นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายสำคัญด้านการสร้างเศรษฐกิจ ในประเด็นที่ 12 เศรษฐกิจสุขภาพ และประเด็นที่ 13 นักท่องเที่ยวปลอดภัย พร้อมเริ่มเดินหน้าภายใต้แนวคิด “น่านโมเดล” Nan Healthy City Model เป็นแห่งแรก โดยให้กรมอนามัยยกระดับการท่องเที่ยวปลอดภัย ส่งเสริมเศรษฐกิจสุขภาพ ภายใต้นโยบายการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค และคุ้มครองผู้บริโภคเป็นเลิศ (PP&P Excellence) โดยพัฒนาต้นแบบอาหารริมบาทวิถี (Street Food Good Health) เพื่อเน้นย้ำให้ ผู้จำหน่ายอาหารมีสุขวิทยาส่วนบุคคลที่ดี ตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมวัตถุดิบ ปรุง-ประกอบ และจำหน่ายอาหาร
“ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขมุ่งมั่นที่จะสร้างความมั่นใจด้านความสะอาดปลอดภัยให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยว ซึ่งการดำเนินงานตามเกณฑ์มาตรฐานอาหารริมบาทวิถี (Street Food Good Health) เน้น 4 มิติ คือ 1) มิติด้านสุขภาพ : หน่วยงานราชการส่วนท้องถิ่นอนุญาตประกอบกิจการ การจำหน่ายสินค้าในที่หรือทางสาธารณะ และกำหนดจุดผ่อนผันที่อนุญาตให้ตั้งวางแผงจำหน่ายอาหาร โดยผ่านเกณฑ์มาตรฐานแผงจำหน่ายอาหาร (Clean Food Good Taste) ของกรมอนามัย ผ่านการอบรมหลักสูตรการสุขาภิบาลอาหารผู้สัมผัสอาหาร 2) มิติด้านเศรษฐกิจ : ราคาถูก (หนูณิชย์ติดดาว) ติดป้ายแสดงราคา มีป้ายบอกชื่อร้านหรือแผงจำหน่าย อย่างน้อย 2 ภาษา ที่สามารถมองเห็นได้ชัดเจน 3) มิติด้านสังคม : มีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชน OTOP SME ผู้สูงอายุ ผู้พิการ Young Smart Farmer ออแกนิก ธรรมชาติ เป็นต้น และ 4) มิติด้านวัฒนธรรม : มีการจำหน่ายอาหารพื้นบ้าน การแต่งกายประจำถิ่น และมีการแสดงวัฒนธรรมประจำถิ่น” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าว
แพทย์หญิงอัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอนามัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลการดำเนินงานในปี 2566 พบว่า ประเทศไทยมีถนนอาหารริมบาทวิถีได้รับการรับรองมาตรฐาน Street Food Good Health “อาหารปลอดภัย ใส่ใจสุขภาพ” ของกรมอนามัย ระดับดีขึ้นไป มีจำนวน 76 แห่ง จาก 134 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 56.72 โดยแบ่งเป็น ระดับดี จำนวน 55 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 41.04 และระดับดีมาก จำนวน 21 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 15.67 สำหรับภาคเหนือได้ยกระดับระบบการจัดการสุขาภิบาลอาหารและอนามัยสิ่งแวดล้อมเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการท่องเที่ยวไทย โดยมีอาหารริมบาทวิถีผ่านเกณฑ์มาตรฐานการพัฒนาและยกระดับอาหารริมบาทวิถี ระดับดีขึ้นไป จำนวน 16 แห่ง ซึ่งจังหวัดน่านมีถนนอาหารริมบาทวิถี จำนวน 2 แห่ง คือ กาดข่วงเมืองน่าน และปัว
“ทั้งนี้ กรมอนามัยยังคงเร่งพัฒนาถนนอาหารริมบาทวิถีของประเทศไทยให้ผ่านเกณฑ์มาตรฐานพร้อมรับการท่องเที่ยวของประชาชนและนักท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการ ผู้บริโภค และภาคีเครือข่าย เพราะอาหารริมบาทวิถีเป็นจุดที่เข้าถึงได้ง่าย ราคาถูก และเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของแต่ละจังหวัด ประชาชนสามารถสังเกตป้ายสัญลักษณ์ Street Food Good Health และ Clean Food Good Taste ทุกครั้งก่อนเลือกซื้ออาหารเพื่อความมั่นใจ และความปอลดภัย” แพทย์หญิงอัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า