กระทรวงเกษตรฯ บูรณาการความร่วมมือทุกภาคส่วน หนุน"ไผ่" เป็นพืชเศรษฐกิจ ใช้น้ำน้อย ระยะปลูกสั้น หวังแก้วิกฤติแล้งสร้างความยั่งยืนสู่ภาคการเกษตรและอุตสาหกรรม
พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดโครงการบูรณาการส่งเสริมการปลูกและพัฒนาไผ่สู่อาชีพเกษตรกรรมที่ยั่งยืน ณ จังหวัดลำปาง ว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงและควรให้ความสำคัญอย่างยิ่งในปัจจุบัน คือ การปลูกป่า และการรักษาป่าอันเป็นต้นน้ำลำธารที่สำคัญ ซึ่ง ไผ่ ถือเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของป่า แม้ว่าทางจังหวัดได้มีนโยบายที่ชัดเจนในการสร้างป่าชุมชน โดยมีไผ่เป็นต้นไม้นำร่อง แต่ในประเทศไทยยังให้ความสนใจต่อการสนับสนุนการปลูก การแปรรูป ผลิตภัณฑ์จากไผ่ ยังไม่เป็นที่กว้างขวางนัก และมีการลงทุนเพื่อดำเนินกิจกรรมต่างๆ ที่เป็นการสร้างคุณค่าและมูลค่าของไผ่นั้นน้อยมาก จึงเป็นโอกาสที่ภาครัฐ ภาคเอกชน หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง จะหันมาให้การสนับสนุนอย่างจริงจัง เพื่อพัฒนาและส่งเสริมให้ “ไผ่” เป็นพืชเศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่ง และมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องแบบครบวงจร ตั้งแต่การผลิต การแปรรูป และการตลาด ซึ่งจะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศได้อย่างมหาศาล ประกอบกับพื้นที่ของประเทศไทยเป็นเขตร้อนชื้นมีความเหมาะสมต่อการปลูกไผ่หลากหลายสายพันธุ์ แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ และภูมิอากาศ โดยเฉพาะขณะนี้สถานการณ์ภัยแล้งมีความรุนแรงมากกว่าทุกปีที่ผ่านมา จึงถือว่าไผ่ มีความเหมาะสมที่จะปลูกในช่วงนี้ เพราะนอกจากจะมีประโยชน์มากมาย ทั้งด้านอุตสาหกรรม ด้านพลังงาน เป็นต้น ยังมีระยะเวลาในการปลูกสั้น สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ในเวลาเพียง 3 ปี อีกทั้งยังเป็นพืชที่ใช้น้ำน้อย ซึ่งตรงกับมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาภัยแล้ง โดยกระทรวงเกษตรฯได้แนะนำให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยแทนการปลูกข้าว ซึ่งได้เสนอมาตรการเข้าครม.ไปก่อนหน้านี้ทั้ง 8มาตรการ ด้านความคืบหน้าในมาตรการที่ 4 มีกระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงาน ขณะนี้มีการรวบรวมข้อมูลความต้องการจากประชาชน คาดว่าใช้เวลาประมาณ 1 เดือน จึงจะแล้วเสร็จ จากนั้นจะเสนอให้คณะกรรมการพิจารณา และเสนอเข้าครม.ตามลำดับต่อไป
"มาตรการส่งเสริมของภาครัฐในการเข้ามาดูแลเรื่องไผ่ มี 2 หน่วยงานหลักคือ กระทรวงทรัพยากรฯและกระทรวงเกษตรฯ ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญเรื่องไผ่ มีนักส่งเสริมการเกษตรที่ลงพื้นที่ในระดับตำบล สามารถดำเนินการส่งเสริมเกษตรกรที่มีความสนใจและต้องการความรู้ในขั้นตอนการเพาะปลูก การดูแล การแปรรูป และการนำไปใช้ประโยชน์ต่างๆ โดยมีสภาเกษตรกรแห่งชาติเป็นแกนกลางในการเชื่อมโยงหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เชิญผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ความสามารถเรื่อง “ไผ่” จากทุกภาคส่วน ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้านตั้งแต่การเพาะปลูก การแปรรูป การค้า การส่งเสริมและการลงทุนมาร่วมมือกันในวันนี้ จึงเป็นโอกาสให้ประเทศของเราได้พัฒนาให้ “ไผ่” มีคุณค่าและสร้างมูลค่าเพิ่ม เป็นพืชเพื่อเศรษฐกิจ พลังงาน สังคมและพืชเพื่อสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ ดังนั้นกระทรวงเกษตรจะได้มีนโยบายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลับไปทบทวนศึกษาและร่างยุทธศาสตร์การพัฒนาไผ่ของชาติอย่างครบวงจรต่อไป เมื่อดูจากหน่วยงานทุกภาคส่วน ที่เรียกว่าประชารัฐ เพื่อเรียนรู้การปลูกและพัฒนาไผ่ ซึ่งมีโอกาสสำเร็จได้ในเวลาอันใกล้" พลเอก ฉัตรชัย กล่าว