ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
คุณภาพชีวิต ย้อนกลับ
DPU ผนึก วิทยาลัยพณิชยการธนบุรี พัฒนานักศึกษาโลจิสติกส์
27 พ.ย. 2567

DPU ผนึก วิทยาลัยพณิชยการธนบุรี พัฒนานักศึกษาโลจิสติกส์ สู่ชัยชนะระดับประเทศ “การแข่งขันทักษะวิชาชีพและทักษะพื้นฐาน” ระดับอาชีวศึกษากรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 36

มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) ร่วมมือกับวิทยาลัยพณิชยการธนบุรี จัดกิจกรรมพัฒนาทักษะนักศึกษาด้านโลจิสติกส์และซัพพลายเชน จนนำไปสู่การคว้ารางวัลชนะเลิศการแข่งขันทักษะวิชาชีพการจัดการโลจิสติกส์และซัพพลายเชน (แบบจำลองสถานการณ์เบียร์เกม) ระดับชั้นประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ประเภททีม ระดับอาชีวศึกษากรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 36 ประจำปีการศึกษา 2567 เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา โดยทีมนักศึกษาที่ชนะเลิศประกอบด้วย นายอลงกรณ์ มณีฉาย, นายหิรัณย์ ศิริวัฒนา, นายเจษฎา ใจตรง, นายเศรษฐภูมิ ภูขีด และนายอนุกูล ครุฑโต โดย อาจารย์ปัณณพลวัชร์ เพชรวารี เป็นครูผู้ควบคุมทีม

การลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) ระหว่าง มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ และ วิทยาลัยพณิชยการธนบุรี เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางวิชาการ โดยมีกิจกรรมพัฒนาทักษะที่จัดขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาทิ การศึกษาดูงาน ณ ศูนย์กระจายสินค้า CDC1 บางบัวทอง (CP ALL) ซึ่งเป็นศูนย์กระจายสินค้าของร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven ที่มีระบบการจัดการโลจิสติกส์ที่ทันสมัย, การฝึกปฏิบัติเรียนรู้ผ่านเกมจำลองสถานการณ์ (Simulation Game) เพื่อฝึกการวางแผนจัดการโซ่อุปทานในสถานการณ์เสมือนจริง และการบรรยายจากผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรม ซึ่งส่งผลให้นักศึกษาได้รับการพัฒนาทักษะและประสบการณ์ด้านโลจิสติกส์และซัพพลายเชน เสริมสร้างความเข้าใจ และเพิ่มพูนทักษะการวางแผนในสถานการณ์จริง จนนำไปสู่การคว้ารางวัลชนะเลิศ

นายธนกฤต แซ่ชิว นักศึกษาเทียบโอน ชั้นปีที่ 2 หลักสูตรบริหารธุรกิจ วิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เปิดใจว่า รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นหนึ่งในกลุ่มรุ่นพี่ที่ได้ช่วยพัฒนาทักษะน้องๆ จากวิทยาลัยพณิชยการธนบุรี เนื่องจากความร่วมมือช่วยเปิดโลกทัศน์ใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการเสริมสร้างทักษะทั้งในด้านทฤษฎีและการปฏิบัติ นอกจากนี้เขายังรู้สึกภูมิใจที่ได้มีโอกาสถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ให้กับรุ่นน้อง โดยเชื่อมั่นว่าความสำเร็จที่เกิดขึ้นนี้เป็นผลมาจากความร่วมมืออย่างแท้จริง

“การร่วมมือระหว่างสองสถาบันทำให้เราได้สัมผัสมุมมองใหม่ๆ ที่ช่วยเสริมสร้างทักษะทั้งในด้านทฤษฎีและการปฏิบัติจริง ผมรู้สึกดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จนี้ และได้ช่วยถ่ายทอดความรู้ให้กับรุ่นน้อง เพราะทุกความสำเร็จที่เกิดขึ้นคือ ผลของความร่วมมือที่แท้จริง”

เช่นเดียวกับ นายเจษฎา ใจตรง ซึ่งเป็นหนึ่งในนักศึกษาจากที่เข้าร่วมกิจกรรมพัฒนาความร่วมมือดังกล่าว รู้สึกประทับใจอย่างมากกับประสบการณ์ที่ได้รับจากการทำงานร่วมกับอาจารย์ รุ่นพี่ และทีมงานจากมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ โดยเขามองว่ากิจกรรมนี้มีคุณค่าอย่างมาก เพราะนอกจากจะได้รับความรู้ด้านการจัดการโลจิสติกส์ในรูปแบบการบรรยายแล้ว รุ่นพี่จากมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ยังช่วยอธิบายกระบวนการคิด วิเคราะห์ และการวางกลยุทธ์อย่างละเอียด ผ่านกิจกรรมเกมและการลงพื้นที่ปฏิบัติงานจริง ซึ่งทำให้เขารู้สึกมั่นใจมากขึ้นในการแข่งขัน

ด้าน อาจารย์ปัณณพลวัชร์ เพชรวารี หัวหน้าแผนกวิชาการจัดการโลจิสติกส์และซัพพลายเชน วิทยาลัยพณิชยการธนบุรี กล่าวถึง ความสำเร็จของความร่วมมือระหว่างสองสถาบัน เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการสร้างความแข็งแกร่งให้กับหลักสูตรโลจิสติกส์ โดยการจัดกิจกรรมที่บูรณาการระหว่างการเรียนการสอนในห้องเรียนและการเรียนรู้นอกสถานที่ ไม่เพียงช่วยให้นักศึกษาได้รับความรู้ที่ลึกซึ้งขึ้น แต่ยังช่วยพัฒนาทักษะที่สำคัญสำหรับการทำงานในสายงานโลจิสติกส์ในอนาคต เช่น ทักษะการคิดเชิงกลยุทธ์ การแก้ปัญหา และการทำงานเป็นทีม

ขณะที่ ดร.สาริศา พิชัยฤกษ์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยพณิชยการธนบุรี ได้กล่าวเสริมถึงแผนในอนาคตว่า วิทยาลัยพณิชยการธนบุรีได้ตั้งเป้าที่จะต่อยอดความร่วมมือในรูปแบบต่างๆ เพื่อยกระดับการศึกษาของทั้งสองสถาบัน โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาศักยภาพของนักศึกษา ให้เป็นที่ยอมรับของสถานประกอบการระดับสากล เช่น การพัฒนาโครงการฝึกงานในองค์กรโลจิสติกส์ชั้นนำ หรือการจัดการแข่งขันเชิงปฏิบัติการในระดับภูมิภาค เพื่อให้นักศึกษาได้มีโอกาสแสดงศักยภาพ และเตรียมความพร้อมสำหรับการเข้าสู่อุตสาหกรรมการทำงานในอนาคต สามารถเป็นที่ยอมรับของสถานประกอบการระดับสากลได้

ดร.คุณากร วิวัฒนากรวงศ์ รองคณบดีวิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวย้ำว่า ความสำเร็จของความร่วมมือระหว่างสองสถาบัน ในการพัฒนาศักยภาพนักศึกษาด้านโลจิสติกส์ สะท้อนให้เห็นถึงพลังของการทำงานร่วมกัน โดยความสำเร็จในครั้งนี้ไม่เพียงแต่ “สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักศึกษา” เท่านั้น แต่ยังเป็นการ “ยกระดับคุณภาพของหลักสูตร” ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา และเตรียมความพร้อมของนักศึกษาให้สอดรับกับความต้องการของตลาดแรงงาน โดยเฉพาะในสาขาที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เช่น โลจิสติกส์

ชัยชนะและความสำเร็จในครั้งนี้ ไม่เพียงเป็นบทพิสูจน์ถึงคุณภาพของการสอน และการสนับสนุนจากคณาจารย์ที่มุ่งมั่นพัฒนาเยาวชนในสายงานโลจิสติกส์ ยังเปิดโอกาสให้นักศึกษาเป็นตัวแทนเข้าแข่งขันในระดับภาค (ภาคตะวันออกและกรุงเทพมหานคร) โดยจะเริ่มแข่งขันในระหว่างวันที่ 16 – 20 ธันวาคม 2567 ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญในการเสริมสร้างชื่อเสียง และประสบการณ์ที่มีค่าในระดับประเทศ

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 1 - 15 ธันวาคม 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...