นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เป็นห้องปฏิบัติการอ้างอิงทางการแพทย์และสาธารณสุข ให้บริการตรวจวิเคราะห์แอลกอฮอล์ในเลือด เพื่อสนับสนุนการป้องกันและลดการเกิดอุบัติเหตุทางถนน โดยสถานพยาบาลและสถานีตำรวจในพื้นที่สามารถส่งตัวอย่าง เพื่อตรวจวิเคราะห์ปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดได้ที่ห้องปฏิบัติการกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 15 แห่งทั่วประเทศ ได้แก่ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ 14 แห่ง (เชียงใหม่ เชียงราย พิษณุโลก นครสวรรค์ สระบุรี สมุทรสงคราม ชลบุรี ขอนแก่น อุดรธานี นครราชสีมา อุบลราชธานี สุราษฎร์ธานี สงขลา และตรัง) โดยจะทำการตรวจวิเคราะห์ด้วยเครื่อง Gas Chromatography (Headspace GC-FID) ซึ่งให้ผลที่เที่ยงตรงและแม่นยำ และได้รับการรับรองความสามารถตามมาตรฐาน ISO 15189 และ ISO/IEC 17025 ทราบผลภายใน 7-10 วันทำการ หรือในกรณีช่วงเทศกาลสามารถดำเนินการตรวจวิเคราะห์และรายงานผลภายใน 24 ชั่วโมง
นายแพทย์ศุภกิจ กล่าวต่อว่า จากข้อมูลผลการปฏิบัติงานตรวจวิเคราะห์แอลกอฮอล์ในเลือดของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ในปีงบประมาณ 2565 (1 ตุลาคม 2564-30 กันยายน 2565) มีตัวอย่างที่ส่งตรวจจำนวนทั้งสิ้น 8,962 ตัวอย่าง แยกเป็น เพศชาย 7,841 ราย หญิง 1,117 ราย และไม่ระบุเพศ 4 ราย ผลการตรวจวิเคราะห์แอลกอฮอล์ในเลือด พบว่า เกินกฎหมายกำหนด จำนวน 4,615 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 51 โดยผู้ที่มีปริมาณแอลกอฮอล์เกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ที่อายุ 20 ปีขึ้นไป มีอายุเฉลี่ยเท่ากับ 42 ปี และผู้ที่มีปริมาณแอลกอฮอล์เกิน 20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ที่อายุไม่ถึง 20 ปี มีอายุเฉลี่ยเท่ากับ 17 ปี ประเภทยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ รองลงมาคือรถปิคอัพและรถเก๋ง ช่วงเวลาที่เกิดเหตุมากที่สุด คือ เวลา 19.00-19.59 น.
ทั้งนี้กฎกระทรวงฉบับที่ 21 พ.ศ.2560 ออกตามความในพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 กำหนดไว้ว่า หากพบว่าผลการตรวจวัดแอลกอฮอล์จากลมหายใจหรือปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดของผู้ขับขี่มีค่าเกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์หรือผู้ขับขี่ที่มีอายุไม่ถึง 20 ปี ผู้ขับขี่ที่ไม่มีใบอนุญาตขับรถหรือผู้ขับขี่ ซึ่งได้รับใบอนุญาตขับรถแบบชั่วคราว ถ้ามีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกินกว่า 20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ให้ถือว่าเมาสุราเช่นกัน
“การขับขี่รถขณะเมาสุราเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดอุบัติเหตุจราจรทางบก ซึ่งการตรวจวิเคราะห์ ระดับแอลกอฮอล์ในเลือด เป็นวิธีการอย่างหนึ่งในการทดสอบว่าผู้ขับขี่เมาสุราหรือไม่ ในกรณีผู้ขับขี่ที่รู้สึกตัวเจ้าหน้าที่ตำรวจจะตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์โดยเครื่องวัดแอลกอฮอล์ในเลือดโดยวิธีเป่าลมหายใจ แต่บางรายอาจมีอาการบาดเจ็บรุนแรงจนไม่สามารถเป่าผ่านเครื่องวัดฯได้ จะทำการเจาะเลือดส่งตรวจปริมาณแอลกอฮอล์ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจมีหนังสือนำส่งตัวผู้ขับขี่ไปยังสถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุด เพื่อทำการเจาะเลือดภายใน 6 ชั่วโมง หลังเกิดอุบัติเหตุ หากเกิน 6 ชั่วโมงปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดจะลดต่ำลง” นายแพทย์ศุภกิจ กล่าว