วันที่ 29 ส.ค.2566 นพ สุรพงษ์ ผดุงเวียง นพ สสจ.สกลนคร เปิดเผยที่โรงแรมเอ็มเจ เขตเทศบาลนครสกลนคร ในโอกาสผู้ว่าพบสื่อมวลชน ครั้งที่ 3 ว่า สถานการณ์ประเทศไทยขณะนี้ พบผู้ป่วยไข้เลือดออก จำนวน 73,979 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 111.80 ต่อประซากรแสนคน เสียชีวิต 70 ราย พบผู้ป่วยมากที่สุด ในกลุ่มอายุ 15-24 ปี , รองลงมา คือ กลุ่มอายุ 10-14 ปี และ 25-34 ปี ตามลำดับ (ข้อมูล ณ วันที่ 22 ส.ค.2566) สำหรับสถานการณ์ในจังหวัดสกลนคร พบผู้ป่วย จำนวน 318 ราย อัตราป่วย 27.77 ต่อประชากรแสนคน
ไม่มีผู้ป่วยเสียชีวิต พบผู้ป่วยมากที่สุดในกลุ่มอายุ 10-14 ปี รองลงมา คือ กลุ่มอายุ 5-9 ปี ,15-24 ปี และ 0-4 ปี ตามลำดับ (ข้อมูล ณ วันที่ 27 ส.ค.2566 )
สาเหตุ เกิดจากเชื้อไวรัสเดงกี โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรคและยุงลายวางไข่ในแหล่งน้ำใสนิ่ง ในภาชนะที่มีน้ำขังรอบบริเวณบ้าน
อาการ มีใช้สูง 2-7 วัน เบื่ออาหาร หน้าแดง อาจพบจุดเลือดที่ผิวหนัง มักจะไม่ไอ ไม่มีน้ำมูก กดเจ็บชายโครงด้านขวา ส่วนการรักษา ปัจจุบันยังไม่มียารักษาโรคไข้เลือดออก จึงรักษาตามอาการ โดยใช้ยาลดไข้ และห้ามใช้ยาแอสไพริน ควรดื่มน้ำมากๆ หรือดื่มเกลือแร่ หากอาการไม่ดีขึ้น ให้พบแพทย์โดยเร็ว
นอกจากโรคไข้เลือดออกแล้วยังมีโรคติดต่อนำโดยยุงลายที่สำคัญ ได้แก่
โรคไข้ปวดข้อยุงลาย หรือโรคชิคุนกุนยา โดยสถานการณ์ประเทศไทย พบผู้ป่วย จำนวน 888 ราย
อัตราป่วย 1.34 ต่อประชากรแสนคน ไม่มีผู้เสียชีวิต พบผู้ป่วยมากที่สุด ในกลุ่มอายุ 35-44 ปี รองลงมา คือ
กลุ่มอายุ 25-34 ปี , 45-54 ปี ตามลำดับ (ข้อมูล ณ วันที่ 22 ส.ค.2566) ส่วนจังหวัดสกลนคร ปี 2566 พบผู้ป่วย
5 ราย อัตราป่วย 0.44 ต่อประชากรแสนคน ไม่มีผู้เสียชีวิต ผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงาน อายุ 35-44 ปี
รองลงมา 15-24 ปี และ 45-54 ปี ตามลำดับ
สาเหตุและอาการ เกิดจากเชื้อไวรัสชิคุนกุนยา โดยมียุงลายเป็นพาหะ อาการที่สำคัญ ได้แก่ มีไข้ ปวดข้อ และข้อบวม ปวดศีรษะ ตาแดง มีผื่นตามตัว ปัจจุบันยังไม่มียารักษาโรค การรักษาที่ดีที่สุดคือ การพักผ่อนและรับประทานยาเพื่อบรรเทาอาการ
โรคติดเชื้อไวรัสซิกา สถานการณ์ประเทศไทย พบผู้ป่วย จำนวน 267 ราย อัตราป่วย 0.40 ต่อประชากรแสนคน ไม่มีผู้เสียชีวิต พบผู้ป่วยมากที่สุดในกลุ่มอายุ 35-44 ปี รองลงมา คือ กลุ่มอายุ 25-34 ปี และ 45-54 ปี ตามลำดับ (ข้อมูล ณ วันที่ 22 ส...2566) ส่วนจังหวัดสกลนคร ปี 2566 ยังไม่พบผู้ป่วย สาเหตุและอาการ เกิดจากเชื้อไวรัสซิกา โดยมียุงลายเป็นพาหะ อาการสำคัญ ได้แก่ มีไข้ มีผื่นแดง เยื่อบุตาอักเสบ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้ออ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ซึ่โดยปกติแล้วอาการเหล่านี้จะเป็นเพียงเล็กน้อยไม่รุนแรง ยกเว้นในหญิงตั้งครรภ์ซึ่งอาจทำให้มีภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ได้ การรักษาทำได้ด้วยการรักษาตามอาการ พักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำมากๆ
การป้องกันโรค ไข้เลือดออกและโรคติดต่อนำโดยยุงลาย ได้แก่ การใช้มาตรการ 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรคคือ เก็บบ้าน ให้โล่งโปร่ง ไม่ให้ยุงเกาะพัก เก็บขยะ ที่อาจเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และ เก็บน้ำ โดยปิดฝาภาชนะ เก็บน้ำให้มิดชิด หรือเปลี่ยนน้ำเป็นประจำทุกสัปดาห์หรือปล่อยปลาหางนกยงกินลูกน้ำ ซึ่งสามารถป้องกันได้ทั้ง 3 โรค คือโรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา
วัฒนะ แก้วก่า/สกลนคร