เขียนให้คิด โดย ซีซีศูนย์
การเก็บรักษารถราชการ
สวัสดีครับท่านผู้อ่านที่เคารพ วันนี้ข่าวบ้านเมืองเรามักเกี่ยวพันกับราชการกันมากครับ โดยเฉพาะการทำหน้าที่ของหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม คือสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่มีผลกระทบกับความรู้สึกของผู้คน ไม่ว่าเรื่องคนจีนสีเทาที่เข้ามาทำมาหากินเรื่องผิดกฎหมายในเมืองไทย มาล่าสุดเรื่องตำรวจท่องเที่ยวพานักท่องเที่ยวจีนผ่านช่องตรวจคนเข้าเมืองโดยสะดวก แล้วยังใช้รถราชการนำนักท่องเที่ยวเข้าโรงแรมที่พักเหมือนรับบุคคลสำคัญจนหน่วยงานต้องแก้ตัวจ้าละหวั่น ดูกันต่อครับว่าเจ้าหน้าที่คนไหนหน่วยไหนจะโดนลงโทษอย่างไร ก็อย่าเป็นมวยล้มก่อนนะครับ
มาว่าเรื่องการใช้รถราชการกันต่อนะครับ ตอนที่แล้วพูดถึงระเบียบการใช้รถส่วนกลาง คราวนี้มาบอกเล่าถึงเรื่องการเก็บรักษารถราชการ ถ้าเป็นรถประจําตําแหน่งให้อยู่ในความควบคุมและความรับผิดชอบของผู้ดํารงตําแหน่งนั้นเองครับ คือใครใช้ใครรักษา ถ้าเป็นการเก็บรักษารถส่วนกลาง รถรับรอง ให้อยู่ในความควบคุมและความรับผิดชอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยเก็บรักษาในสถานที่เก็บหรือบริเวณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
เรื่องนี้ละครับที่มีการร้องเรียนกันมาก ที่มีเรื่องพนักงานท้องถิ่นระดับบริหาร เอาตั้งแต่นายกท้องถิ่นหรือรองนายก หรือปลัด หรือแม้กระทั่งหัวหน้ากองหัวหน้าฝ่ายทั้งหลายในท้องถิ่นที่มีรถส่วนกลางใช้ในงานของกองหรือฝ่ายตัวเอง แต่กลับเอารถส่วนกลางไปใช้เสมือนรถส่วนตัว เอาไปเก็บที่บ้านบ้างหรือใช้เหมือนรถประจำตำแหน่งตัวเองบ้าง จะเล่าให้ฟังต่อไป
สําหรับรถส่วนกลางนั้นนะครับ ผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้ได้รับมอบอํานาจจากผู้บริหารท้องถิ่นจะพิจารณาอนุญาตให้นำรถไปเก็บรักษาที่อื่นเป็นการชั่วคราวหรือเป็นครั้งคราวได้ต้องมีสองทางคือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น ไม่มีสถานที่เก็บรักษาปลอดภัยเพียงพอ หรือต้องมีราชการจําเป็นและเร่งด่วนจริงๆ ซึ่งการอนุญาตให้นํารถส่วนกลางไปเก็บรักษาที่อื่นเป็นการชั่วคราว เนื่องมาจากไม่มีสถานที่เก็บรักษาปลอดภัยเพียงพอ ก็ให้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบในการเก็บรักษารถส่วนกลางจัดทํารายงานขออนุญาตพร้อมด้วยเหตุผลความจําเป็นและรายละเอียดของสถานที่ที่จะนํารถส่วนกลางไปเก็บรักษา ซึ่งแสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า มีความปลอดภัยเพียงพอ เสนอประกอบการพิจารณาของผู้มีอํานาจอนุญาตด้วยทุกครั้ง
ในกรณีที่เกิดการสูญหายหรือเสียหายขึ้นกับรถส่วนกลางในระหว่างการเก็บรักษาที่อื่นเป็นการชั่วคราว ซึ่งหมายถึงว่า ได้รับอนุญาตแล้วนะครับ ผู้เก็บรักษาต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่า ได้ใช้ความระมัดระวังดูแลรักษาเยี่ยงวิญญููชนจะพึงสงวนรักษาทรัพย์สินของตนแล้ว และการสูญหายหรือเสียหายนั้น มิได้เกิดขึ้นจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้เก็บรักษา แต่หากการสูญหายหรือเสียหายนั้นเกิดขึ้น เนื่องจากการนําไปใช้ในการอื่น ให้ผู้อื่นใช้หรือนำไปเก็บไว้ ณ ที่ที่มิได้รับอนุญาต ผู้เก็บรักษาต้องรับผิดชอบทุกกรณี แม้ว่าจะเกิดด้วยเหตุสุดวิสัย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่า ถึงอย่างไรความสูญหายหรือเสียหายก็จะเกิดแก่รถส่วนกลางคันนั้น
สมัยผู้เขียนยังเป็นข้าราชการตัวเล็กๆ เคยไปสอบสวนเรื่องการใช้รถส่วนกลางของหน่วยงานหนึ่ง ปรากฏว่า หัวหน้าหน่วยงานระดับอำเภอแกเอารถส่วนกลางไปกลับจากบ้านพักไปที่ทำงาน จากที่ทำงานไปบ้านพักโดยตลอด ปรากฎว่า มีอยู่คืนหนึ่งแกไปดื่มไปเที่ยวตามคาราโอเกะ ครั้นเมาได้ที่ก็พานักร้องไปส่งบ้าน ยังส่งไม่ถึงบ้านไปชนต้นไม้ข้างทางรถพังไปเยอะ แกก็ทำรายงานผู้บังคับบัญชาอ้างว่าไปราชการประสบอุบัติเหตุก็เอาเงินหลวงไปซ่อมครับ ต่อมาลูกน้องร้องเรียนแกเรื่องนี้ขึ้นมา ถูกสอบวินัยไม่พอยังต้องจ่ายค่าซ่อมรถคืนหลวงอีก เมื่อก่อนอาจเป็นแค่วินัย เดี๋ยวพอพูดถึงเรื่องการขัดกันแห่งผลประโยชน์หรือผลประโยชน์ทับซ้อนมากขึ้นเผลอๆ จะโดนอาญาด้วยครับ
มาเรื่องการเบิกน้ำมันเชื้อเพลิงอีก การเบิกจ่ายค่าน้ำมันเชื้อเพลิงสําหรับรถยนต์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกําหนดปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงที่จะจ่ายให้รถยนต์แต่ละคันไว้ ทั้งนี้ ให้ถือตามสภาพและขนาดรถยนต์นั้นๆ รถส่วนกลางและรถรับรอง ให้เบิกจ่ายค่าน้ำมันเชื้อเพลิงจากงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น สําหรับรถประจําตําแหน่ง ให้ผู้มีสิทธิใช้รถประจําตําแหน่งเป็นผู้จ่ายค่าน้ำมันเชื้อเพลิง เรื่องนี้ถ้าเราตามข่าวคราวของราชการส่วนกลางหรือภูมิภาคที่มีการใช้รถประจำตำแหน่งมากกว่าท้องถิ่น แล้วจะมีการเบิกใช้น้ำมันหลวงไปเติมรถประจำตำแหน่งอยู่บ่อย จึงต้องมีการกำหนดบทลงโทษไว้ว่า
ผู้ใดโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ไม่ปฏิบัติตามระเบียบนี้หรือกระทำการโดยมีเจตนาทุจริต หรือปราศจากอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจหน้าที่ ถือว่าผู้นั้นกระทำผิดตามกฎหมายหรือระเบียบที่เกี่ยวข้อง และในกรณีของข้าราชการส่วนท้องถิ่น ถือว่าผู้นั้นกระทำผิดวินัยตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ก็ต้องระมัดระวังกันนะครับ
เรื่องต่อไปเรื่องอายุการใช้งาน คงจะใช้จนโทรม คงเสียชื่อ เขาก็กำหนดไว้ว่า ถ้าเป็นรถประจำตำแหน่ง ซึ่งมีอายุการใช้งานมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 ปี และรถส่วนกลางซึ่งมีอายุการใช้งานมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี ให้ถือเป็นเกณฑ์ที่จะพิจารณาจัดหารถคันใหม่ทดแทนคันเก่าได้ เรื่องนี้ก็เป็นช่องทางหนึ่งที่หน่วยงานราชการมักจะใช้เป็นช่องทางหารถใหม่มาใช้กันในลักษณะจำหน่ายทดแทนทั้งที่สภาพรถยังดี เมื่อขายทอดตลาดก็มักขายกันเองหรือไม่ก็ขายให้พรรคพวกไปใช้หรือขายต่อกัน เรื่องนี้ยังมีข้อยกเว้นอีกว่า ถ้ารถประจำตำแหน่งหรือรถส่วนกลางที่ได้รับความเสียหายต้องเสียค่าซ่อมสูงหรือประโยชน์ที่จะได้รับไม่คุ้มกับค่าซ่อม หรือเมื่อซ่อมแล้วไม่อยู่ในสภาพที่ใช้การได้โดยปลอดภัย หรือรถประจำตำแหน่งหรือรถส่วนกลางที่สามารถแลกเปลี่ยนกับรถยนต์ใหม่ขนาดและประเภทเดียวกันได้โดยไม่เพิ่มราคา ก็ไม่อยู่ในบังคับของระยะเวลาโดยให้อยู่ในดุลยพินิจของผู้บริหารท้องถิ่นที่จะพิจารณาตามความจำเป็นและเหมาะสม
แต่ข้อยกเว้นนี้ไม่ใช้บังคับกับรถรับรองนะครับ ยังไม่จบครับ คงต้องไปต่อตอนหน้าอีกจะได้เล่าเรื่องที่ ป.ป.ช.ชี้มูลเรื่องการใช้รถหลวงนะครับ