ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
เกษตรนำไทย ย้อนกลับ
สศก.รุก 'แม่ฮ่องสอนโมเดล’ แจงภาพรวมครัวเรือนเกษตร
17 พ.ค. 2561

สศก. ร่วมขับเคลื่อน 'แม่ฮ่องสอนโมเดล' ติดตามเศรษฐกิจสังคมครัวเรือนในจังหวัด ระบุ ครัวเรือนมีรายได้ภาคเกษตรเฉลี่ยต่อปี 37,389 บาท และรายได้นอกภาคเกษตรเฉลี่ย43,573 บาท หนี้สินส่วนใหญ่น้อยกว่า 60,000 บาทต่อครัวเรือน รัฐพร้อมเดินหน้าทุกหน่วย ขับเคลื่อนโครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนครั้งแรกในประเทศไทย ใน 4 ตำบล ได้แก่ ปางหมู จองคำ ผาบ่อง และห้วยโป่ง รวม 1,750 แปลง

นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการติดตามสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนเกษตรกร เพื่อขับเคลื่อนแม่ฮ่องสอนโมเดลกับการแก้ไขปัญหาความยากจนของครัวเรือนเกษตรกร พบว่า จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีพื้นที่ประมาณ 7.9 ล้านไร่ พื้นที่ถือครองทางการเกษตรประมาณ 0.36 ล้านไร่ หรือร้อยละ4.5 ของพื้นที่จังหวัด มีครัวเรือนที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกร จำนวน 37,545 ครัวเรือน หรือร้อยละ 62 ของครัวเรือนทั้งหมด พืชเศรษฐกิจหลัก ได้แก่ ข้าว กระเทียม ถั่วเหลือง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กะหล่ำปลี พริก และด้านปศุสัตว์ เช่น โค กระบือ และสุกร ซึ่งการผลิตอาหารส่วนใหญ่ผลิตเพื่อการบริโภคภายในจังหวัดเป็นหลัก

ด้านเศรษฐกิจของครัวเรือนจังหวัดแม่ฮ่องสอน พบว่า ครัวเรือนมีรายได้ภาคเกษตรเฉลี่ย 37,389 บาทต่อครัวเรือนต่อปี รายได้นอกภาคเกษตรเฉลี่ย 43,573 บาทต่อครัวเรือนต่อปี ในด้านหนี้สิน พบว่า ประชากรที่มีหนี้สิน ส่วนใหญ่จะมีหนี้สินน้อยกว่า 60,000 บาทต่อครัวเรือน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 79.95 ของครัวเรือนที่มีหนี้สินทั้งหมด และประชากรที่มีหนี้สินมากกว่า 60,000บาท แต่ไม่เกิน 500,000 บาท คิดเป็นร้อยละ 19.37 ส่วนที่มีหนี้สินมากกว่า 500,000 บาท มีเพียงร้อยละ 0.6 โดยหนี้สินส่วนใหญ่ เป็นหนี้สินหมุนเวียนเพื่อจัดซื้อปัจจัยการผลิตทางการเกษตร

ทั้งนี้ ปัจจัยที่ส่งผลให้จังหวัดแม่ฮ่องสอนมีรายได้เฉลี่ยต่ำกว่าจังหวัดอื่น เนื่องจากสภาพพื้นที่ซึ่งส่วนใหญ่ เป็นภูเขา ผลผลิตทางการเกษตรต่ำ ชนิดพืชไม่หลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาหลักของเกษตรกรคือการไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง ประกอบกับการผลิตพืชของเกษตรกรในพื้นที่ที่ไม่ได้รับการรับรอง ทำให้เกษตรกรไม่ได้ขึ้นทะเบียนเกษตรกร

การที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนมีรายได้ครัวเรือนเฉลี่ยต่ำสุดและมีความเหลื่อมล้ำสูง รัฐบาลจึงได้ดำเนินนโยบายเพื่อการแก้ไขปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ หรือ "แม่ฮ่องสอนโมเดล" เพื่อยกระดับรายได้ และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ซึ่งมีแนวทางการดำเนินงานที่สำคัญคือ "การขับเคลื่อนโครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน (คทช.)" เป็นการจัดที่ดินทำกินให้แก่ประชาชนครั้งแรกในประเทศไทย โดยเกษตรกรจะได้รับสมุดประจำตัวในการจัดสรรที่ดินทำกินอย่างถูกต้อง ซึ่งที่ดินดังกล่าวไม่สามารถซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนได้

การที่เกษตรกรได้รับการจัดสรรที่ดินทำกินอย่างถูกต้อง จะช่วยลดข้อกีดกันทางการค้าจากต่างประเทศที่ไม่รับซื้อผลผลิตในพื้นที่ผิดกฎหมายและภาครัฐไม่รับรอง และเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาคนอยู่กับป่า ตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโครงการ "สร้างป่า สร้างรายได้" เพื่อฟื้นฟูป่าต้นน้ำลำธาร ที่ถูกทำลาย และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้แก่ประชาชนตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง

การจัดที่ทำกินให้ชุมชนในระยะแรก ดำเนินการในพื้นที่อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน จำนวน 4 ตำบล ได้แก่ ปางหมู จองคำ ผาบ่อง และห้วยโป่ง รวม 1,750 แปลง เป็นการจัดที่ทำกินในพื้นที่ป่าแม่ปายฝั่งซ้าย ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำในเขตป่าสงวนแห่งชาติ มีประชาชนอยู่ต่อเนื่องมาก่อนปี 2541 โดยพื้นที่ที่จัดที่ทำกินในระยะแรก คือพื้นที่ตำบลปางหมูและจองคำ ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัย ส่วนตำบลผาบ่องและห้วยโป่ง เป็นทั้งพื้นที่อยู่อาศัยและพื้นที่เกษตรบางส่วน

ทั้งนี้ จากการลงพื้นที่ของ สศก. และบูรณาการร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ ได้เสนอแนวทางในการเพิ่มรายได้และสร้างความมั่นคงในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมให้แก่เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ตาม "แม่ฮ่องสอนโมเดล" คือ 1) การสนับสนุนให้เกษตรกรที่ได้รับการจัดสรรที่ดินทำกินขึ้นทะเบียนเกษตรกร เพื่อให้สามารถเข้าถึงโอกาสในการได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐและการพัฒนาอาชีพด้านการเกษตรทั้งการผลิตและแปรรูปเพื่อพิ่มมูลค่า ซึ่งปัจจุบัน พืชเศรษฐกิจหลักของจังหวัด คือ ถั่วเหลือง และกระเทียม 2) ดำเนินการจัดตั้งสหกรณ์การเกษตรในพื้นที่ที่มีการจัดสรรที่ดินทำกิน การจัดตั้งวิสาหกิจชุมชน สนับสนุนอาชีพและการแปรรูปผลผลิตสินค้าเกษตร เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและยืดอายุผลผลิต

3) การส่งเสริมโครงการเกษตรแปลงใหญ่ 4) สนับสนุนการผลิตสินค้าปลอดภัยได้มาตรฐาน เช่น มาตรฐาน GAP 5) การประชาสัมพันธ์สินค้าของดีแม่ฮ่องสอนให้มากขึ้น เช่น คุณค่าและการใช้ประโยชน์จากถั่วเน่า 6) การสนับสนุนเครือข่ายการท่องเที่ยวเชิงเกษตรนิเวศน์ (Agro-Tourism) และ 7) การพัฒนาจุดผ่อนปรนทางการค้าบ้านห้วยต้นนุ่น ในอำเภอขุนยวม เขตติดต่อกับเมืองหลอยก่อ ซึ่งเป็นเมืองหลวงของรัฐคะยา สหภาพเมียนมา เป็นเส้นทางที่สามารถสัญจรไปยังเมืองต่างๆ จะช่วยให้มีนักท่องเที่ยวมากขึ้น มีการค้าการลงทุนเพิ่มมากขึ้น

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...