ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
คอลัมนิสต์ประจำอปท.นิวส์ ย้อนกลับ
คนโสดในยุคจีนใหม
17 ก.พ. 2566

โลกของจีน โดย ชัยวัฒน์ วนิชวัฒนะ

 คนโสดในยุคจีนใหม่

        

          ข้อมูลจากสหประชาชาติเมื่อปลายปี 2022 บอกเอาไว้ว่า  ในปี 2023 นี้จำนวนประชากรอินเดียจะขึ้นไปถึง 1,428 ล้านคน  แซงหน้าจำนวนประชากรจีนที่นิ่งอยู่ที่ระดับ 1,425 ล้านคน

           สหประชาชาติยังทำนายด้วยว่า  แนวโน้มประชากรจีนจะลดลงเรื่อยๆเหลือ 1,415 ล้านคนในปี 2030  ลดลงอีกเหลือ 1,377 ล้านคนในปี 2040  และจะเหลือ 1,312 ล้านคนในปี 2050  ในขณะที่ประชากรอินเดียจะเพิ่มเป็น 1,514 ล้านคนในปี 2030  เพิ่มเป็น 1,611 ล้านคนในปี 2040 และจะถึง 1,670 ล้านคนในปี 2050

          รัฐบาลจีนเพิ่งรับรู้ปัญหาโครงสร้างประชากรเมื่อไม่นานมานี้ว่า  การควบคุมจำนวนประชากรด้วยนโยบาย “ลูกคนเดียว” ที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนนำมาใช้ในช่วงปี 1979 -2015 อาจจะได้ผลดีด้านหนึ่งแต่ก็อาจเกิดผลข้างเคียงในทางสังคมและเศรษฐกิจ   ซึ่งแม้จะแก้ไขในปี 2016 ให้ครอบครัวมีลูกได้ 2 คน  หรือจัดโปรโมชั่นยกเว้นภาษีและเพิ่มหลักประกันสุขภาพในปี 2021 ให้มีลูกเพิ่มได้ถึง 3 คน  แต่เสียงขานรับนั้นแทบไม่ปรากฏ  เพราะกลุ่มผู้เฒ่าในพรรคคอมมิวนิสต์จีนคงไม่เข้าใจถึงความรู้สึกนึกคิดของคนยุคใหม่ในสังคมจีนว่าเปลี่ยนแปลงไปเช่นไร

         วันนี้คนจีนรุ่นใหม่ทั้งชายและหญิงไม่สนใจการแต่งงาน  เพราะต่างรู้สึกว่าแต่งงานแล้วมีความทุกข์มากกว่าความสุข  มีตัวอย่างแต่งงานแล้วหย่าเร็ว  สถิติการหย่าร้างเพิ่มขึ้นสูงเนื่องจากสามีภรรยาสมัยนี้ไม่แคร์เสียงวิพากษ์ วิจารณ์ในสังคม  ไม่ทนอยู่  ต่างมีการศึกษาสูง  ต้องการอิสระ 

          นักสังคมวิทยาที่ศึกษาการแต่งงานและครอบครัวในสังคมเอเชียพบว่า  “การศึกษา”ที่สูงขึ้นมีผลให้ผู้หญิงไม่หวังพึ่งพาคู่สมรสเพื่อให้มีที่อยู่ที่กินมีเงินใช้เช่นในอดีต  และผู้หญิงยุคใหม่คิดหาอาชีพและการพัฒนาตนเองก่อนการแต่งงาน

          ผู้หญิงที่มีการศึกษา มีงานทำ มีอิสระด้านการเงิน รู้สึกมีความเท่าเทียมกับผู้ชาย

          ผู้หญิงหลายคนบอกว่า  สิ่งที่เสียใจมากที่สุดในชีวิตคือการแต่งงาน และการมีลูก  บางคนโชคร้ายเจอความรุนแรงในครอบครัว  หลายคนบอกว่ารู้สึกมีภาระเพิ่มทั้งงานเดิมที่ทำอยู่  แต่งแล้วมีงานบ้าน  ตามมาด้วยงานเลี้ยงลูกเพราะฝ่ายชายไม่แบ่งเบาภาระ

          หลายคนเห็นตรงกันว่าการแต่งงานแล้วมีลูกคือ “ความเครียดในชีวิต

          กรมอนามัยจีนเคยทำการสำรวจพบว่า  คนจีนรุ่นใหม่นิยมอยู่เป็นโสด  มีความหลากหลายทางเพศ  มีแนวโน้มแต่งงานช้าลง  สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมมีผลให้คู่แต่งงานชะลอการมีบุตร  หรืออาจจะไม่มีเลย  หรือมีแค่คนเดียว  เพราะเห็นว่า “ลูกคือภาระ” มีค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูสูงโดยเฉพาะด้านการศึกษา

          โครงสร้างประชากรจีนปัจจุบันมีเพศชายมากกว่าเพศหญิง  วันนี้หนุ่มจีนจึงขาดแคลนเจ้าสาว  ขณะที่ฝ่ายสาวจีนก็เลือกจะเป็นโสดมากกว่าจะเป็นสะใภ้  สังคมจีนวันนี้เลยมีคนโสดเต็มเมือง

          ปี 2013 ที่ “สี จิ้นผิง” ขึ้นเป็นประธานาธิบดี  ปีนั้นมีคู่บ่าวสาวใหม่ 13.46 ล้านคู่  แต่ในปี 2021 คู่บ่าวสาวลดลงเหลือเพียง 7.63 ล้านคู่ ต่ำสุดในรอบ 35 ปี

           การที่หนุ่มสาวยุคใหม่มีแนวโน้มเลือกจะอยู่เป็นโสดมากกว่าเลือกหาคู่ครอง  ไม่เพียงเป็นปัญหาโครงสร้างประชากร  แต่ยังกลายเป็นปัญหาใหญ่ในครอบครัวจีน        

          ช่วงเทศกาลตรุษจีนที่ผ่านมาแรงงานจีนจำนวนไม่น้อยเดินทางจากเมืองใหญ่กลับบ้านในชนบทเพื่อร่วมเฉลิมฉลองกับครอบครัว  แต่มีข่าวปรากฏทางโซเชียลมีเดียของจีนที่กลายเป็นไวรัลว่า  สาวโสดวัย 30 ปี จากมณฑลซานตง  ที่ตั้งใจเตรียมของขวัญกลับไปเยี่ยมครอบครัวกลับถูกพ่อไล่ออกจากบ้านด้วยความโกรธเพราะอายุ 30 ปีแล้วยังไม่มีแฟน  กลายเป็น “ลูกสาวที่ขายไม่ออก”ในความรู้สึกของคนสัมยเก่า

           อีกคลิปหนึ่งเป็นภาพของหญิงสาวที่กำลังถูกญาติผู้ใหญ่เกลี้ยกล่อมให้แต่งงานโดยอ้างว่า “คุณธรรมของผู้หญิงคือการแต่งงาน”  แต่เธอปฏิเสธว่าไม่ต้องการแต่งงานเพียงเพื่อตามประเพณี  ไม่ยอมถูกคลุมถุงชน

          คำกล่าวของเธอที่สะท้อนความคิดของหญิงจีนยุคใหม่คือ “ทำไมต้องแต่งงานเพื่อความสุขของคนอื่น”  เธอโชว์เล็บที่ทำมาอย่างสวยงามพร้อมกับกล่าวว่า “ทำเล็บมาแพง ทำไมต้องทำกับข้าวล้างจานให้คนอื่น

          พฤติกรรมของหนุ่มสาวจีนยุคมิลเลนเนียมเมื่อไม่ให้ความสำคัญกับการแต่งงานหรือแต่งแล้วแต่ไม่ต้องการมีลูกเพราะคิดว่า “ลูกคือภาระ”  จึงมีพฤติกรรมชอบเลี้ยงสุนัขและแมวแทนการเลี้ยงลูก  กลายเป็นผลบวกให้ธุรกิจสัตว์เลี้ยงในจีนเติบโตอย่างรวดเร็ว

          ข้อมูลในปี 202 ระบุว่ามีชาวจีนมีสัตว์เลี้ยงในบ้านมากกว่า 100 ล้านตัว  ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่เป็นสุนัขและแมว   และเชื่อไหมว่าผู้เลี้ยงส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงโสด  มีการศึกษาดี  เป็นคนรุ่นใหม่อายุน้อยอีกด้วย โดยครึ่งหนึ่งเป็นคนที่เกิดหลังยุค 1990

          เหตุที่ “สัตว์เลี้ยง”อย่างสุนัขและแมว เข้ามามีบทบาทแทนการมีลูกของคนจีนรุ่นใหม่  อาจจะเพราะคนจีนรุ่นใหม่มองปัจจุบันมากกว่าอนาคต  มองว่าการเลี้ยงสัตว์นั้นใช้เงินและเวลาน้อยกว่าการเลี้ยงลูก

          เคยมีคนเอายอดขายอาหารสำหรับเด็กมาเปรียบเทียบกับยอดขายอาหารสัตว์เลี้ยง  พบว่าอาหารเด็กเติบโตแต่ตัวเลข 1 หลัก  ขณะที่อาหารสัตว์โตด้วยตัวเลข 2 หลัก  โดยอาหารแมวมีอัตราการเติบโตแซงหน้าอาหารสุนัข  เนื่องจากชาวจีนที่อาศัยในอพาร์ทเม้นท์ขนาดเล็กเขตเมืองที่มีประชากรหนาแน่นนั้น  จะนิยมเลี้ยงแมวไว้ในห้องซึ่งสะดวกกว่าสุนัขที่อาจจะมีข้อห้ามและข้อจำกัด

          นอกจากนี้เจ้าของสัตว์เลี้ยงในจีนส่วนใหญ่ยังทุ่มเทค่าใช้จ่ายต่างๆให้กับ “ลูกรัก”ของตนเองอย่างไม่เกี่ยงงอน  นับแต่อาหารที่มีคุณภาพ  ที่อยู่ที่นอน  ของเล่น  เครื่องใช้  เครื่องประดับ  ค่ารักษาพยาบาล ฯลฯ

          ข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครคุนหมิง ระบุว่าในปี 2565 มูลค่าการค้าอุตสาหกรรมสัตว์เลี้ยงในจีนรวมเกือบ 5 แสนล้านหยวน(ประมาณ 2.5 ล้านล้านบาท)  แบ่งเป็นอาหารสัตว์เลี้ยง 2.67 แสนล้านหยวน และสินค้าของใช้สำหรับสัตว์เลี้ยง 3.69 หมื่นล้านหยวน  คาดว่าปี 2568 มูลค่าตลาดจะเพิ่มสูงกว่า 8 แสนล้านหยวน (ประมาณ 4 ล้านล้านบาท)     

        นับเป็นช่องทางน่าสนใจที่ผู้ประกอบการไทยจะเจาะตลาดสัตว์เลี้ยงสำหรับคนโสดจีน    

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...