ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
คอลัมนิสต์ประจำอปท.นิวส์ ย้อนกลับ
อำนาจหน้าที่ของผู้ว่าฯ กทม.
02 มิ.ย. 2565

เขียนให้คิด : โดย ซีศูนย์

อำนาจหน้าที่ของผู้ว่าฯ กทม.

สวัสดีครับท่านผู้อ่าน มาถึงตอนนี้คงทราบกันแล้วนะครับว่า คุณชัชชาติ สิทธิพันธ์ ได้รับเลือกตั้งให้เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนที่ 17 ก็ขอแสดงความยินดีกับความสำเร็จคะแนนมากที่สุดถึงล้านกว่าคะแนนอย่างที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน ทิ้งคู่แข่งมาตั้งแต่ช่วงเย็นของการเริ่มนับคะแนนด้วยซ้ำ เรียกได้ว่า landslide สมกับความตั้งใจของบางพรรคการเมือง  ต้องยอมรับว่า เหตุผลที่ชัดเจนของคน กทม.เทคะแนนมากเช่นนี้ ก็คงเพราะไม่อยากเห็นความแตกแยกทางการเมืองอีก

การเปิดตัวเป็นคนแรกมาสองปีเศษ และไม่หาเสียงโจมตีใคร รวมถึงเป็นช่วงขาลงของรัฐบาลที่ส่งผลกระทบมาถึงการเลือกตั้งท้องถิ่นรูปแบบพิเศษนี้ ท่านผู้อ่านที่ติดตามข่าวการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ครั้งนี้ เหมือนกับเลือกนายกรัฐมนตรีเลยทีเดียว ซึ่งความจริงครั้งนี้ ยังมีการเลือกสมาชิกสภา กทม.ทั้งห้าสิบเขต ห้าสิบคนด้วย แต่ข่าวได้รับความสนใจน้อยกว่าตำแหน่งผู้ว่าราชการ กทม. แต่กว่าที่ผู้ว่าฯ และ สก.จะเข้าไปทำหน้าที่ได้ ก็คงใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง อาจมีคนโดนสอยหรือไม่ก็ยังตอบไม่ได้ อย่างไรก็ตามครับ จะขอบอกกล่าวเล่าเรื่องการเมือง กทม.สักนิด เป็นการโหมโรงก่อนจะตามดูผลงานผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ต่อไปนะครับ

กทม.เป็นท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ มีพื้นที่ 1569 ตารางกิโลเมตรเศษ ซึ่งเล็กกว่าหลายจังหวัด แบ่งการปกครองเป็น 50 เขต การแบ่งภาระหน้าที่ตามกฎหมาย คือ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 และสมัยหลัง คสช. ได้มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2562 กล่าวโดยสรุป มีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนหนึ่งซึ่งราษฎรเลือกตั้ง นอกจากกำหนดคุณสมบัติลักษณะต้องห้ามเช่นตำแหน่งอื่นๆ แล้ว วาระอยู่ในตำแหน่งคราวละ 4 ปี นับแต่วันเลือกตั้ง แต่จะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกิน 2 วาระไม่ได้ ในกรณีที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครดำรงตำแหน่งไม่ครบระยะเวลา 4 ปี ก็ให้ถือว่าเป็นหนึ่งวาระ และเมื่อได้ดำรงตำแหน่ง 2 วาระติดต่อกันแล้ว จะดำรงตำแหน่งได้อีกเมื่อพ้นระยะเวลา 4 ปี นับแต่วันพ้นจากตำแหน่ง ส่วนการนับวันดำรงตำแหน่งให้นับแต่วันเลือกตั้งเป็นต้นไป

สำหรับอำนาจหน้าที่นั้น เช่นเดียวกับท้องถิ่นอื่น ไม่ว่า การกำหนดนโยบายและบริหารราชการของกรุงเทพมหานครให้เป็นไปตามกฎหมาย สั่ง อนุญาต อนุมัติเกี่ยวกับราชการของกรุงเทพมหานคร แต่งตั้งและถอดถอนรองผู้ว่าฯ เลขานุการผู้ว่าฯ และที่มีมากกว่าที่อื่นคือ แต่งตั้งและถอดถอนตำแหน่งประธานที่ปรึกษาอีกตำแหน่ง ซึ่งที่อื่นคงมีที่ปรึกษาเท่านั้น บริหารราชการตามที่คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมอบหมาย วางระเบียบเพื่อให้งานของกทม.เป็นไปโดยเรียบร้อย รักษาการให้เป็นไปตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เป็นต้น  

สำหรับตำแหน่งรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กฎหมายกำหนดให้มีไม่เกิน 4 คน ตามลำดับที่ผู้ว่าจัดฯ ไว้เพื่อช่วยบริหารราชการของกรุงเทพมหานครตามที่ผู้ว่าฯ มีคำสั่งมอบหมาย รวมถึงให้มีเลขานุการผู้ว่าฯ 1 คน และผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าฯ ไม่เกินจำนวนรองผู้ว่าราชการ กทม. ถ้ามีการแต่งตั้งประธานที่ปรึกษา ที่ปรึกษา และคณะที่ปรึกษาของผู้ว่าฯ จะมีรวมกันทั้งหมดเกิน 9 คนไม่ได้  คนที่แต่งตั้งข้าราชการการเมืองตำแหน่งต่างๆ ที่ว่านี้คือ ผู้ว่าราชการ กทม. เช่นเดียวกับถ้าจะแต่งตั้งเลขานุการประธานสภาและเลขานุการรองประธานสภา กทม. กทม. ก็ให้ประธานสภากรุงเทพมหานคร แล้วแต่กรณี มีอำนาจแต่งตั้งข้าราชการการเมืองที่ว่าตามที่เห็นสมควร และจะต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติที่จะเป็นข้าราชการการเมืองตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการการเมือง และเมื่อผู้ว่าฯ ก็ดี หรือประธานสภา กทม. ผู้แต่งตั้งข้าราชการการเมือง แล้วแต่กรณี พ้นจากตำแหน่ง ให้ผู้ได้รับแต่งตั้งนนั้นพ้นจากตำแหน่งด้วย หรือตำแหน่งเหล่านั้นอาจพ้นจากตำแหน่งตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการการเมือง หรือเมื่อกระทำการต้องห้ามตามที่กฎหมายบัญญัติไว้เหมือนตำแหน่งผู้ว่าฯ หรืออาจถูกสั่งให้ออกตามคำสั่งของผู้ว่าฯ หรือประธานสภา กทม. ไม่ว่าจะเป็นไปโดยมีความผิดหรือไม่ก็ตาม 

สำหรับการพ้นจากตำแหน่งผู้ว่าราชการ กทม. อาจพ้นจากตำแหน่งด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง เช่น  ออกตามวาระ ตาย  ลาออก โดยยื่นหนังสือลาออกต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และให้มีผลนับแต่วันถัดจากวันที่ยื่นหนังสือลาออก ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามที่กฎหมายกำหนด กระทำการอันต้องห้ามตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย (คือเรื่องการขัดกันแห่งผลประโยชน์) ถูกจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ มีการยุบสภา กทม. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยโดยมติคณะรัฐมนตรีสั่งให้ออกจำกตำแหน่งเมื่อมีกรณีแสดงให้เห็นว่า ได้กระทำการอันเสื่อมเสียแก่เกียรติศักดิ์ของตำแหน่งหรือปฏิบัติการหรือละเลยไม่ปฏิบัติการอันควรปฏิบัติในลักษณะที่เห็นได้ว่า จะเป็นเหตุให้เสียหายอย่างร้ายแรงแก่กรุงเทพมหานครหรือแก่ราชการโดยส่วนรวมหรือแก่การรักษาความสงบเรียบร้อย หรือสวัสดิภาพของประชาชน ราษฎรผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตกรุงเทพมหานครได้ลงคะแนนเสียงให้พ้นจากตำแหน่งตามกฎหมายว่าด้วยการลงคะแนนเสียงเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น

ท่านผู้อ่านดูแล้วคนเป็นผู้ว่าฯ ถูกควบคุมกำกับดูแลทั้งอำนาจรัฐ คือรัฐมนตรีวาการกระทรวงมหาดไทย รวมทั้งประชาชนก็สามารถถอดถอนได้เช่นกัน แต่ที่ผ่านมา อำนาจประชาชนไม่เคยใช้กับตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.เลย เว้นที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ ถูก คสช.ถอดถอนเมื่อปี 2559

ยังมีอีกเรื่องที่จะพูดต่อในตอนหน้า ซึ่งก็คิดว่า ตำแหน่งสมาชิกสภาก็อาจยังประกาศไม่ครบก็เป็นได้ เพราะบางรายอาจถูกร้องเรียนหรือไม่อย่างไรก็รอตามกันต่อไปครับ ซึ่งจะพูดถึงเรื่องใหม่ที่บัญญัติเพิ่มเติมใน พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2562 คือเรื่องการมีส่วนได้เสียหรือการขัดกันแห่งผลประโยชน์ที่นักการเมืองทุกท่านควรรู้ครับ พบกันใหม่ สวัสดีครับ

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...