นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นำนาย Khairy Jamaluddin ABU BAKAR รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประเทศมาเลเซีย เยี่ยมชมโรงงานผลิตยาและสารสกัดกัญชาขององค์การเภสัชกรรม โดยมี นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขประเทศไทยและมาเลเซียเข้าร่วม
นายอนุทินกล่าวว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขมาเลเซียประกาศนโยบายกัญชาทางการแพทย์ จึงให้ความสนใจต่อนโยบายกัญชาทางการแพทย์ของประเทศไทย ในช่วงการประชุมสมัชชาองค์การอนามัยโลกเมื่อเดือนพฤษภาคม 2565 จึงได้ขอนัดหารือกับประเทศไทย จึงเป็นที่มาของการศึกษาดูงานในครั้งนี้ โดยประเทศไทยได้แลกเปลี่ยนและแบ่งปันประสบการณ์เกี่ยวกับกัญชาทางการแพทย์ ซึ่งถือเป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมในการใช้รักษาและสร้างคุณภาพชีวิตของไทยมากว่า 300 ปีแล้ว เนื่องจากกัญชาเป็นส่วนหนึ่งของอาหารและยา ก่อนที่จะถูกกำหนดให้เป็นยาเสพติด แต่ขณะนี้เรามีการปลดล็อกกัญชาออกจากยาเสพติดเหลือเพียงสารสกัดที่มี THC เกิน 0.2% เท่านั้น การส่งเสริมนโยบายกัญชาทางการแพทย์ให้ประสบความสำเร็จ มี 3 ปัจจัยสำคัญ คือ 1.การสนับสนุนและความมุ่งมั่นของรัฐบาล 2.ความรู้ด้านวิชาการและทางการแพทย์ในการสนับสนุน และ 3.การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ
นายอนุทินกล่าวว่า สำหรับการศึกษาดูงานที่องค์การเภสัชกรรมในครั้งนี้ มีทั้งเรื่องขั้นตอนการเพาะปลูก โดยกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก การขึ้นทะเบียนโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) วิธีการสกัดโดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และการใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาเพื่อการแพทย์โดยกรมการแพทย์ ซึ่งได้รับการบรรจุเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร ทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงผ่านระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้หากมาเลเซียมีการขับเคลื่อนในเรื่องนี้เช่นกันก็หวังว่าจะเกิดความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาเพิ่มเติมเพื่อพัฒนาการใช้กัญชาทางการแพทย์
สำหรับการเดินหน้ากัญชาทางการแพทย์ขององค์การเภสัชกรรมนั้น ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์สารสกัดกัญชาทางการแพทย์ชนิดหยดใต้ลิ้น 4 สูตร นำมาใช้กับผู้ป่วยกลุ่มโรคที่กรมการแพทย์กำหนด ได้แก่ สูตร THC เด่น, สูตรที่มี THC และ CBD สัดส่วน 1:1, สูตรที่มี THC เข้มข้น 81 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร หรือ THC FORTE สำหรับใช้รักษาเสริมภาวะคลื่นไส้อาเจียนจากเคมีบำบัด ผู้ป่วยโรคมะเร็งระยะท้าย และสูตร CBD เด่น สำหรับผู้ป่วยโรคลมชักในเด็ก ซึ่งมีการนำไปใช้จริงกับผู้ป่วยจากคลินิกกัญชานำร่อง 12 เขตสุขภาพ ก่อนขยายสู่คลินิกกัญชาทางการแพทย์ในสถานพยาบาลภาครัฐและเอกชนทั่วประเทศ นอกจากนี้ กรมการแพทย์และสถานพยาบาลต่างๆ ยังได้ทำการศึกษาและขยายขอบเขตการใช้ในกลุ่มโรคต่างๆ ให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น เช่น โรคพาร์กินสัน และโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง เป็นต้น ล่าสุดสารสกัดกัญชาทางการแพทย์ทั้ง 4 สูตร บรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร พ.ศ.2564
ทั้งนี้ องค์การเภสัชกรรมได้ขยายกำลังการผลิตวัตถุดิบช่อดอกกัญชาจากการปลูกในรูปแบบ Indoor พื้นที่ 100 ตารางเมตร ไปยังพื้นที่ปลูกขององค์การเภสัชกรรม อ.หนองใหญ่ จ.ชลบุรี ในการปลูกรูปแบบโรงเรือน Green House และทำการศึกษาสภาวะการปลูกที่เหมาะสมในแต่ละโรงเรือนควบคู่ไปด้วย เพื่อให้ได้ผลผลิตกัญชาทางการแพทย์ที่มีปริมาณสารสำคัญตามกำหนด และเพื่อให้ได้วัตถุดิบที่มีมาตรฐานเมดิคัลเกรดแท้จริง รวมถึงพัฒนาพื้นที่ปลูกกัญชาขนาด 1,000 ตารางเมตร ในรูปแบบ Indoor ณ อาคารฝ่ายสมุนไพรและเภสัชเคมีภัณฑ์ องค์การเภสัชกรรม อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี อีกหนึ่งแห่ง อยู่ระหว่างการติดตั้งระบบปลูก คาดว่าเริ่มปลูกได้ประมาณต้นปี 2566 ปลูกกัญชาได้ประมาณ 5,000 ต้นต่อปี เป็นผลผลิตช่อดอกกัญชาจำนวน 1,000 กิโลกรัมต่อปี นอกจากนี้ ยังเตรียมรองรับวัตถุดิบจากกัญชง สำหรับนำมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ยา เวชสำอางและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร โดยร่วมกับเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนและผู้ประกอบการ 12 แห่งทั่วประเทศ ในการปลูกกัญชงคุณภาพตามมาตรฐานที่องค์การเภสัชกรรมกำหนด ร่วมกับโครงการหลวงและสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) นำเมล็ดกัญชงมาสกัดเป็นน้ำมัน เพื่อเป็นส่วนประกอบในการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนและผู้ประกอบการได้อีกทางหนึ่ง ปัจจุบันพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดแล้ว 2 รายการ ได้แก่ ชาใบกัญชงพร้อมดื่ม และผลิตภัณฑ์ SIBANNAC Hemp Seed Oil Bedtime Lip Care ผลิตจากน้ำมันเมล็ดกัญชง ในรูปแบบลิปบาล์ม ที่มีส่วนช่วยลบเลือนริ้วรอย และให้ความชุ่มชื้นแก่ริมฝีปาก