กรมชลประทาน เร่งปิดจุดทำนบดินบริเวณด้านข้างอาคารระบายน้ำล้นของอ่างเก็บน้ำห้วยเชียงคำ จ.มหาสารคาม หลังมีฝนตกหนัก ส่งผลให้ปริมาณน้ำกัดเซาะทำนบดิน ได้รับความเสียหาย ทำให้ปริมาณน้ำได้ไหลทะลักไปยังพื้นที่ด้านท้ายอ่างเก็บน้ำ
สำหรับอ่างเก็บน้ำห้วยเชียงคำ ต.โนนราษี อ.บรบือ จ.มหาสารคาม ก่อสร้างแล้วเสร็จและใช้งานมาตั้งแต่ปี 2499 มีอายุการใช้งานกว่า 68 ปี มีความจุเก็บกักที่ประมาณ 5.07 ล้านลูกบาศก์เมตร(ล้าน ลบ.ม.) มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯเฉลี่ย 24.20 ล้าน ลบ.ม./ปี (เมื่อเปรียบเทียบปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯ กับความจุเก็บกัก จะเห็นได้ว่าปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯ จะมากกว่าความจุเก็บกักถึง 4.77 เท่า ทำให้เขื่อนมีความเสี่ยงที่น้ำจะไหลล้นข้ามสันเขื่อน หากมีฝนมามากกว่าปกติ) ในขณะที่อาคารระบายน้ำล้น (Spillway) สามารถระบายน้ำได้สูงสุด 24.2 ลบ.ม./วินาที
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสร้างความปลอดภัยให้แก่ตัวเขื่อนที่ใช้งานมานาน ในงบประมาณ พ.ศ. 2567 กรมชลประทาน ได้ทำการปรับปรุงอาคารระบายน้ำล้น ให้สามารถระบายน้ำได้มากขึ้น จากเดิม 24.20 ลบ.ม./วินาที (2.09 ล้าน ลบ.ม./วัน) เป็น 54 ลบ.ม./วินาที (4.06 ล้าน ลบ.ม./วัน) ซึ่งในระหว่างดำเนินการ ได้เกิดเหตุการณ์ ดังนี้
1. วันที่ 15 ก.ค.67 มีปริมาณน้ำในอ่างฯประมาณ 2.72 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 54 % ของความจุออ่างฯ เนื่องจากมีฝนตกหนักในพื้นที่วัดปริมาณฝนได้มากกว่า 145.50 มิลลิเมตร (มม.) ทำให้มีน้ำไหลลงอ่างฯมากกว่า 3 ล้าน ลบ.ม. ส่งผลให้มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมมากกว่า 5.79 ล้าน ลบ. หรือคิดเป็น 114 % ของความจุอ่างฯ
2. ระดับน้ำในอ่างฯ ได้เอ่อล้นทำนบดินชั่วคราวไหลลงช่องอาคารระบายน้ำล้นเกิดการกัดเซาะอาคารและทำนบดิน เสียหายขาดเป็นความยาวประมาณ 50 เมตร ไหลลงสู่พื้นที่ท้ายอ่างฯได้รับผลกระทบ ประมาณ 3,000 ไร่
4. สำนักงานชลประทานที่ 6 โดยโครงการชลประทานมหาสารคาม ได้ระดมเครื่องจักร เครื่องมือ และวัสดุหินใหญ่ เข้าไปปิดกั้นน้ำทั้งสองฝั่งของทำนบดิน เพื่อไม่ให้เกิดดการพังเสียหายขยายเพิ่มเติม
5. สถานการณ์ปัจจุบันระดับน้ำอยู่ต่ำกว่าระดับกัดเซาะ ซึ่งเป็นระดับที่สามารถเข้าทำการปิดทำนบดินที่ขาดได้ ด้วยการทำพนังกั้นน้ำกึ่งถาวร เว้นช่วงให้น้ำไหลผ่านได้ เมื่อใกล้หมดฤดูฝนจะปิดทำนบแบบถาวร เพื่อให้สามารถเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งหน้าได้ต่อไป
สำหรับแนวทางการแก้ปัญหาเร่งด่วน นั้น ได้นำเครื่องจักร เครื่องมือลงพื้นที่ เข้าไปกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ เพื่อเร่งระบายน้ำลงลำน้ำเสียวใหญ่ และแม่น้ำมูลตามลำดับ เพื่อลดผลกระทบจากน้ำที่ไหลลงสู่พื้นที่ท้ายอ่างฯ คาดว่าพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบน้ำท่วม จะสามารถระบายน้ำได้ภายใน 5 วัน และกลับสู่ภาวะปกติ ซึ่งกรมชลประทานจะติดตามและควบคุมสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง จนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ