นายแพทย์สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ปัจจุบันมักพบการแถลงผลการศึกษาวิจัยผลิตภัณฑ์สมุนไพร ในลักษณะเพื่อประโยชน์แอบแฝงทางการค้า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขอชี้แจงว่า การกระทำดังกล่าวเข้าข่ายการโฆษณา ซึ่งต้องผ่านการอนุญาตจาก อย. เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคจากข้อมูลข่าวสารที่บิดเบือน ไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภค หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ทั้งนี้ ก่อนการนำผลิตภัณฑ์สมุนไพรมาศึกษาวิจัยในมนุษย์ จะต้องแจ้งการผลิต นำเข้าเพื่อการวิจัยกับ อย. และต้องได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ด้วย จึงจะเริ่มการศึกษาวิจัยในมนุษย์ได้ และเมื่อการวิจัยเสร็จสิ้นผู้ประกอบการจะสามารถนำผลการศึกษาวิจัย มาขอขึ้นทะเบียนตำรับ หรือ ขยายสรรพคุณกับทาง อย. โดยหลังจากได้รับการอนุมัติแล้ว จึงจะสามารถขออนุญาตโฆษณาตามกฎหมายได้ต่อไป
รองเลขาธิการ อย. กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับผู้บริโภค อย. ขอเตือนอย่าหลงเชื่อโฆษณาที่อ้างผลการศึกษาวิจัยผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ไม่ได้รับอนุญาตจาก อย. ดังนั้น ก่อนซื้อผลิตภัณฑ์สมุนไพร ควรตรวจสอบการได้รับอนุญาตโฆษณาผลิตภัณฑ์จากเว็บไซต์ อย. www.fda.moph.go.th หัวข้อ สืบค้นข้อมูลใบอนุญาตโฆษณา และตรวจสอบผลิตภัณฑ์ที่ได้รับอนุญาต หัวข้อ ตรวจสอบผลิตภัณฑ์