นายดุสิต ศรีโคตร ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 7 ขอนแก่น กล่าวว่า รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณค่าบริการสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง (LTC) ให้กับ สปสช.เพื่อจัดสรรให้กับหน่วยบริการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2558 ต่อเนื่องมาปีงบประมาณ 2560 เพื่อเป็นงบประมาณให้โรงพยาบาลในพื้นที่จัดทีมหมอครอบครัวร่วมกับ อปท.ดำเนินการคัดกรองผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงตามแบบประเมินความสามารถในการดำเนินชีวิตประจำวันตามดัชนีบาร์เธลเอดีแอล (Barthel ADL index) ซึ่งแบ่งผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงออกเป็น 4 กลุ่ม โดยดัชนีบาร์เธลเอดีแอลนี้ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับภาคีเครือข่ายและผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นผู้พัฒนาขึ้น ทั้งนี้ การดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงในชุมชน ให้มีทางรอดในยุคสังคมผู้สูงอายุของไทยนั้น จะมุ่งเน้นให้ ทางอปท ร่วมมือกับโรงพยาบาลในพื้นที่ จัดระบบดูแลผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง พร้อมจัดผู้ดูแลเยี่ยมเยียนถึงบ้าน
โดย อปท.ที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณนั้น สปสช.จะจ่ายเงินแบบเหมาจ่ายให้กองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ที่เข้าร่วมดำเนินการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงในชุมชน ในอัตรา 5,000 บาทต่อคนต่อปี เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการบริการสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงต่อไป ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 7 ขอนแก่น ยังเปิดเผยว่า ค่าบริการสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง จัดขึ้นเพื่อให้ผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง (กลุ่มติดบ้านติดเตียง) ได้รับบริการด้านสาธารณสุขตามชุดสิทธิประโยชน์ โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (เทศบาล/อบต.) จะเป็นเจ้าภาพหลัก ในการบริหารจัดการระบบการดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง แบบบูรณาการในพื้นที่ ภายใต้การสนับสนุนของเครือข่ายหน่วยบริการในพื้นที่ โดยมีเป้าหมาย คือ ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปที่มีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สำหรับในพื้นที่ สปสช.เขต 7 ขอนแก่นนั้น มี อปท.ที่ต้องการเข้าร่วมจัดตั้งกองทุนนี้ รวมทั้งหมดประมาณ 365 แห่ง จาก 718 แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 51 ของ อปท.ทั้งหมด และมีจำนวนผู้สูงอายุที่ต้องได้รับการดูแลจากการสำรวจเมื่อปี 2559 และต้นปี 2560 ที่ต้องได้รับการจัดสรรงบประมาณเพื่อดูแล จำนวนทั้งสิ้น 12,705 คน