คมนาคมรับลูกซูเปอร์บอร์ด รื้อทีโออาร์สร้างรถไฟรางคู่ 5 เส้นทาง เผย ครม.ขีดเส้นตายให้ ร.ฟ.ท.เร่งประมูลให้แล้วเสร็จใน 3 เดือน พร้อมสอยสัญญาจาก 5 สัญญา เป็น 13 สัญญา
นายพิชิต อัคราทิตย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยเมื่อเร็วๆนี้ ว่าคณะรัฐมนตรี หรือครม.เมื่อวันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา กระทรวงคมนาคมได้รายงานความคืบโครงการรถไฟทางคู่ 5 เส้นทางที่ต้องปรับแก้เงื่อนไขการประมูล (TOR) ตามมติคณะกรรมการกำกับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ (ซูเปอร์บอร์ดจัดซื้อจัดจ้าง) ให้ที่ประชุม ครม. รับทราบ
ทั้งนี้ ครม.จึงได้สั่งการให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ต้องเร่งเปิดประมูลและหาผู้รับจ้างให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน หรือภายในเดือน มิ.ย. นี้ พร้อมสั่งการให้เปิดประมูลระบบอาณัติสัญญาณแบบนานาชาติ (International Competitive Bidding) ด้วย
นายพิชิต กล่าวว่า ร.ฟ.ท.เริ่มแบ่งโครงการรถไฟทางคู่ 5 เส้นทางจาก 5 สัญญาเป็น 13 สัญญาตามคำสั่งซูเปอร์บอร์ดจัดซื้อฯ แล้ว ได้แก่สายเหนือเส้นทางลพบุรี-ปากน้ำโพ ระยะทาง 116 กิโลเมตร วงเงิน 2.3 หมื่นล้านบาทแบ่งเป็นงานโยธา 2 สัญญา และงานติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ 1 สัญญา
สายตะวันออกเฉียงเหนือเส้นทางมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ระยะทาง 132 กิโลเมตร วงเงิน 2.8 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นงานโยธา 2 สัญญา งานก่อสร้างอุโมงค์ 1 สัญญา และงานติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ 1 สัญญา
สายใต้ประกอบด้วย 3 เส้นทาง คือ 1.เส้นทางนครปฐม-หัวหิน ระยะทาง 169 กิโลเมตร วงเงิน 1.9 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นงานโยธา 2 สัญญา 2.เส้นทางหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ ระยะทาง 84 กิโลเมตร วงเงิน 9.8 พันล้านบาท แบ่งเป็นงานโยธา 1 สัญญา 3.เส้นทางประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ระยะทาง 167 กิโลเมตร วงเงิน 1.6 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นงานโยธา 2 สัญญา โดยรถไฟสายใต้ทั้ง 3 เส้นทางจะเปิดประมูลระบบอาณัติสัญญาณร่วมกันเพียง 1 สัญญา
นายพิชิต กล่าวถึงคำสั่งปรับแก้ทีโออาร์ของซูเปอร์บอร์ดว่า เป็นผลมาจากข้อร้องเรียน 4 ประเด็น ประเด็นแรก คือ ทีโออาร์เดิมกำหนดสัดส่วนผลงานของผู้เข้าร่วมประมูลสูงเกินไป จนกีดกันไม่ให้ผู้รับเหมารายเล็กและรายกลางเข้าร่วมประมูล ซูเปอร์บอร์ดจัดซื้อฯ จึงมีมติลดสัดส่วนผลงานของผู้เข้าร่วมประมูลลงจาก 15% เหลือ 10% ของมูลค่าโครงการ
ประเด็นที่ 2 กำหนดมูลค่าสัญญาแต่ละโครงการสูงเกินไป จนทำให้ผู้รับเหมารายเล็กไม่สามารถเข้าร่วมประมูลได้ เช่น บางโครงการมีมูลค่าถึง 20,000 ล้านบาท ซูเปอร์บอร์ดจัดซื้อฯ จึงให้ลดมูลค่าสัญญาเหลือ 5,000-10,000 ล้านบาทต่อสัญญา
ประเด็นที่ 3 กีดกันผู้รับเหมารายย่อยทางอ้อม โดยไม่ให้เจ้าของเทคโนโลยีระบบอาณัติสัญญาณร่วมมือกับผู้รับเหมารายย่อย ซึ่งส่งผลให้รายย่อยไม่สามารถหาเทคโนโลยีระบบอาณัติสัญญาณเข้าร่วมประมูลตามเงื่อนไขในทีโออาร์ได้ ดังนั้นซูเปอร์บอร์ดจัดซื้อฯ จึงสั่งให้แยกสัญญาติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณออกจากสัญญางานโยธาและระบบราง
นายพิชิต กล่าวด้วยว่า การแยกระบบอาณัติสัญญาณออกมาส่งผลให้ระยะเวลาการก่อสร้างของโครงการจะเพิ่มขึ้นประมาณ 9 เดือน เนื่องจากการติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณจะเริ่มหลังงานโยธาและระบบรางแล้วเสร็จ แตกต่างจากทีโออาร์เดิมซึ่งผู้ก่อสร้างงานโยธาและติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณเป็นรายเดียวกัน จึงสามารถเข้าพื้นที่ดำเนินงานได้พร้อมกัน
ประเด็นสุดท้าย กำหนดให้รวมเครื่องจักรเฉพาะที่ใช้ในการก่อสร้างไว้ในสัญญา ซึ่งเป็นการไม่โปร่งใส เพราะเท่ากับเป็นการใช้การประมูลเพื่อจัดซื้ออุปกรณ์ ดังนั้นจึงให้นำเงื่อนไขนี้ออกจากทีโออาร์
โดยก่อนหน้านี้นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานคณะกรรมการกำกับจัดซื้อจัดจ้าง (ซูเปอร์บอร์ดจัดซื้อจัดจ้าง) เปิดเผยว่า โดยจากนี้จะยกเลิกทีโออาร์ของเดิม สำหรับสัญญาก่อสร้างรถไฟทางคู่ วงเงินจะอยู่ในช่วง 5,000 ล้านบาท ถึง 1 หมื่นล้านบาท รวมทั้งสิ้น 13 สัญญา แบ่งเป็นงานก่อสร้างรางและงานโยธามี 9 สัญญา งานก่อสร้างอุโมงค์อีก 1 สัญญา และให้แยกงานการติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณออกมาจากงานก่อสร้างทาง เป็นอีก 3 สัญญา โดยผู้เข้าประมูลงานสามารถแข่งขันได้ทุกสัญญา
ทั้งนี้ เมื่อผ่านมติของ ครม. แล้ว คณะกรรมการ ร.ฟ.ท.สามารถดำเนินการร่างทีโออาร์ได้ทันที โดยหลังจากนี้สามารถอยู่ในอำนาจของคณะกรรมการ ร.ฟ.ท. ไม่จำเป็นต้องมารายงานซูเปอร์บอร์ดให้รับทราบ ซึ่งคาดว่าหลังผ่านมติ ครม. แล้ว จะใช้เวลาร่างทีโออาร์ จนเข้าสู่กระบวนการประกวดราคา ประมาณ 4-5 เดือน
อย่างไรก็ตาม มั่นใจว่าภายใต้ทีโออาร์ใหม่จะช่วยให้รัฐบาลประหยัดงบประมาณในการก่อสร้าง เพราะได้เปิดกว้างให้เอกชนขนาดกลาง สามารถเข้ามาแข่งขันได้มากขึ้น