งประเทศไทย นายธีระชาติ ปางวิรุฬห์รักษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการตลาด นายประพันธ์ บุณยเกียรติ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการค้าและการลงทุน นายธีระชาติ ปางวิรุฬห์รักษ์ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีพาณิชย์ นายเมฆินทร์ เอี่ยมสอาด นายนฐกร สุวรรณธาดา คณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานเกษตรในทุกภูมิภาคทั่วโลก ผู้แทนชาวสวนยาง สถาบันชางสวนยาง และเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุมผ่านระบบการประชุมทางไกล
นายอลงกรณ์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้มีการรายงานถึงสถานการณ์เศรษฐกิจ ตลาดยางพารา ในประเทศคู่ค้าที่สำคัญโดยมุมมองทูตเกษตร จากสหภาพยุโรป กรุงโรม กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ออสเตรเลีย รัสเซีย จีน กรุงโตเกียว กรุงจาการ์ต้า และลอสแองเจลิส (เม็กซิโก-ลาตินอเมริกา) ซึ่งจากรายงานการวิเคราะห์สถานการณ์ข้อมูลต่างๆ ทั่วโลก มีปัจจัยที่ส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อเสถียรภาพและราคายาง ได้แก่ การแพร่ระบาดรอบใหม่ของโควิด-19 ในประเทศคู่ค้าหลัก โดยเฉพาะประเทศจีน ตลอดจนการเกิดปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ส่งผลต่อค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ฯลฯ
การรายงานสถานการณ์ยางพาราเดือนมีนาคม และคาดการณ์ราคายางพาราเดือนเมษายน 2565 โดยฝ่ายเศรษฐกิจยาง การยางแห่งประเทศไทย ได้รายงานคาดการณ์ปริมาณผลผลิตยางพารา ปี 2565 มีปริมาณ 4.907 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1.48% คาดการณ์ปริมาณการส่งออกยางพารา ปี 2565 มีปริมาณ 4.218 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 2.03% ซึ่งในปี 2563 สัดส่วนการส่งออกยางพาราของไทย มีปริมาณการส่งออกไปยังประเทศจีน มากที่สุด ในปี 2564 มีปริมาณการส่งออกไปยังประเทศจีน 54% รองลงมาได้แก่ มาเลเซีย 10 % สหรัฐอเมริกา 6 % ญี่ปุ่น 5 % และเกาหลีใต้ 3 %
ที่ประชุมได้รับทราบ 1) Supply side ด้านการปลูกแทนพื้นที่ยางพาราและเป้าหมายการส่งเสริมและสนับสนุนการปลูกแทน ปี 2565 ของการยางแห่งประเทศไทย มีเป้าหมายดำเนินการ พื้นที่รวม 200,000 ไร่ โดยได้ดำเนินการปลูกแทนไปแล้ว จำนวน 150,641.15 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 75.32 แบ่งออกเป็น 1. การตัดยางเก่าเป้าหมายปีละ1แสนไร่โดยปลูกยางใหม่ทดแทนด้วย ยางพันธุ์ดี สามารถดำเนินการคืบหน้าได้แล้ว83,645.10 ไร่ 2.การตัดยางเก่า1แสนไร่โดยปลูกไม้ยืนต้นเชิงเดี่ยวทดแทนมีความคืบหน้า54,356 ไร่ เกษตรกรรมยั่งยืน 6,536.35 ไร่ และแบบสวนยางยั่งยืน 6,103.70 ไร่ ข้อมูล ณ วันที่ 21 มี.ค.2565 ทั้งนี้ กยท.คาดการณ์ว่า ราคายางพาราช่วงเดือนมีนาคมและเมษายนยังอยู่ในช่วงขาขึ้น
2) ความคืบหน้าโครงการจัดตั้งพื้นที่บริหารจัดการยางพาราทั้งระบบ (Rubber Valley) เพื่อศึกษาความเหมาะสมและความเป็นไปได้ในการพัฒนาเป้าหมายที่มีศักยภาพรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราในพื้นที่จังหวัfนครศรีธรรมราช ปี 2565
นายอลงกรณ์ ได้ให้ข้อสังเกตในการกำหนดรูปแบบการบริหารโครงการว่า ควรมีการกำหนดตั้งแต่ต้นว่า ควรจะเป็นการบริหารจัดการในรูปแบบใด ยกตัวอย่างเช่น การบริหารแบบบริษัทร่วมทุนและควรมีการพัฒนาอุตสาหกรรมอื่นร่วมไปพร้อมกับการพัฒนาเขตอุตสาหกรรมยางพาราด้วย เช่น ปาล์มน้ำมัน ผลไม้ เป็นต้น
3) การดำเนินการเก็บข้อมูลผลผลิตยางพารา (Productivity) และรายได้เฉลี่ยต่อไร่ของเกษตรกรผู้ปลูกยางในประเทศไทย เพื่อสนับสนุนตัวชี้วัดด้านผลผลิตและรายได้ของเกษตรกรชาวสวนยาง ตามแผนวิสาหกิจการยางแห่งประเทศไทย ระยะ 7 ปี (พ.ศ.2564-พ.ศ.2570) ตามยุทธศาสตร์ที่ 1 การพัฒนายางพาราทั้งระบบ โดยในปีงบประมาณ 2565 การยางแห่งประเทศไทย จะดำเนินการเก็บข้อมูลผลผลิตยางพาราและรายได้เฉลี่ยต่อไร่ของเกษตรกรผู้ปลูกยางในประเทศไทย จากเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรชาวสวนยาง ในพื้นที่ 45 จังหวัด ทั่วประเทศ เพื่อยกระดับการเพิ่มปริมาณผลผลิตต่อไร่ของเกษตรกรให้สูงขึ้น
ทั้งนี้ นายอลงกรณ์ได้เน้นย้ำถึงสถานการณ์โควิดและสงครามยุเครน-รัสเซีย รวมทั้งปัญหาราคาน้ำมันและค่าเงินบาทยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ กยท.ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะมีผลทั้งทางบวกและทางลบต่อราคายางและการส่งออกของไทยรวมทั้งขอให้เร่งดำเนินการเชื่อมโยงข้อมูลกับศูนย์ข้อมูลเกษตรแห่งชาติ (NABC : National Agriculture Big Data Center) ซึ่งเป็นของฐานข้อมูลกลางของหน่วยงานในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และการพัฒนาฐานข้อมูล Big Data ในการใช้ประโยชน์และเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนกับหน่วยงานต่างๆ ในยุค Digital Transformation ด้วย