วันนี้ (13 มีนาคม 2567) สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ประสานไปยังสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ลงพื้นที่ติดตามกรณีที่ประชาชนให้ข้อมูลมาว่ามีกลุ่มอินฟลูเอนเซอร์ชาวจีน ทำการไลฟ์ขายสินค้าไม่ได้มาตรฐาน โดยเฉพาะเครื่องสำอางแบรนด์ดัง เช่น ยี่ห้อ Jovisse , ยี่ห้อ Jimsiga ที่บางชิ้นไม่ได้รับการจดแจ้งจาก อย. รวมถึงสินค้าบางประเภทมีราคาเกินจริง โดยมีกลุ่มผู้ติดตามหลักล้าน ซึ่งส่วนมากเป็นชาวจีนทั้งที่อาศัยในประเทศไทยและต่างประเทศ สร้างความเสียหายแก่ภาพลักษณ์และมาตรฐานสินค้าไทย
ซึ่งในการลงพื้นที่วันนี้ พ.ต.อ.ประทีป เจริญกัลป์ รองเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สนธิกำลังพร้อมด้วย พล.ต.ท.อิทธิพล อิทธิสารรณชัย ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ผบช.สตม.) มอบหมายให้ พล.ต.ต.พันธนะ นุชนารถ รอง ผบช.สตม. และเภสัชกรหญิง สุภัทรา บุญเสริม ผู้ทรงคุณวุฒิด้านมาตรฐานผลิตภัณฑ์ด้านสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) นำกำลังเข้าตรวจสอบ บริษัทสายสมรอินเตอร์กรุ๊ป ย่านบางนาเลียบถนนมอเตอร์เวย์ขาออก ตั้งอยู่ภายในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง โดยพบว่าบริษัทดังกล่าวจดทะเบียนนิติบุคคล ประกอบกิจการจำหน่าย นำเข้าและส่งออกหมอน ที่นอน ชุดชั้นในสตรีและเครื่องใช้ทุกชนิดที่ทำจากยางพาราและใยสังเคราะห์
โดย พ.ต.อ.ประทีป กล่าวว่า สคบ. ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภค ว่ามีกลุ่มชาวจีนใช้สถานที่บริษัทแห่งนี้ไลฟ์ขายสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน ไม่ได้รับการจดแจ้งกับ อย. โดยแอบอ้างว่าสินค้าบางประเภทเป็นสินค้าที่ผลิตในประเทศไทย ข้อเท็จจริงอาจเป็นสินค้าที่ผลิตในประเทศจีน จึงประสานกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และ องค์การอาหารและยา(อย.) เข้าตรวจสอบ
ด้าน พล.ต.ต.พันธนะ กล่าวว่า จากการตรวจสอบบริษัทดังกล่าว พบมีชาวต่างชาติอยู่ในบริษัทดังกล่าว 17 ราย โดยพบว่ามีชาย 1 หญิง 1 กำลังไลฟ์ขายสินค้า จึงได้ดำเนินการเข้าควบคุม โดยเบื้องต้นพบความผิดของผู้ที่กำลังไลฟ์ ว่ามีการทำงานของชาวต่างชาติโดยไม่ได้ขอใบอนุญาต ส่วนชาวต่างชาติอีก 15 คน จะต้องตรวจสอบว่ามีการกระทำความผิดอื่นอีกหรือไม่ ทั้งนี้ จากการตรวจสอบผู้ไลฟ์ขายสินค้า พบว่าเป็นอินฟลูเอนเซอร์ชาวจีน ที่มีผู้ติดตามกว่า 13 ล้านคน คาดว่ามีการจำหน่ายสินค้าจากการชักชวนของอินฟลูเอนเซอร์คนนี้เป็นจำนวนมาก
ด้านเภสัชกรหญิงสุภัทร ระบุว่า ในส่วนของ อย. พบ ผลิตภัณฑ์สมุนไพรและเครื่องสำอางที่ชาวจีนนิยม ซึ่ง อย. จะดำเนินการตรวจสอบพบว่ามีการผลิตสินค้าเหล่านี้ในประเทศไทยจริงหรือไม่ ขณะที่สินค้าบางตัวไม่พบฉลากภาษาไทยกำกับ คาดว่าสินค้าบางตัวน่าจะผลิตจากต่างประเทศ เบื้องต้นมีความผิดชัดเจน พร้อมฝากไปยังประชาชนหากสงสัยในตัวผลิตภัณฑ์ ว่าผ่านการจดแจ้งจาก อย. หรือไม่ สามารถตรวจสอบได้ผ่านเว็บไซต์ของ อย. โดยใส่เลขจดแจ้งที่ระบุด้านข้างของผลิตภัณฑ์ หรือสอบถามผ่านสายด่วน 1556
สำหรับการตรวจสอบเบื้องต้นพบการกระทำความผิด ดังนี้ 1) ขายสินค้าไม่ได้คุณภาพ ไม่ได้รับอนุญาต จำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 300,000 บาท 2) ขายสินค้าไม่ได้คุณภาพ ไม่มีทะเบียนตำรับ จำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท 3) ขายเครื่องสำอางไม่จดแจ้งปรับไม่เกิน 20,000 บาท และขายเครื่องสำอางไม่มีฉลากภาษาไทย มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน ปรับ 10,000 บาท