ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
คอลัมนิสต์ประจำอปท.นิวส์ ย้อนกลับ
ผู้ว่าฯ ชัชชาติกับเป้าหมายความยั่งยืน
18 มิ.ย. 2565

#CSRconten tโดย มนวิภา จูภิบาล กรรมการบริษัท วีอาร์ทวินส์ จำกัด

ผู้ว่าฯ ชัชชาติกับเป้าหมายความยั่งยืน

ผู้ว่าฯ ชัชชาติลงพื้นที่เริ่มงานทันทีที่ผลการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้รับความไว้วางใจจากชาว กทม.อย่างท่วมท้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 1,386,215 คะแนน ก่อนที่ กกต.จะประกาศรับรองผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการในวันที่ 31 พฤษภาคม 2565 ก่อนถึงวันเลือกตั้ง website SDG Move ได้นำเสนอนโยบายของบรรดาผู้สมัครที่ให้ความสำคัญกับ Sustainable Development Goals : SDGs 17 เป้าหมาย ไว้อย่างน่าสนใจ

“กรุงเทพฯ เมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน" คือโจทย์ที่ใช้ในการออกแบบนโยบายของผู้สมัครหมายเลข 8 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ที่คัดสรรกลั่นกรองจากปัญหาจริงของชาวเมืองกรุง ผ่านอาสาสมัครและการเข้าพื้นที่พบกับคนที่อยู่อาศัยทั่วกรุงเทพฯ บนรากฐานของข้อมูลสถิติที่เป็นวิทยาศาสตร์ ทีมเพื่อนชัชชาติได้ศึกษาดัชนีชี้วัดเมืองน่าอยู่ (The Global Liveability Index) ของ Economist Intelligence Unit (EIU) เพื่อใช้เป็นพื้นฐานในการจัดกลุ่มนโยบายและดัดแปลงให้ครอบคลุมบริบทของเมืองกรุงเทพฯ นำมาสู่ "กรุงเทพฯ 9 ดี" หรือนโยบาย 9 มิติ : ปลอดภัยดี สุขภาพดี สร้างสรรค์ดี สิ่งแวดล้อมดี บริหารจัดการดี เรียนดี โครงสร้างดี เศรษฐกิจดี และเดินทางดี

9 มิติ 214 นโยบาย เพื่อพัฒนากรุงเทพมหานคร ได้ตอบสนองเป้าหมายความยั่งยืนหลักที่โดดเด่นใน 3 ข้อได้แก่ SDG3 Good Health and well-being รับรองการมีสุขภาพ และความเป็นอยู่ที่ดีของทุกคนทุกช่วงอายุ SDG4  Quality Education รับรองการศึกษาที่เท่าเทียมและทั่วถึง ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตแก่ทุกคน และแน่นอนจุดขายว่าด้วยเรื่องเมือง SDG11 Sustainable Cities and Communities ทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มีความปลอดภัยทั่วถึง พร้อมรับความเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ในเป้าหมาย SDG11 มีเป้าหมายย่อยที่นโยบายผู้ว่าฯ ชัชชาติตอบโจทย์ถึง 12 ข้อ จาก 13 ข้อ ที่เหลือคือเรื่อง การสนับสนุนประเทศพัฒนาน้อยที่สุด ทั้งความช่วยเหลือทางการเงินและวิชาการในการสร้างอาคารที่ยั่งยืนและทนทานโดยใช้วัสดุท้องถิ่น

รายละเอียดของนโยบาย 214 ข้อ ยังให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชน ภาครัฐและภาคเอกชน เช่น ให้ประชาชนมีส่วนร่วมกำหนดงบประมาณ กทม. (participatory budgeting) ซึ่งตอบสนอง SDG17 Partnerships for the Goals  สร้างพลังแห่งการเป็นหุ้นส่วน ความร่วมมือระดับสากลต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน มีนโยบายให้หน่วยงาน กทม.เข้าใจ สนับสนุนความเท่าเทียม และยอมรับความหลากหลายทางเพศ เปิดโอกาสให้ข้าราชการแต่งกายตามเพศวิถี ซึ่งสนับสนุน  SDG 5 Gender Equality บรรลุความเท่าเทียมทางเพศ พัฒนาบทบาทสตรีและเด็กผู้หญิง นโยบายปูพรมทำฐานข้อมูลชุมชนเพื่อจัดสวัสดิการขั้นพื้นฐานดูแลประชาชน และบัตรคนพิการจุดเดียวจบทุกโรงพยาบาลสังกัด กทม.สนับสนุน SDG 10 Reduced Inequalities ลดความเหลื่อมล้ำทั้งภายในและระหว่างประเทศ มีนโยบายผู้ว่าฯ เที่ยงคืนสนับสนุนการใช้ชีวิตและเศรษฐกิจกลางคืน จัดตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ กทม. (กรอ.กทม.) ให้มีศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศในกรุงเทพฯ ซึ่งสนับสนุน  SDG1 No Poverty ขจัดความยากจนทุกรูปแบบทุกสถานที่  

อีกนโยบายที่เป็นความหวังว่า จะช่วยแก้ปัญหา 108 ประการให้กับชาว กทม.อย่างทันท่วงที คือนโยบาย รายงานปัญหาโดยประชาชน แก้ปัญหาโดย กทม.ผ่านแพลตฟอร์มทราฟฟี ฟองดูว์ นอกจากนั้น ยังมีนโยบายพัฒนาแบบจำลองเสมือนกรุงเทพฯ (Digital Twin) เพื่อใช้วางแผนและแก้ปัญหาเมือง และนโยบายพัฒนาฐานข้อมูลดิจิทัลพื้นที่จุดเสี่ยงความปลอดภัย (BKK Risk Map) ที่สนับสนุน SDG9 Industry Innovation and Infrastructure พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง ส่งเสริมการปรับตัวให้เป็นอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืนทั่งถึง และสนับสนุนนวัตกรรม  

ภาคธุรกิจที่อยากทำ CSR สนับสนุนการพัฒนากรุงเทพมหานคร ก็ลองพิจารณานโยบายเหล่านี้ โครงการพี่สอนน้องนอกเวลาเรียน จัดหาแท็บเล็ตให้นักเรียนใช้สนับสนุนการ study from home อาสาสมัครเทคโนโลยี (อสท.) สำหรับคนกรุงเทพฯ พัฒนา 1034 ลานกีฬาร่วมกับประชาชนและเอกชน หาพื้นที่ของเอกชนที่สามารถจัดเป็นพื้นที่ขายของสำหรับหาบเร่หรือศูนย์อาหาร (hawker center)

การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งนี้ สร้างกระแสตื่นตัวเรื่องความต้องการเลือกตั้งผู้ว่าราชการของจังหวัดอื่นด้วย การเลือกตั้งผู้แทนของประชาชนเข้ามาทำหน้าที่เพื่อประชาชนเป็นแนวทางที่ตอบสนอง SDG16 Peace and Justice Strong Institutions ส่งเสริมสังคมสงบสุข ยุติธรรมไม่แบ่งแยก เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งนี้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นหน่วยงานของรัฐที่มีความใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด จึงเป็นหุ้นส่วนสำคัญของรัฐบาลในการสร้างความเสมอภาคทางสังคม หากมีการนำ SDGs ไปปฏิบัติในระดับท้องถิ่นและชุมชน ที่เรียกว่า “Localizing SDGs” ในบริบทที่หลากหลายแล้ว  จะได้ฟังเสียงสะท้อนปัญหาและความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง อันจะทำให้การขับเคลื่อนเพื่อบรรลุเป้าหมาย SDGs17 ตั้งแต่ในระดับพื้นที่จนถึงระดับประเทศเป็นจริงเร็วขึ้น

Where flowers bloom so does hope. (Lady Bird Johnson) สิ่งที่ผมอยากเห็น คือ กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่ สำหรับทุกคน

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 31 มีนาคม 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...