ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
คอลัมนิสต์ประจำอปท.นิวส์ ย้อนกลับ
ปนป. 12 ร่วมแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ
29 ม.ค. 2567

เมื่อกล่าวถึง “ความเหลื่อมล้ำ” นั้น เราหมายถึงความเหลื่อมล้ำในหลากหลายมิติ อาทิ “ความเหลื่อมล้ำในด้านรายได้” ซึ่งหมายถึงการกระจายรายได้ที่แตกต่างกันอย่างมากภายในกลุ่มประชากร “ความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่ง” หมายถึงการกระจายตัวด้านความมั่งคั่งระหว่างครอบครัวหรือบุคคลที่แตกต่างกัน “ความเหลื่อมล้ำทางด้านโอกาส” หรือการกระจายตัวด้านการเข้าถึงสวัสดิการต่าง ๆ หรือโอกาสต่าง ๆ ในการดำรงชีพ ทั้งหมดนี้มีความเกี่ยวข้องซึ่งกันและกันและเป็นเหตุและผลซึ่งกันและกัน เช่น ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ ทำให้การสะสมความมั่งคั่งของแต่ละคนมีความแตกต่างกัน และความเหลื่อมล้ำทางโอกาสทำให้การเข้าถึงรายได้มีความแตกต่างกัน (International Monetary Fund, 2022) ความเหลื่อมล้ำ จึงถูกมองว่า เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่หยั่งรากลึกในทุก ๆ สังคม และยากยิ่งที่จะแก้ไข เพราะมีความเชื่อมโยงกันในหลาย ๆ ระบบ สหประชาชาติได้กล่าวไว้ว่า ความเหลื่อมล้ำ ทำให้เกิดผลกระทบไม่เพียงแต่เฉพาะกระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังมีผลกระทบต่อการลดความยากจน การเลื่อนขั้นทางสังคม ความกลมเกลียวทางสังคม ความเป็นปึกแผ่นทางการเมือง และการพัฒนาสังคมในด้านอื่น ๆ” (United Nations, 2013)

หลักสูตรผู้นำยุคใหม่ในระบอบประชาธิปไตยรุ่นที่ 12 (ปนป.12) มีวัตถุประสงค์ เพื่อสร้างผู้นำในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข โดยกิจกรรมในการเรียนการสอนนั้นมีความหลากหลาย หนึ่งในนั้นก็คือ การทำงานร่วมกันของนักศึกษาในลักษณะของ “โครงงานกลุ่มเชิงปฏิบัติ” โดยเป็นวิธีการศึกษาเรียนรู้ในลักษณะที่จะช่วยส่งเสริมและกระตุ้นให้นักศึกษาได้ร่วมกันนำศักยภาพและทักษะของตนเองมาลดความเหลื่อมล้ำ โดยหนึ่งในโครงการที่ประสบความสำเร็จ คือโครงการของกลุ่มไก่ฟ้า 12 ชื่อ  “โครงการปั้นใจ : โครงการพัฒนาศักยภาพองค์กรดูแลผู้พิการ หรือโครงการ ปั้นใจไอโดเนท”

โครงการดังกล่าว เป็นโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อ ยกระดับมาตรฐานของมูลนิธิและองค์กรเพื่อสังคมให้มีความพร้อมในการเข้าถึงแหล่งทุน มีระบบการดำเนินการภายในที่ดี มีแนวทางปฏิบัติงานที่เป็นมาตรฐาน และมีความยั่งยืน โดยได้ประสบความสำเร็จในการพัฒนา 4 ด้าน ได้แก่ การพัฒนาระบบการจัดการภายใน การพัฒนาช่องทางในการเข้าถึงผู้รับบริจาค การพัฒนากิจกรรมต่าง ๆ ภายในองค์กร และการจัดทำคู่มือแนวปฏิบัติมาตรฐานสำหรับมูลนิธิและองค์กร ดังต่อไปนี้

  1. พัฒนาระบบการจัดการภายใน   กลุ่มไก่ฟ้าได้ศึกษาและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภายใน โดยเลือกเครื่องมือที่ใช้งานง่าย ไม่มีค่าใช้จ่าย สำหรับใช้จัดการข้อมูลภายในองค์กร เช่น  ทะเบียนผู้พิการ สมุดเยี่ยม ระบบจัดการของใช้คงคลัง ระบบบันทึกรายรับ-รายจ่าย และระบบใบสมัครงาน  การบริหารจัดการบุคลากร  โดยได้ติดตั้งระบบ และฝึกอบรมการใช้งาน รวมทั้งตั้งกลุ่นไลน์ สำหรับตอบคำถามบุคลากรในด้านการใช้งานอย่างต่อเนื่อง
  2. พัฒนาช่องทางการเข้าถึงผู้รับบริจาค และใช้โซเชียลมีเดีย ในการประชาสัมพันธ์และหารายได้  เพื่อให้สามารถเข้าถึงผู้บริจาค เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ และโต้ตอบกับผู้บริจาคได้
  3. พัฒนาการจัดกิจกรรม  พัฒนาการจัดกิจกรรมและแพ็กเกจต่าง ๆ โดยมุ่งเน้นที่กิจกรรมรับจัดวันเกิดและวันสำคัญ เนื่องจากเป็นกิจกรรมที่สามารถจัดได้ต่อเนื่องและยั่งยืน
  4. จัดทำคู่มือแนวปฏิบัติมาตรฐานสำหรับมูลนิธิและองค์กรไม่แสวงกำไร “โครงการปั้นใจ” เพื่อให้เกิดการขยายผลต่อยอดไปยังมูลนิธิองค์กรที่ดูแลผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาสอื่น ๆ เพื่อใช้พัฒนาการบริหารจัดการองค์กรให้สามารถรับบริจาคได้อย่างมีประสิทธิภาพภายใต้โลกยุคดิจิทัลอย่างยั่งยืน โดยส่งมอบคู่มือให้กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และมูลนิธิองค์กรที่ดูแลผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาสอื่น 

 

*** ณัชชาภัทร อมรกุล รักษาการผู้อำนวยการ วิทยาลัยการเมืองการปกครอง

 

 

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 31 มกราคม 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
13 ม.ค. 2568
ตามรายงานของศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในสิงคโปร์ (thaibizsingapore.com) ระบุว่า สิงคโปร์เป็นประเทศคู่ค้าสำคัญอันดับที่ 8 ของไทย และไทยเป็นคู่ค้าอันดับที่ 10 ของสิงคโปร์ จากสถิติของกระทรวงพาณิชย์และกรมศุลกากร ปริมาณการค้าไทย-สิงคโปร์ ปี 2565 มีมูลค่ารวม 644,383 ...