ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
คอลัมนิสต์ประจำอปท.นิวส์ ย้อนกลับ
การศึกษาของลูกมังกร
03 มี.ค. 2566

โลกของจีน โดย ชัยวัฒน์ วนิชวัฒนะ

การศึกษาของลูกมังกร

ประวัติศาสตร์จีนที่ยาวนานนับพันปีสะท้อนให้เห็นว่า สังคมจีนให้ความสำคัญในด้าน “การศึกษา” มาอย่างต่อเนื่อง  กษัตริย์หรือฮ่องเต้ ผู้ปกครองอาณาจักร นอกจากต้องการแม่ทัพที่เชี่ยวชาญการศึกเพื่อรักษาหรือขยายดินแดนแล้ว ยังต้องการผู้มีความฉลาดรอบรู้มาช่วยเป็นที่ปรึกษาในการบริหารบ้านเมือง 

ราชสำนักจีนในสมัยโบราณจึงมีการจัดสอบ “จอหงวน” ทุกๆ 3 ปี โดยมีการคัดกรองคนเก่งจากทั่วแผ่นดินโดยไม่เลือกว่าจะยากดีมีจนมาแข่งขันทดสอบความฉลาด ความรู้ ความแข็งแรง และความมีคุณธรรม เอาผู้ได้คะแนนอันดับ 1 หรือหัวกะทิเข้ารับราชการเป็นขุนนางใกล้ชิดฮ่องเต้

ประวัติศาสตร์จีนบันทึกไว้ว่า มีการสอบจอหงวนมามากกว่า 700 ครั้ง จึงมีคนเก่งจากหลากหลายครอบครัว  หลากหลายฐานะ ทั้งลูกขุนนาง ลูกพ่อค้า ลูกชาวนาที่ยากจน ได้เข้าวังรับใช้ฮ่องเต้ เท่ากับเป็นโอกาสในการเปลี่ยนแปลงชีวิตทั้งตนเองและครอบครัว เป็นหน้าเป็นตาของวงศ์ตระกูลของชุมชนที่อยู่อาศัย ดังนั้น คนจีนสมัยโบราณจึงให้ความสำคัญต่อการศึกษามาก

ความรู้สึกนี้ยังตกทอดจากรุ่นสู่รุ่นมาถึงยุคปัจจุบัน และดูเหมือนจะรุนแรงยิ่งขึ้นทุกวัน

จีนในยุคสังคมนิยมภายใต้ “พรรคคอมมิวนิสต์จีน” ที่ต้องการแก้ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำในสังคม  ไม่ต้องการให้ความร่ำรวยกระจุกอยู่เฉพาะในวังและในหมู่ขุนนาง เคยยึดทุกอย่างเป็นของรัฐ เคยทำระบบ “นารวม” แบ่งผลผลิตเท่าเทียม ต่อมาได้เปิดรับระบบทุนนิยมมาผสมผสานกับสังคมนิยมเพื่อสร้างผลผลิต จนในที่สุดรัฐบาลสามารถแก้ปัญหาความยากจนได้ แต่ปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจน คนเมืองกับเกษตรกรในชนบท กับคุณภาพชีวิตที่แตกต่างก็ยังเป็นโจทย์ให้ต้องแก้ต่อไป ในขณะที่ประชาชนมองเห็นว่า “การศึกษา” คือช่องทางพาตัวเองให้พ้นจากความเหลื่อมล้ำได้

วันนี้แม้จะไม่มีฮ่องเต้จัดสอบจอหงวน แต่พรรคคอมมิวนิสต์จีนจัดสอบ “เกาเข่า” หรือการสอบแข่งขันเข้าเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยของนักเรียนที่จบระดับมัธยมศึกษาทั่วประเทศปีละประมาณ 10 ล้านคน แต่มหาวิทยาลัยมีโควตาที่นั่งรวมแล้วประมาณ 7 ล้านคน 

ใน 7 ล้านคนนี้จะกระจายไปอยู่ในมหาวิทยาลัยที่คนจีนมองว่ามี 3 ระดับคือ ชื่อเสียงดีที่มีบริษัทห้างร้านจองตัวตั้งแต่ยังไม่จบ ชื่อเสียงปานกลางที่เรียนจบแล้วหางานไม่ยาก และชื่อเสียงที่รอเตะฝุ่น

ส่วนอีก 3 ล้านคนที่สอบไม่ติด มีทางเลือกคือเตรียมตัวรอสอบใหม่ปีต่อไป หรือหาที่เรียนต่างประเทศดัง เช่น ประเทศไทย ที่เด็กจีนที่พลาดจากสนามสอบในบ้านตัวเอง หรือตั้งใจเรียนต่อระดับปริญญาโทและปริญญาเอก ช่วงหลังนิยมมาเรียนต่อในมหาวิทยาลัยไทยซึ่งมีมาตรฐานที่ทางการจีนรับรอง มีค่าใช้จ่ายถูกกว่าปลอดภัยกว่าไปเรียนในฝั่งยุโรปหรืออเมริกา แถมยังทำมาหากินในระหว่างเรียนได้ด้วย 

แม้การศึกษาจะเป็นโอกาสยกระดับคุณภาพชีวิต การศึกษาของเด็กจีนยุคสมัยนี้มีการแข่งขันสูงมาก จนกลายเป็นแรงกดดันทางสังคม แรงกดดันต่อสถาบันครอบครัว โดยเฉพาะครอบครัวเกษตรกรในชนบทหรือครอบครัวชนชั้นกลางที่คาดหวังว่า หากลูกหลานสามารถสอบเข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัยที่ดีได้ ก็คือการเปลี่ยนชะตาชีวิต หรือการสร้างอนาคตที่ดีกว่าของครอบครัว

เพื่อนจีนคนหนึ่งให้ข้อมูลว่า ด้วยนโยบายของรัฐบาลที่ป้องกันการเคลื่อนย้ายประชากร ป้องกันคนชนบทหรือภาคเกษตรเข้าหางานในเมือง ป้องความแออัดในเขตเมืองใหญ่ จึงมีระเบียบควบคุมทะเบียนบ้าน ซึ่งเชื่อมโยงกับสิทธิด้านสวัสดิการประกันสังคม การรักษาพยาบาล โดยเฉพาะสิทธิในการเข้าเรียนในสถานศึกษาของบุตรหลาน

อธิบายความว่า แต่ละเขตการศึกษาจะมีโควตาในการรับคนของท้องถิ่นไว้ก่อน หากมีโควตาว่างจึงจะรับคนจากต่างถิ่น ส่วนในระดับมหาวิทยาลัยต้องสอบเข้า หากสอบได้แล้วเดิมมีทะเบียนบ้านในชนบทจะได้รับสิทธิในการเปลี่ยนทะเบียนบ้าน เพราะมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่อยู่ในเมือง และที่จีนถือว่านักศึกษาไม่ใช่เกษตรกร

การย้ายทะเบียนบ้านเข้าเมืองใหญ่นั้นยากมาก ต้องการคนที่มีวุฒิการศึกษาดีๆเข้าไปร่วมพัฒนาเมือง เพราะเมืองใหญ่มีปัญหาการบริหารจัดการเมืองยากลำบากอยู่แล้ว เช่น หางโจว เซี่ยงไฮ้ ไม่ใช่แค่ทำงานหรือซื้อบ้าน แต่ปัจจุบันจะพิจารณาวุฒิการศึกษาประกอบด้วยไม่ใช่แค่ปริญญาตรี แต่หากปริญญาโทหรือปริญญาเอกจะมีคะแนนให้ หรือมีเงื่อนไขอื่นๆเช่น ทำงานแล้วกี่ปี จ่ายภาษีกี่ปี มีคะแนนสะสมถึงหรือไม่ จึงจะมีสิทธิย้ายทะเบียนบ้านเข้าเมืองใหญ่          

เมื่อการศึกษาคือใบเบิกทางของชีวิตที่ดีกว่า พ่อแม่ผู้ปกครองส่วนใหญ่ในสังคมจีนจึงยอมทุ่มเทเพื่ออนาคตของลูกหลาน มีจำนวนไม่น้อยที่วางแผนลูกตั้งแต่ชั้นอนุบาลให้เข้าเรียนโรงเรียนดีๆ เพื่อปูพื้นฐานตั้งแต่ยังเล็ก เมื่อเข้าชั้นมัธยมก็ให้เรียนกวดวิชากับครูเก่งๆ ที่แม้ราคาแพงก็สู้ ยิ่งในปีสุดท้ายก็ยิ่งให้ติวอย่างเข้มข้นก่อนเข้าสนามสอบ 

แต่ความคาดหวังของผู้ปกครองที่มากจนเกินไป บางครั้งก็นำมาซึ่งผลลัพธ์ที่คาดไม่ถึง เช่น ข่าวพ่อจีนใช้ดาบซามูไรแทงลูกชายวัย 13 ปีเสียชีวิต เนื่องจากโกรธและเกิดอารมณ์ชั่ววูบที่สอบได้คะแนนไม่ดี

หรือข่าว “เด็กฆ่าตัวตาย” ในช่วงสอบ ซึ่งทางตำรวจสันนิษฐานว่า เครียดจากการทำข้อสอบไม่ได้แล้ว ไม่สามารถแบกรับแรงกดดันจากครอบครัวได้อีกต่อไป

ความกดดันด้านการศึกษาของเด็กและเยาวชนจีนที่นับวันจะยิ่งรุนแรงกลายเป็นปัญหาสังคม ทำให้รัฐบาลจีนต้องออกมาตรการในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทั้งจัดระเบียบสถาบันกวดวิชา ให้ครูทุ่มเทกับการสอนในห้องเรียน ลดภาระการเรียน ลดการบ้าน เพิ่มวิชาพละศึกษาในหลักสูตรเรียนให้มากขึ้น

ที่น่าติดตามคือการออก “กฎหมายส่งเสริมการศึกษาในครอบครัว” ที่กำหนดให้ผู้ปกครองต้องจัดสรรเวลาสำหรับการเรียนของลูกภายใต้การดูแลให้เหมาะสม ไม่ให้เรียนและมีความกดดันที่มากเกินไป และต้องดูแลพฤติกรรมของเยาวชนจีนไม่ปล่อยปละละเลยให้ลูกมีพฤติกรรมเสพติดโลกออนไลน์

เรื่องแบบนี้วัดกันยากจริงๆ    

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...