เหมาเจ๋อตุง คือผู้ร่วมก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีนคือผู้ประกาศสถาปนา “สาธารณรัฐประชาชนจีน”คือผู้เปลี่ยนหน้าประวัติศาสตร์จีน คือผู้สร้างลัทธิเหมาที่กำหนดทิศทางการพัฒนาของจีนมาจนถึงปัจจุบัน ชาวจีนจึงยกย่องให้ “ประธานเหมา”คือบิดาแห่งจีนยุคใหม่
เขาเกิดเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม ค.ศ.1893ที่มณฑลหูหนาน เมื่อปลายเดือนธันวาคม 2023 ที่ผ่านมา คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้จัดงานรําลึก 130 ปีวันชาตกาลของอดีตผู้นำสูงสุดของจีนคนนี้
สี จิ้นผิง เลขาธิการคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน และประธานาธิบดีผู้นำรุ่นที่5 ของจีน นอกจากจะกล่าวยกย่องอดีตผู้นำรุ่นที่ 1 ว่าคือมหาบุรุษผู้เปลี่ยนชะตากรรมของแผ่นดินจีน เป็นทั้งนักปฏิวัติ นักยุทธศาสตร์ เป็นผู้บุกเบิกภารกิจที่ยิ่งใหญ่ในการนำพาจีนสู่สังคมนิยมทันสมัย
สียังถือโอกาสนี้กล่าวปลุกในคนทั้งประเทศด้วยว่า ภารกิจของประธานเหมาคือการฟื้นฟูชาติ การสร้างประเทศจีนที่เข้มแข็งการสร้างจีนให้ทันสมัย ขณะเดียวกันการรวมชาติกับไต้หวันที่ในสมัยเหมายังไม่มีโอกาสจะดำเนินการ คือภารกิจที่เป็นความรับผิดชอบทางประวัติศาสตร์ที่คนรุ่นนี้ต้องสานต่อ “การรวมแผ่นดินมาตุภูมิโดยสมบูรณ์เป็นสิ่งที่ไม่อาจต้านทานได้ มาตุภูมิต้องเป็นหนึ่งเดียวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้”สีกล่าว
ภาพขนาดใหญ่ของเหมา เจ๋อตุง ที่ประดับอยู่เหนือซุ้มประตูเทียนอันเหมิน ไม่เพียงเป็นการการยกย่องอดีตผู้นำที่ประกาศสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 1949 หลังพรรคคอมมิวนิสต์จีนสามารถเอาชนะสงครามกลางเมือง มีผลให้เจียง ไคเช็ค ต้องนำพรรคก๊กมินตั๋งหนีไปตั้งรัฐบาลสาธารณรัฐจีนที่เกาะไต้หวัน
แต่ยังย้อนไปถึงความยากลำบาก ความมานะอดทนของ “การเดินทัพหมื่นลี้”ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน กว่าจะได้ชัยชนะ รวมไปถึงการพักรบกับพรรคก๊กมินตั๋งหันสร้างแนวร่วมแห่งชาติเพื่อต่อต้านกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นที่พยายามเข้ามายึดครองจีนในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 จนสามารถปลดปล่อยจีนกลับสู่เอกราชในที่สุด
แม้จะมีผลงานอันยิ่งใหญ่ในการกอบกู้ชาติแต่“สหายเหมา”ก็หาใช่ผู้วิเศษที่หยั่งรู้ดินฟ้าหรือไม่เคยทำผิดพลาดเลยยิ่งในการบริหารประเทศที่กว้งใหญ่และมีการประชากรหลายร้อยล้านคนความผิดพลาดครั้งใหญ่ที่ถูกบันทึกในประวัติศาสตร์จีนคือนโยบาย“ก้าวกระโดดใหญ่”ช่วงปี 1958-1962 อันเป็นช่วงของแผน 5 ปีฉบับที่สองของจีน ที่อยากเร่งรัดพัฒนาเศรษฐกิจของจีนให้ทัดเทียมชาติตะวันตกและชาติมหาอำนาจ โดยการนำระบบคอมมูนประชาชนเข้ามาใช้กับระบบเศรษฐกิจการเกษตรแบบเดิม แต่เร่งเพิ่มเป้าผลผลิตแบบทวีคูณพร้อมๆกับการพยายามเข้าสู่การผลิตในระบบอุตสาหกรรมโดยขาดเทคโนโลยีความรู้พื้นฐานและความชำนาญ
ผลที่ตามมาคือความล้มเหลวทั้งภาคการเกษตรและอุตสาหกรรม ผลผลิตการเกษตรลดลง คนจีนยิ่งจนลง เกิดความอดอยากทั่วแผ่นดิน กลายเป็นภัยพิบัติทางเศรษฐกิจและทุกขภิกขภัยครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์จีนและมนุษยชาติเพราะคาดว่ามีผู้เสียชีวิตในช่วงเวลานั้นจำนวนมาก20-50ล้านคน
เชื่อกันว่าความผิดพลาดจากนโยบาย “ก้าวกระโดดใหญ่”ทำให้เหมา เจ๋อตุง เริ่มเสื่อมเสียศรัทธาในหมู่ประชาชนและเริ่มเสียอำนาจในพรรคคอมมิวนิสต์จีน จึงทำให้เกิด“การปฏิวัติวัฒนธรรม”ในช่วงปี 1966-1976 โดยอ้างถึงการปกป้องอุดมการณ์ของพรรคคอมมิวนิสต์ การนำระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ไปสู่ความสมบูรณ์แบบตามอุดมคติ การล้มล้างชนชั้นเพื่อสร้างความเสมอภาค การล้างอดีตเพื่อสร้างอนาคตใหม่ ปฏิเสธระบบการศึกษาแบบเก่าๆ ปฏิเสธศิลปโบราณ เลิกวัฒนธรรมค่านิยมแบบเดิมๆที่เป็นตัวถ่วงรั้งการพัฒนา
เครื่องมือสำคัญของการปฏิวัติวัฒนธรรมคือ“ขบวนการเรดการ์ด”หรือ “ยุวชนแดง”ที่มีการปลุกเร้าเยาวชนคนรุ่นใหม่มาเป็นผู้พิทักษ์ลัทธิเหมา เมื่อนานเข้าได้พัฒนาเป็นผู้คอยจับผิดผู้ใหญ่ พวกหัวเก่า ทั้งครู อาจารย์ ข้าราชการ นักการเมือง แม้กระทั่งพ่อแม่ญาติพี่น้อง ว่าภักดีหรือเป็นภัยต่อประธานเหมา ต่อพรรคคอมมิวนิสต์จีนแค่ไหน
การปฏิวัติวัฒนธรรมช่วยให้เหมากลับมามีอำนาจอย่างสมบูรณ์อีกครั้ง แต่อีกด้านหนึ่งคือความบอกช้ำอย่างสาหัสทางเศรษฐกิจและสังคมจีนกับเวลาที่เสียเปล่าในช่วงหนึ่งทศวรรษ
แม้เหมาจะถูกมองว่าเป็นผู้นำสังคมนิยมสุดโต่ง แต่เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศเพื่อโอกาสทางการค้ากับต่างประเทศ เพื่อลดแรงกดดันทางการเมืองระหว่างประเทศ เหมาก็เลือกที่คุยกับผู้นำชาติทุนนิยมประชาธิปไตย เลือกที่จะเอาศัตรูที่น่ากลัวที่สุดมาไว้ใกล้ตัวที่สุด โดยในเดือนกุมภาพันธ์ 1972เหมาได้ให้การต้อนรับประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสันแห่งอเมริกา ในการเยือนปักกิ่งเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์เปิดโอกาสให้มีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสองประเทศในเวลาต่อมา ทำให้สหรัฐอเมริกาหันมารับรองรัฐบาลปักกิ่งแทนรัฐบาลไต้หวัน และรับรองสาธารณรัฐประชาชนจีนในองค์การสหประชาชาติว่าคือ “จีนเดียว”จนถึงปัจจุบัน
เมื่อรำลึกถึงประธานเหมา ก็ต้องรำลึกถึงม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรีไทย ที่นำคณะบินไปพบและร่วมสนทนากับประธานเหมา เจ๋อตุง นายกรัฐมนตรีโจว เอินไหล และรองนายกฯเติ้ง เสี่ยวผิง(ตำแหน่งในขณะนั้น) ในวันที่ 1 กรกฎาคม 1975 และได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีนซึ่งความสัมพันธ์ของสองประเทศในยุคใหม่มีความสืบเนื่องและเติบโตอย่างรอบด้านจวบจนถึงปัจจุบันเข้าสู่ปีที่ 49
ต่างกับความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา ที่เพิ่งครบรอบ 45 ปีเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2024 แต่โลกทั้งใบเห็นว่าดำเนินมาอย่างลุ่มๆดอนๆ มีทั้งการคบค้า แข่งขัน ขัดแย้ง ทะเลาะเบาะแว้ง และเกือบจะทำสงครามต่อกัน ทั้งนี้เพราะความหวาดระแวงของสหรัฐฯที่เห็นการพัฒนาเติบโตอย่างก้าวกระโดดของจีนเกรงจะสูญเสียอำนาจความเป็นผู้นำโลก เกรงจะพ่ายแพ้ทางเศรษฐกิจ
เหมา เจ๋อตุง ถึงแก่อสัญกรรมในปี 1976 ในวัย 83 ปี นอกจากอุดมการณ์และภารกิจที่ทิ้งไว้ให้คนรุ่นหลังสานต่อแล้ว คำกล่าวของเหมาที่ว่า“เรื่องส่วนตัวแม้ใหญ่แค่ไหน ก็ยังเป็นเรื่องเล็ก เรื่องของชาติแม้เล็กแค่ไหน ก็เป็นเรื่องใหญ่” ยังคงถูกอ้างอิงอยู่เสมอในแผ่นดินจีน
.........................................................................................
โลกของจีน / ชัยวัฒน์ วนิชวัฒนะ