วันที่ 10 พฤศจิกายน 2567 ศูนย์สำรวจความคิดเห็นนิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลการสำรวจของประชาชน เรื่อง “พรรคการเมืองใดเดือดร้อนจากกรณีตากใบ” โดยสำรวจระหว่างวันที่ 5-8 พฤศจิกายน 2567 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ปัตตานี และยะลา กระจายทุกระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ รวมจำนวนทั้งสิ้น 1,067 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับความคิดเห็นของคน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีต่อพรรคการเมืองหลังจากคดีตากใบหมดอายุความ การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็น จากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของนิด้าโพล สุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน (Multi-stage Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่น ร้อยละ 95.0
เมื่อถามถึงพรรคการเมืองที่ได้รับผลกระทบในทางลบจากกรณีคดีตากใบที่หมดอายุความ พบว่า
ร้อยละ 55.20 ระบุว่า พรรคเพื่อไทย
ร้อยละ 29.99 ระบุว่า ไม่ส่งผลกระทบต่อพรรคการเมืองใด
ร้อยละ 4.69 ระบุว่า พรรคประชาชาติ
ร้อยละ 1.97 ระบุว่า พรรคประชาธิปัตย์
ร้อยละ 2.16 ระบุว่า อื่นๆ ได้แก่ พรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาชน พรรคภูมิใจไทย พรรครวมไทยสร้างชาติ
ร้อยละ 5.99 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
ทางด้านการส่งผลต่อการตัดสินใจในการเลือกตั้งครั้งต่อไปของคน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้หลังจากกรณีคดีตากใบที่หมดอายุความ พบว่า
ร้อยละ 39.55 ระบุว่า ไม่ส่งผลเลย
ร้อยละ 25.21 ระบุว่า ส่งผลมาก
ร้อยละ 23.62 ระบุว่า ค่อนข้างส่งผล
ร้อยละ 11.62 ระบุว่า ไม่ค่อยส่งผล
ส่วนคำถามถึงพรรคการเมืองที่คน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จะสนับสนุนในวันนี้ พบว่า
ร้อยละ 50.14 ระบุว่า ยังหาพรรคการเมืองที่เหมาะสมไม่ได้
ร้อยละ 18.85 ระบุว่า พรรคประชาชน
ร้อยละ 13.68 ระบุว่า พรรคประชาชาติ
ร้อยละ 5.44 ระบุว่า พรรคประชาธิปัตย์
ร้อยละ 4.69 ระบุว่า พรรคเพื่อไทย
ร้อยละ 2.62 ระบุว่า พรรครวมไทยสร้างชาติ
ร้อยละ 1.78 ระบุว่า พรรคพลังประชารัฐ และพรรคภูมิใจไทย ในสัดส่วนที่เท่ากัน
ร้อยละ 0.65 ระบุว่า อื่นๆ ได้แก่ พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคไทยสร้างไทย พรรคเป็นธรรม พรรคเสรีรวมไทย พรรคความหวังใหม่
ร้อยละ 0.37 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ