พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า การดำเนินงานโครงการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม หรือ Zoning by Agri-map ในระยะ 2 ปีที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สามารถสร้างแรงจูงใจ และสนับสนุนให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนพื้นที่การผลิตที่ไม่เหมาะสมได้ถึง 190,319 ไร่ มีเกษตรกรได้รับผลประโยชน์ 40,946 ราย ได้ปรับเปลี่ยนพื้นที่การเพาะปลูกพืชที่ไม่เหมาะสม เป็นการผลิตสินค้าชนิดใหม่ ที่สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่และความต้องการของตลาด ในปี 2560 เกษตรกรมีความสมัครใจและปรับเปลี่ยนพื้นที่แล้ว 157,701 ไร่ เกษตรกรเข้าร่วม 34,000 ราย จาก 53 จังหวัด เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ที่มีการปรับเปลี่ยนพื้นที่การเพาะปลูกอยู่ที่ 32,618 ไร่ มีเกษตรกรเข้าร่วม 10,502 ราย จาก 49 จังหวัด โดยเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ให้ความรู้แก่เกษตรกรผ่านศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศ.พ.ก.) และเครือข่าย ในการส่งเสริมสนับสนุนให้เกษตรกร ปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกพืชให้เหมาะสมกับพื้นที่ เพื่อสร้างผลตอบแทนที่คุ้มค่า และช่วยยกระดับความเป็นอยู่ของเกษตรกรให้ดีขึ้น
นายสุรเดช เตียวตระกูล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการ Zoning by Agri-map ถือว่าเป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จ มีความคืบหน้าเป็นที่น่าพอใจ สามารถสร้างผลตอบแทนทางเศรษฐกิจหลังการปรับเปลี่ยน และเกษตรกรได้รับผลตอบแทนเพิ่มขึ้น ส่งผลให้แผนการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2561 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีเป้าหมายในการปรับเปลี่ยนทั้งหมด 260,304 ไร่ มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการจำนวน 43,313 ราย ใน 67 จังหวัด โดยจะเน้นการปรับเปลี่ยนการปลูกข้าวและยางพาราในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม ไปเป็นพืชเศรษฐกิจชนิดอื่นที่สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่และความต้องการของตลาด
โดยกรมพัฒนาที่ดิน ได้ดำเนินการขับเคลื่อนฯ ตามมาตรการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นมาตรการเตรียมความพร้อมและประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ โดยเฉพาะการสร้างการรับรู้ของเกษตรกรในพื้นที่รอบๆ หรือในตำบลที่ตั้งศูนย์การเรียนรู้เพื่อพัฒนาการเกษตร (ศพก.) จำนวน 882 ศูนย์ซึ่งมีการชี้แจงให้เกษตรกรเห็นความสำคัญของการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม และรู้จักใช้ข้อมูลแผนที่ในพื้นที่ของตนเอง ครบทั้ง 882 ศูนย์
อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้กรมพัฒนาที่ดิน ได้ดำเนินการจัดทำแผนที่เขตความเหมาะสมของที่ดินสำหรับการผลิตสินค้าเกษตรสำหรับพืชเศรษฐกิจ 6 ชนิดรายชนิดพืช ในระดับประเทศระดับจังหวัด และระดับอำเภอ และทำการส่งมอบข้อมูลแผนที่ดังกล่าวให้แก่ศูนย์การเรียนรู้เพื่อพัฒนาการเกษตรนำไปใช้เป็นข้อมูลในการขับเคลื่อนและส่งเสริมในระดับพื้นที่ ครบทั้ง 882 ศูนย์ ซึ่งเจ้าหน้าที่ในส่วนภูมิภาคของหน่วยงานภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีการดำเนินการขับเคลื่อนการปฏิบัติ และส่งเสริมในพื้นที่เขตเหมาะสม มีการอบรมให้เกษตรกรสามารถดูและใช้แผนที่ความเหมาะสมของที่ดินสำหรับพืชเศรษฐกิจในพื้นที่ของตนเอง ว่ามีความเหมาะสมในระดับใด หรือไม่เหมาะสมกับพืชชนิดใด หากมีความเหมาะสมแล้วจะต้องทำการเพิ่มศักยภาพในการผลิตแบบไหนเพื่อลดต้นทุนในการผลิต หากไม่เหมาะสมจะต้องปรับเปลี่ยนพื้นที่ไปทำการเกษตรด้านอื่น
นอกจากนี้ยังสนับสนุนให้เกษตรกรได้ดูงานความสำเร็จของการปลูกพืชในเขตเหมาะสม ผ่านทางศูนย์เรียนรู้ฯ (ศพก.) ที่เป็นต้นแบบที่อยู่ในจังหวัด ซึ่งได้มีการอบรมให้แก่เกษตรกร ส่วนการขับเคลื่อนการปฏิบัติและส่งเสริมในพื้นที่ที่ทำการผลิตไม่เหมาะสม หรือ การปรับโครงสร้างการผลิต ได้ดำเนินการประชุม ชี้แจงถึงผลกระทบจากการทำเกษตรกรรมในพื้นที่ไม่เหมาะสม และเสนอทางเลือกการผลิตในรูปแบบต่างๆ ทดแทน ให้แก่เกษตรกรในพื้นที่นั้นๆ ไปแล้ว มั่นใจจะเห็นเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้นในปี 2560 นี้ ซึ่งหากเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการเลือกปลูกพืชตามความเหมาะสมของดินจะสามารถช่วยเกษตรกรลดต้นทุน การใช้ปุ๋ย และยา ได้อีกด้วย