นายวีระพล จิระประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า กกพ.มีมติตรึงค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) เรียกเก็บงวดเดือนก.ย.-ธ.ค.2561 ไว้ที่ -15.90 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยผู้ใช้ไฟฟ้าทุกประเภทอยู่ที่ 3.5966 บาทต่อหน่วย ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยให้นำเงินค่าเอฟทีสะสมมาชดเชยค่าเอฟทีรอบนี้ 3,933 ล้านบาท จากเงินสะสมที่มี 15,297 ล้านบาท คงเหลือเงินสะสม 11,364 ล้านบาท
โดยนำเงินสะสมมาใช้ หากไม่นำเงินสะสมมาใช้พยุงค่าเอฟที จะส่งผลให้ค่าเอฟทีสูงขึ้น 7.46 สตางค์ต่อหน่วย ตามราคาก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักที่ใช้การผลิตไฟฟ้ารวมค่าผ่านท่อและค่าดำเนินการที่สูงขึ้นถึง 17.54 บาทต่อล้านบีทียู ประกอบกับค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงจากประมาณการที่ใช้คำนวณค่าเอฟทีช่วงเดือนพ.ค.-ส.ค.2561 จาก 32.05 บาทต่อเหรียญสหรัฐ เป็น 32.14 บาทต่อเหรียญสหรัฐ และมีแนวโน้มอ่อนค่าต่อเนื่อง จึงเก็บเงินส่วนหนึ่งไว้ไปพยุงค่าเอฟทีในงวดเดือนม.ค.-เม.ย.2562 ซึ่งคาดว่าจะใช้เงินอีกประมาณ 8,475 ล้านบาท เพื่อไม่ให้ค่าเอฟทีสูงขึ้นมากจนเกินไป ช่วยบรรเทาภาระผู้ใช้ไฟฟ้า
ทั้งนี้ คาดว่าความต้องการพลังงานไฟฟ้าในช่วงเดือนก.ย.-ธ.ค.2561 อยู่ที่ 62,046 ล้านหน่วย ลดลง 5.74% จากช่วงเดือนพ.ค-ส.ค.2561 คิดเป็น 3,781 ล้านหน่วย สัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงการผลิตไฟฟ้าในช่วงเดือนก.ย.-ธ.ค.2561 ยังคงใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลัก 60.55% ซึ่งประเมินแนวโน้มราคาก๊าซธรรมชาติรวมค่าผ่านท่ออยู่ที่ 279.94 บาทต่อล้านบีทียู เพิ่มขึ้นจากงวดที่ผ่านมา 17.54 บาทต่อล้านบีทียู อีกทั้งยังมีค่าใช้จ่ายในการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนตามนโยบายของภาครัฐในส่วนแอดเดอร์และการรับซื้อไฟฟ้าในอัตราคงที่ตลอดอายุโครงการ (ฟีดอินทารีฟ หรือ FiT) ในเดือนก.ย.-ธ.ค.2561 เพิ่มขึ้น 678.72 ล้านบาท จากงวดเดือนพ.ค.-ส.ค.2561 อยู่ที่ 15,072.28 ล้านบาท มาอยู่ที่ 15,751 ล้านบาท