ชาวบ้านตำบลกุดจิก อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา กว่า 100 คน ที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง นำโดย น.ส.จันทินา อัครปรีดี ตัวแทนราษฏรผู้ได้รับผลกระทบ นายวัธวุฒิ คลาดสูงเนิน นายก อบต.กุดจิก
ได้ชุมนุมเรียกร้องให้หยุดดำเนินการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงช่วง กุดจิก-โคกกรวด ตัดผ่านพื้นที่ตำบลกุดจิก ระยะทาง 9.5 กิโลเมตร เนื่องจากประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากการก่อสร้างแบบคันดิน
น.ส.จันทินา เปิดเผยว่า จากกรณีที่การรถไฟแห่งประเทศไทย มีการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงช่วง กุดจิก-โคกกรวด ตัดผ่านพื้นที่ตำบลกุดจิก โดยการก่อสร้างเป็นคันทางรถไฟระดับดินทั้งหมด เป็นระยะทาง 9.5 กิโลเมตร ซึ่งผู้รับเหมาได้ลงพื้นที่และเริ่มดำเนินการก่อสร้าง ตั้งแต่เดือน พ.ค. 64
ปรากฏว่าการก่อสร้างดังกล่าวได้ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการดำรงชีวิตของชุมชน ทั้งเรื่องปัญหาน้ำท่วมหนักบ้านเรือนราษฏร และพื้นที่ทางการเกษตรของชาวบ้านได้รับความเสียหาย เนื่องจากการก่อสร้างคันดินของโครงการดังกล่าวส่งผลให้การระบายน้ำล่าช้า
ด้านเศรษฐกิจ ทำให้วิถีชีวิตของประชาชนในชุมชนตำบลกุดจิกต้องเปลี่ยนไป เพราะทางรถไฟระดับคันดินจะแบ่งชุมชนออกเป็นสองฝั่ง ยากต่อการพัฒนาความเจริญ ระดับคุณภาพชีวิตลดลง เพิ่มระยะเวลาและค่าใช้จ่ายในการ ส่งผลทำให้เศรษฐกิจค้าขายภายในชุมชนตกต่ำ
ขณะเดียวกัน การก่อสร้างทางระดับคันดิน ยังทำให้เส้นทางคมนาคมในเขตชุมชนหลายจุดเปลี่ยนแปลงจากเดิม พื้นผิวจราจรคับแคบ และจุดสะพานกลับรถที่อยู่ระยะไกล ทำให้การติดต่อสัมพันธ์ระหว่างผู้คนสองฝั่งทางรถไฟเป็นไปด้วยความยากลำบาก เพิ่มระยะเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง
นอกจากนี้ในชุมชนบ้านกุดจิก ยังมีโรงเรียนระดับประถม มัธยม ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก รวม 4 แห่งคือ โรงเรียนบ้านกุดจิก (รัชชุศิริอนุกูล), โรงเรียนกุดจิกวิทยา, โรงเรียนบ้านสลักใด, ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลกุดจิก ที่ตั้งอยู่ทั้งสองฝั่งทางรถไฟ
เมื่อมีการก่อสร้างทางรถไฟความเร็วสูงตัดผ่าน โดยการก่อสร้างแบบถมคันดินและสะพานทางข้ามที่สูง ทำให้ทางรถไฟสายดังกล่าวแยกชุมชนออกเป็น 2 ฝั่ง ส่งผลกระทบด้านการศึกษา เช่น ผู้ปกครอง และเด็กนักเรียนที่เดินทางสัญจร ส่งบุตรหลานไปโรงเรียน ส่วนใหญ่จะเป็นเด็ก สตรี และผู้สูงอายุ ทำให้ได้รับความลำบาก เส้นทางการเดินทางสัญจรเปลี่ยนแปลงไป
น.ส.จันทินา กล่าวอีกว่า ปัญหาดังกล่าวนี้เกิดจากการทำประชาพิจารณ์ที่ไม่โปร่งใส หน่วยงานรัฐไม่ได้เผยแผ่ข้อมูลข่าวสารของโครงการให้กับประชาชนทราบเท่าที่ควร และชาวบ้านทั้งหมดไม่เคยได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น ประชุมหารือ รวมถึงการทำประชาพิจารณ์ อีกทั้งการรถไฟแห่งประเทศไทย ก็ไม่เคยแจ้งถึงรูปแบบของการก่อสร้าง สำรวจความคิดเห็น หรือรับฟังความเห็นของประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง
ด้าน นายวัธวุฒิ หนึ่งในแกนนำ กล่าวว่า พวกเราได้รวบรวมรายชื่อชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบที่เกิดจากการก่อสร้างทางรถไฟความเร็วสูง โดยมีความประสงค์ คือ 1. ขอให้การรถไฟแห่งประเทศไทยระงับการดำเนินการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง สัญญาที่ 3-4 ช่วงกุดจิก-โคกกรวด เป็นระยะทาง 9.5 กิโลเมตร และขอคืนพื้นที่ถนนเดิมให้แก่ประชาชน
2. ขอให้ดำเนินการปรับเปลี่ยนรูปแบบการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงระดับดิน เป็นยกเสาสูง (ตอม่อ) เท่านั้น หากหน่วยงานภาครัฐยังนิ่งเฉยเราจะมีการยกระดับการเรียกร้องต่อไป