ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
คุณภาพชีวิต ย้อนกลับ
พม.ส่งทีมหนึ่งเดียวทั่วไทยจัดคนไร้ที่พึ่งนำร่องกทม.
06 มี.ค. 2567

 นายธเนศพล ธนบุณยวัฒน์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานเปิดโครงการ ปฏิบัติการคนไทยไม่ไร้ที่พึ่ง พร้อมนำ นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นางจตุพร โรจนพานิช อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ และคณะผู้บริหารกระทรวง พม. และภาคีเครือข่าย ร่วมประกาศเจตนารมณ์การช่วยเหลือคนไร้บ้าน พัฒนาครัวเรือนเปราะบางในภาวะวิกฤต เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต อีกทั้งปล่อยขบวนรถศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน (ศรส.) ออกปฏิบัติการ ช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง พร้อมกัน 77 จังหวัดทั่วประเทศ นอกจากนี้ วันนี้ เวลา 17.00 น. มีการจัดกิจกรรม เดินเท้าเข้าหา พาคนเปราะบางพ้นวิกฤติ นำโดย นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวง พม. พร้อมคณะผู้บริหารกระทรวง พม. และนักสังคมสงเคราะห์ ลงพื้นที่ เดินเท้าเข้าหา พาคนไร้บ้านเข้าสู่สิทธิสวัสดิการ ณ บริเวณลานพระแม่ธรณีบีบมวยผม ถนนราชดำเนินใน เขตพระนคร กรุงเทพฯ

นายธเนศพล กล่าวว่า จากการสำรวจผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะของกระทรวง พม. ร่วมกับภาคีเครือข่าย พบว่าในปี 2566 มีผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ จำนวน 2,499 คน ซึ่งพบมากที่สุดในกรุงเทพฯ และมีครัวเรือนเปราะบางอยู่ในภาวะวิกฤตจำนวนกว่า 362,437 ครัวเรือน  สำหรับ ปฏิบัติการคนไทยไม่ไร้ที่พึ่ง ในวันนี้ มีเจตนารมณ์มุ่งที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มเป้าหมายให้สามารถดำรงชีวิตด้วยตนเองได้อย่างยั่งยืน ด้วยปฏิบัติการ เชิงรุก ลงพื้นที่พูดคุย ดูแล ถามสารทุกข์สุกดิบ ประเมินสุขภาพกายและจิตอย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้เกิดภาวะที่จะเป็นอันตรายต่อตนเองและสังคม พร้อมทั้งมีการวางแผนพัฒนาคุณภาพชีวิต และส่งมอบสวัสดิการตามสิทธิ โดยมีศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง 77 แห่งทั่วประเทศ เป็นตัวเชื่อมประสานกับทุกภาคส่วน อีกทั้งพร้อมเป็นสื่อกลางในการประสานความช่วยเหลือ โดยมี ศรส. มีหน่วยเคลื่อนที่เร็วช่วยเหลือประชาชนอย่างทั่วถึง ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ สามารถติดต่อได้ที่เบอร์สายด่วน 1300 ตลอด 24 ชั่วโมง

นายธเนศพล กล่าวต่อไปว่า ปฏิบัติการวันนี้ ตามนโยบายของ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวง พม. ที่เน้นย้ำการทำงานไม่เหมือนเดิม จากการที่รอรับเรื่อง ณ ที่ตั้ง แต่วันนี้เราจะเป็นฝ่ายเดินเข้าหาคนไร้ที่พึ่งหรือคนไร้บ้าน ซึ่งนโยบายที่พยายามลงถึงปัญหาไม่ใช่รอปัญหากลับมา อย่างน้อยที่สุดเราจะได้เข้าไปเห็นสภาพปัญหาและข้อเท็จจริง เพื่อจะได้แก้ปัญหาในพื้นที่ โดยจำนวนของกลุ่มคนไร้ที่พึ่งหรือกลุ่มคนไร้บ้านมีอยู่ประมาณ 2000 กว่าคน วันนี้ หน่วยงานของกระทรวง พม. ทั่วประเทศลงไปทำหน้าที่ชนกับปัญหาและจัดการในกลุ่มคนไร้ที่พึ่งให้ไปสู่สถานที่หรือไปในทิศทางที่อยากเป็น เพราะฉะนั้น ถ้าพูดถึง พ.ร.บ. หรือกฎหมาย ซึ่งเราไม่สามารถไปจับกุมเขาเหล่านี้ได้ จึงต้องใช้ความสมัครใจซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่เกิดจากพูดคุย เกิดจากความต้องการ เพราะฉะนั้น วันนี้ทิศทางการทำงานของกระทรวง พม. เป็นทิศทางใหม่ และเป็นการแก้ไขการทำงานในเชิงรุก ก่อให้เกิดผลดีและมีประสิทธิภาพมากขึ้น  ซึ่งวันนี้ เรามีทีม พม.หนึ่งเดียว ลงไปสู้กับปัญหาหรือเผชิญกับปัญหาไม่ต้องรอให้ปัญหาเข้ามา เราจะได้เห็นมิติในมุมมองใหม่ๆ และจะเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาเรื่องของคนไร้ที่พึ่งได้ต่อไป 

นายธเนศพล กล่าวต่อไปอีกว่า วันนี้ ไม่ใช่อีเวนท์ แต่เป็นการดำเนินการเพื่อเกิดความร่วมมือร่วมใจทั้งประเทศ เพราะฉะนั้น วันนี้คนไร้ที่พึ่ง จำนวน 2,499 ราย กรุงเทพมหานครมีจำนวนมากที่สุด รองลงมาเป็น จังหวัดชลบุรี และเชียงใหม่ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าจังหวัดอื่นไม่ได้มีคนไร้ที่พึ่งหรือคนไร้บ้าน แต่ทุกจังหวัดเราจะมีทีม พม.หนึ่งเดียว ทั้ง 76 จังหวัด ลงไปแก้ไขปัญหา ซึ่งเราไม่คาดหวังให้คนไร้ที่พึ่งเพิ่มขึ้น แต่เราจะทำให้เขาได้กลับไปสู่ครอบครัว กลับสู่สังคม ให้เร็วที่สุดและดีที่สุด ซึ่งมีปัจจัยหลายอย่างไม่ว่าจะเป็นด้านสาธารณสุข จิตเวช เป็นต้น อย่างน้อยที่สุดเราจะทำให้เขาสมบูรณ์ที่สุดในการส่งเขากลับคืนสู่สังคม

นายอนุกูล กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับปัญหาด้านสุขภาพที่พบมากในกลุ่มคนไร้บ้านหรือคนไร้ที่พึ่งนั้น ส่วนใหญ่เป็นเรื่องจิตเวช มีสัดส่วนที่สูงถึงร้อยละ 70 ในคนไร้ที่พึ่งหรือคนไร้ที่บ้านรายเก่า แต่ถ้าเป็นกลุ่มคนไร้ที่พึ่งรายใหม่ก็จะมีจำนวนเล็กน้อย ทั้งนี้เราทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย อาทิ กรุงเทพมหานคร โดยสำนักการแพทย์ และกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งได้มีการทำ MOU ร่วมกันเมื่อปี 2566 เพื่อให้กลุ่มคนไร้บ้านเหล่านี้ได้เข้าสู่การรักษา  ดังนั้นสิ่งแรกที่ให้คนเหล่านี้ได้เข้าถึงคือการดูแลสุขภาพเบื้องต้น

นางจตุพร กล่าวทิ้งท้ายว่า ทั้งนี้ การดูแลคนไร้ที่พึ่ง เราจะดูแลคุณภาพชีวิตในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นด้านสาธารณสุข ความเป็นอยู่ อาชีพ การศึกษา รายได้ และการมีงานทำ ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่เราจะต้องให้ความสำคัญ และสิ่งหนึ่งคือคนไร้ที่พึ่งบางคนออกไปจากสังคมนานแล้ว เรื่องทักษะชีวิตในการเตรียมความพร้อมกลับเข้าสู่สังคมจึงเป็นสิ่งจำเป็น เป็นสิ่งที่กระทรวง พม. คำนึงถึง

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...