การประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายขิดนารีรัตนราชกัญญา” และงานหัตถกรรม ระดับภาค เริ่มที่ภาคใต้ จังหวัดสงขลา เพื่อพัฒนาฝีมือการทอผ้าและงานหัตถกรรมไทย
ที่โรงแรมเดอะเบด เวเคชั่น ราชมังคลา จังหวัดสงขลา นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายขิดนารีรัตนราชกัญญา” และงานหัตถกรรม ระดับภาค เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2565 โดยมีนายสมคิด จันทมฤก อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวรายงานฯ และนายเจษฎา จิตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา กล่าวต้อนรับ พร้อมด้วยนางดาเรศ จิตรัตน์ ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดสงขลา, นายกเหล่ากาชาดจังหวัดสงขลา นางสุรียพรรณ์ ณ สงขลา รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา นายศักระ กปิลกาญจน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล นายวิฑูรย์ นวลนุกูล รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายกิจจา ทองแดง และนายจำเริญ แหวนเพ็ชร ผู้ตรวจราชการกรมการพัฒนาชุมชน นายจรัญ อินทสระ พัฒนาการจังหวัดสงขลา ผู้ประกอบการที่ส่งผลิตภัณฑ์จากผ้าไทยและงานหัตถกรรม เข้าร่วมในงาน และได้รับเกียรติจากคณะกรรมการตัดสินการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายขิดนารีรัตนราชกัญญา” ระดับภาค อาทิ นายธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย นางสาวรติรส ภู่วิดาวรรธน์ รองประธานกรรมการบริษัท ไอริส 2005 จำกัด นางสาวศรินดา จามรมาน นักวิชาการอิสระ นายกุลวิทย์ เลาสุขศรี บรรณาธิการบริหารนิตยสารโว้กประเทศไทย นายพลพัฒน์ อัศวะประภา นักออกแบบเจ้าของแบรนด์ ASAVA นายภูภวิศ กฤตพลนารา นักออกแบบเจ้าของแบรนด์ ISSUE นายวิชระวิชญ์ อัครสันติสุข นักออกแบบเจ้าของแบรด์ WISHARAWISH นายนุวัฒน์ พรมจันทึก ช่างต้นแบบสิ่งทอ กรมหม่อนไหม นายวรงค์ แสงเมือง ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นและวิสาหกิจชุมชน นางสาวริตยา รอดนิ่ม ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริม ร่วมในพิธีเปิดฯ
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า นับเป็นระยะเวลากว่า 60 ปี ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ ต่อการอนุรักษ์และสืบสาน ภูมิปัญญาของคนไทย ตั้งแต่เมื่อครั้งที่ได้ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในคราวเสด็จพระราชดำเนินไป เยี่ยมราษฎรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือพระองค์ทรงได้ทอดพระเนตรเห็นราษฎรนุ่งซิ่นไหมมัดหมี่ จึงได้มีพระราชดำริว่า ควรจะมีการนำภูมิปัญญา มาพัฒนาเป็นอาชีพ สร้างรายได้ แก่พี่น้องประชาชน ซึ่งพระองค์ได้ทรงก่อตั้งมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถขึ้น เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2519 เพื่อทำการฝึกอาชีพเสริมให้กับราษฎร และยังทรงมีพระประสงค์ เพื่อการอนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาของคนไทย อีกทั้ง นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณต่อวงการผ้าไทยที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงสืบสานพระราชปณิธานอย่างยิ่งยวดทรงอุทิศเวลา และทรงใช้สติปัญญาต่อยอดงานของสมเด็จพระพันปีหลวง เพื่อให้พี่น้องประชาชนคนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน
ขออัญเชิญพระนิพนธ์จากหนังสือดอนกอย ความว่า “โครงการดอนกอยโมเดลสู่ตลาดสากล เป็นโครงการต้นแบบ ที่ข้าพเจ้าฯ ตั้งใจจะมอบแนวทางการพัฒนาชุมชนด้วยการนำความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ มาต่อยอดภูมิปัญญาพื้นถิ่น ด้วยการบูรณาการองค์ความรู้ร่วมกันระหว่างสมาชิกกลุ่มทอผ้าบ้านดอนกอยและผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขาเป็นการจุดประกายความคิดและแรงบันดาลใจให้คนไทยได้รับรู้ว่า ทุกชุมชนสามารถสร้างรายได้จากการประกอบอาชีพได้อย่างยั่งยืนและมั่นคง เพียงเปิดใจให้กว้างเพื่อเรียนรู้และค้นพบประโยชน์จากสิ่งรอบตัวด้วยความเข้าใจจึงเป็นที่มาของ 'ดอนกอยโมเดล : ครามและสีย้อมธรรมชาติ สู่คอลเลคชั่นผ้าไทยร่วมสมัย' ที่ข้าพเจ้าคัดสรรองค์ความรู้ที่หลากหลาย เพื่อให้ผู้อ่านนำไปประยุกต์ใช้ จุดประกายความคิดและแรงบันดาลใจ” ดังพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง ทางด้านการพัฒนาชุมชนที่ข้าพเจ้าตั้งมั่นที่จะสืบสานและต่อยอดพระองค์ท่านได้เคยตรัสกับข้าพเจ้าว่าคนไทยนี้มีสายเลือดของศิลปินอยู่ในตัวเอง หากเพียงได้รับคำชี้แนะ มอบโอกาสและการสนับสนุน ก็จะสามารถสร้างผลงานชิ้นเอก สร้างรายได้ให้กับตนเองและครอบครัว เป็นที่มาของชุมชนที่อยู่ดีกินดี ชีวิตมีสุขจากการพึ่งพาตนเอง และดำเนินชีวิตได้อย่างภาคภูมิ แสดงให้เห็นว่า ต้นแบบการพัฒนาชุมชนด้วยการนำความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ไปต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่นทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ สามารถสร้างอาชีพ สร้างรายได้และอย่างมั่นคงและยั่งยืน เป็นที่ประจักษ์ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ กล่าว
เราทุกคนเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้พระราชปณิธานประสบผลสำเร็จ โดยการเป็นโซ่ข้อกลาง ต้องอุทิศกาย อุทิศใจ เปิดใจรับสิ่งใหม่ ๆ ช่วยกันระดมสรรพกำลัง ทั้งภายในและนอกจังหวัด รวมถึงภูมิภาคด้วย เพื่อนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ได้มีพระดำริพระราชทานแก่วงการผ้าไทยว่า “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” คือ ความสุขที่ได้เลือกใช้ศิลปะ หัตถกรรมไทย เพื่อให้รายได้ กลับเข้าสู่ชุมชน เป็นวงจรเศรษฐกิจเชิงมหภาค เป็นโครงการต้นแบบที่จะต้องเรียนรู้และไปขยายผลพระองค์ไม่สามารถพระราชทานทุกตำบลหมู่บ้านได้เนื่องจากมีภารกิจมากมาย ดังนั้น ในฐานะข้าราชการที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พวกเราทุกคนต้องช่วยกันรณรงค์ส่งเสริมให้มีการสวมใส่ผ้าไทย เป็นการเเสดงออกว่าเราเคารพและภาคภูมิใจในภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ นอกจากนี้ พระองค์ทรงรณรงค์ให้ใช้สีธรรมชาติ ซึ่งเป็นการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ คือ การพึ่งพาตนเอง โดยการไม่ใช้สีจากสารเคมี ให้ใช้สีจากธรรมชาติแทน ปลูกหม่อน เลี้ยงไหม ปลูกฝ้าย เพื่อลดต้นทุน และ สร้างความมั่นคงด้านวัตถุดิบ จากแนวพระราชวินิจฉัยให้ลด ละ เลิก และทำลาย สีเคมี เพราะสารเคมี ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งดิน แหล่งน้ำ และสิ่งมีชีวิต รวมถึงสุขภาพของผู้ผลิตและผู้บริโภค พระองค์มีพระประสงค์ ให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่อว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา พระราชทานผ้าลาย “ผ้าลายขิดนารีรัตนราชกัญญา” เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2565 ณ วัดธาตุประสิทธิ์ และหอประชุมโรงเรียนนาหว้าพิทยาคม ต.นาหว้า อ. นาหว้า จ.นครพนม เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับช่างทอผ้าทุกกลุ่ม ทุกเทคนิค นำไปใช้ทอผ้า ผลิตผ้าตามอัตลักษณ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นทั่วประเทศ ซึ่งกระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชน ได้สนองพระดำริฯ ด้วยการจัดการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายขิดนารีรัตนราชกัญญา” ประจำปี 2565 กิจกรรมประกวดผ้าลายพระราชทาน และงานหัตถกรรม ระดับภาค ที่ จ.สงขลา ในวันนี้ เป็นจุดดำเนินการที่ 1 มีผ้าไทย จำนวน 242 ผืน และงานหัตถกรรม จำนวน 82 ชิ้น รวม 324 ชิ้น จากทุกจังหวัดภาคใต้ จุดดำเนินการครั้งต่อไปจะจัดขึ้นที่ ภาคกลาง ในวันที่ 3 กันยายน 2565 ณ โรงแรมสุวรรณาริเวอร์ไซด์ อำเภอเมืองชัยนาท จังหวัดชัยนาท จุดดำเนินการที่ 3 ภาคเหนือ ในวันที่ 10 กันยายน 256 ณ โรงแรมมีเลีย เชียงใหม่ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ และจุดดำเนินการที่ 4 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระหว่างวันที่ 17 - 18 กันยายน 2565 ณ โรงแรมมลฑาทิพย์ ฮอลล์ อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี และการประกวดรอบคัดเลือก ในวันที่ 24 กันยายน 2565 ณ โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร โดยคัดเลือกผ้าและงานหัตถกรรม ให้คงเหลือ 150 ผืน/ชิ้น เพื่อประกวดในรอบ Semi Final และรอบตัดสินในระดับประเทศต่อไป
ด้านนายสมคิด จันทมฤก อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เปิดเผยว่า กรมการพัฒนาชุมชน ได้ดำเนินโครงการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายขิดนารีรัตนราชกัญญา” ประกอบด้วย 3 กิจกรรม คือ กิจกรรมที่ 1 ประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายขิดนารีรัตนราชกัญญา” และงานหัตถกรรม ระดับภาค กิจกรรมที่ 2 บันทึกและเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลงานผ้าและงานหัตถกรรมที่ได้รับการคัดเลือก และกิจกรรมที่ 3 ติดตามสนับสนุนผู้ประกอบการผ้าไทย โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อสืบสานพระราชปณิธานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในเรื่องการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทย และเผยแพร่พระอัจฉริยภาพของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ด้านการออกแบบเครื่องแต่งกาย สิ่งทอและการอนุรักษ์ผ้าไทย ให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ ผ่านการคัดเลือกผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายขิดนารีรัตนราชกัญญา” และงานหัตถกรรม จากพื้นที่ 4 ภูมิภาค ที่มีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ จำนวน 150 ผืน/ชิ้น ซึ่งจะทำให้ผ้าไทยและงานหัตถกรรม แต่ละประเภทให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ กล่าวเพิ่มเติมว่า การประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายขิดนารีรัตนราชกัญญา” และงานหัตถกรรม ระดับภาค ที่กำลังจะเริ่มการประกวดระดับภาค ในวันนี้ จะทำให้เกิดการตื่นตัวและการพัฒนางานฝีมือ ทุกเทคนิคของผู้ประกอบการ OTOP ช่างศิลป์ และช่างทอผ้าทุกคน กิจกรรมในวันนี้สำคัญมากเป็นการปลุกเร้าให้ใช้ความเพียรพยายามในการผลิตชิ้นงานส่งเข้าประกวด เป็นที่น่ายินดีที่ในการประกวดครั้งนี้ มีการให้ความสนใจเป็นอย่างมาก มีผ้าไทยและงานหัตถกรรมเข้าประกวดมากกว่าปีที่แล้ว นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างแรงจูงใจในการสร้างสรรค์ผลงานที่ดีให้ดีกว่าที่เคยทำอีกด้วย ในปีนี้อาจมีดีที่สุดเพียง 1 ชิ้น แต่ในปีถัดไป จะเกิดผลงานที่ดีอีกร้อยชิ้น หรือมากกว่านั้น นำไปสู่ความสนใจ และความต้องการมากขึ้นทำให้กลไกการตลาด มีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้น ทั้งนี้ จะต้องคำนึงถึงการสร้างเรื่องราวของสินค้า (Story) เช่น ผ้าลายขอสิริวรรณวรี หรือ ผ้าลายขิดนารีรัตน์ราชกัญญา ที่มีตัว S หมายถึงตัวอักษรแรกของพระนามพระองค์ท่าน หรือ รูปหัวใจ ที่หมายถึง ความรักอันบริสุทธิ์ ไม่หวังสิ่งตอบแทน เป็นต้น รวมถึงการสร้างแพ็คเกจ (Package) หรือบรรจุภัณฑ์ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และไม่เพิ่มต้นทุน ทำให้ผลิตภัณฑ์ดูดี มีคุณภาพสามารถส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศได้ สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นการสร้างแบรนด์ของสินค้า (Brand) ซึ่งจะทำให้เกิดการจดจำในการแข่งขันระดับสากล เป็นหน้าที่ของทุกคนต้องช่วยให้เกิดและขยายผล จากต้นแบบที่พระองค์ทรงพระราชทานผมเชื่อว่าสิ่งดี ๆ จะเกิดขึ้นกับประชาชนเป็นทางลัดที่ตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน และเป็นทางลัดในการรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่นในเรื่องผ้าไทย รวมถึงการช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของกลุ่มผู้ประกอบการ OTOP กลุ่มศิลปาชีพและกลุ่มอื่น ๆ ทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ ทำให้เกิดกระแสการสวมใส่ผ้าไทย และมีการประยุกต์รูปแบบลวดลาย สีสันที่ร่วมสมัยสามารถสวมใส่ ได้ทุกเพศ ทุกวัย ทุกโอกาสตามแนวพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีนารีรัตนราชกัญญา