ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
การเมือง / การปกครอง ย้อนกลับ
นายกรัฐมนตรีเยี่ยมชมการบริหารจัดการน้ำโครงการพัฒนาพื้นที่หนองใหญ่ตามพระราชดำริ จ.ชุมพร ซึ่งเป็นการพัฒนาแก้มลิงธรรมชาติให้สามารถใช้ในการบรรเทาอุทกภัยของชุมพร
20 ส.ค. 2561

วันนี้ (20 ส.ค.61) เวลา 16.00 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะ อาทิ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย  พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เดินทางมาเยี่ยมชมการบริหารจัดการน้ำโครงการพัฒนาพื้นที่หนองใหญ่ตามพระราชดำริ ตำบลบางลึก อำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร ซึ่งเป็นการพัฒนาแก้มลิงธรรมชาติให้สามารถใช้ในการบรรเทาอุทกภัยของชุมพรและสามารถเก็บกักน้ำไว้ใช้ในการเกษตรและอุปโภคบริโภค  พร้อมพบปะประชาชนในพื้นที่ โดยมีนายวิบูลย์ รัตนาภรณ์วงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร หัวหน้าส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และประชาชนชาวชุมพร ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น
        
ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร ได้กล่าวในนามประชาชนในพื้นที่จังหวัดชุมพรว่า รู้สึกยินดีและขอบคุณนายกรัฐมนตรีและคณะที่เล็งเห็นศักยภาพและใช้พื้นที่จังหวัดชุมพรเป็นที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ โดยจังหวัดชุมพรเป็นประตูสู่ภาคใต้ มีประชากรทั้งสิ้น 510,594 คน แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 8 อำเภอ 70 ตำบล 737 หมู่บ้าน ผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดมีมูลค่า 82,250 ล้านบาท เป็นอันดับ 6 ของภาคใต้ ลำดับที่ 32 ของประเทศ ปัจจัยหลักด้านเศรษฐกิจจังหวัดชุมพร ได้แก่ ภาคการเกษตรและภาคการท่องเที่ยว โดยมีผลผลิตด้านการเกษตรที่สำคัญได้แก่ ปาล์มน้ำมัน ทุเรียน ยางพารา กาแฟ โดยในปี 2560 สามารถสร้างรายได้ 25,000 ล้านบาทเศษ ด้านการท่องเที่ยว มีนักท่องเที่ยวมาเยือนจังหวัดชุมพร ประมาณ 1,400,000 คน สร้างรายได้โดยรวมประมาณ 6,700 ล้านบาท
 
สำหรับโครงการพัฒนาพื้นที่หนองใหญ่ตามพระราชดำริแห่งนี้ เป็นโครงการที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสามารถบริหารจัดการน้ำไม่ให้เกิดน้ำท่วมในเขตเทศบาลเมืองชุมพรมาเป็นเวลากว่า 20 ปีมาแล้ว จนเป็นที่มาของคำว่า “ด้วยพระเมตตาบารมี ชุมพรวันนี้สุขร่มเย็น” 
          
จากนั้น นายกรัฐมนตรี รับฟังบรรยายสรุปรายงานโครงการพัฒนาพื้นที่หนองใหญ่ตามพระราชดำริและการบริหารจัดการน้ำในจังหวัดชุมพร จากนายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน ดังนี้ พื้นที่หนองใหญ่ อยู่ในเขตตำบลบางลึก อำเภอเมืองชุมพร รับน้ำจากคลองต่าง ๆ ที่อยู่รอบบริเวณหนองใหญ่ เช่น คลองละมุ ซึ่งรับน้ำจากคลองท่าแซะ คลองขี้นาค (ต้นคลองอยู่ในเขตตำบลนากระตาม อำเภอท่าแซะ) และคลองกรูด (ต้นคลอง อยู่ในเขตตำบลสะพลี อำเภอปะทิว) ปัจจุบันโครงการพัฒนาพื้นที่หนองใหญ่ตามพระราชดำริ สามารถกักเก็บน้ำได้สุดสูง 3,000,000 ลบ.ม. และมีปริมาณ น้ำไหลเข้า 210 ลบ.ม./วินาที สำหรับโครงการพัฒนาพื้นที่หนองใหญ่ให้เป็นแก้มลิงธรรมชาตินั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อบรรเทาปัญหาอุทกภัยในเมืองชุมพรและเป็นแหล่งน้ำสำรองสำหรับการเกษตรกรรมและผลิตน้ำประปาสำหรับชุมชนในอนาคต
         
ทั้งนี้ สืบเนื่องจาก ในปี 2540 อิทธิพลของพายุโซนร้อนซีต้าทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนทั้งชีวิตและทรัพย์สินรวมทั้งเส้นทางคมนาคมขึ้น-ลงภาคใต้ก็ไม่สามารถสัญจรได้ กรมชลประทานจึงได้น้อมนำพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ได้พระราชทานเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2540 เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาอุทกภัยของจังหวัดชุมพรและโครงการการพัฒนาหนองใหญ่ ดำเนินงานสนองพระราชดำรัส อาทิ ก่อสร้างประตูระบายน้ำราชประชานุเคราะห์ บนคันคลองหัววัง - พนังตัก จำนวน 3 แห่ง ขุดลอกคูริมคลองชลประทาน ระยะทาง 500 เมตร ก่อสร้างประตูระบายน้ำพนังตัก ระบายน้ำได้ 580 ลบ.ม./วินาที ขุดคลองล้อมรอบหนองน้ำ ระยะทาง 2,528 เมตร ก่อสร้างประตูระบายน้ำหัววัง ระบายน้ำได้ 420 ลบ.ม./วินาที ขุดลอกหนอง เพื่อเพิ่มปริมาณเก็บกักน้ำจาก 2 ล้าน ลบ.ม. เป็น 3 ล้าน ลบ.ม. ก่อสร้างท่อระบายน้ำหนองใหญ่ จำนวน 3 แถว ดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อปี 2546 เพื่อช่วยระบายน้ำจากหนองใหญ่ลงคลองหัววัง-พนังตัก โครงการก่อสร้างอาคารป้องกันการกัดเซาะตลิ่งคลอง ลักษณะงานเป็นหินใหญ่ บรรจุกล่องตาข่าย ปีงบประมาณ 2546 และปีงบประมาณ 2560 เพิ่มเติม ขุดลอกคลองหัววัง-พนังตัก ขุดคูรอบหนองใหญ่ตอนบน ยาวประมาณ 5,000 เมตร โครงการขุดลอกแก้มลิงหนองใหญ่ พร้อมอาคารประกอบ ปีงบประมาณ 2558 โครงการขุดลอกพื้นที่แก้มลิงหนองใหญ่ ปีงบประมาณ 2559 และโครงการปรับปรุงแก้มลิงหนองใหญ่ ปีงบประมาณ 2561 เพิ่มเติม เป็นต้น
          
จากการดำเนินการดังกล่าวสามารถช่วยบรรเทาอุทกภัยในเขตตัวเมืองชุมพร รวมทั้งเป็นแหล่งเก็บกักน้ำช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรในฤดูแล้ง และแหล่งน้ำดิบสำหรับผลิตน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค 3,000,000 ลบ.ม. นอกจากนี้ ภายในพื้นที่โครงการฯ ยังเป็นที่ตั้งของ “ศูนย์เรียนรู้ โครงการพัฒนาพื้นที่หนองใหญ่ตามพระราชดำริ ” เพื่อเป็นศูนย์ต้นแบบถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับพระราชกรณียกิจ และพระอัจฉริยภาพของในหลวงรัชกาลที่ 9 ในการบริหารจัดการน้ำ รวมทั้งเป็นสถานที่ศึกษาเรียนรู้ วิถีชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง
          
พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรี ได้เป็นสักขีพยานในพิธีมอบหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยพื้นที่เป้าหมายการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนในพื้นที่ภาคใต้ จำนวน 12 พื้นที่ 4 จังหวัด (กระบี่ ระนอง นครศรีธรรมราช และชุมพร) เนื้อที่รวม 2,903-2-44 ไร่ จัดคนลงในพื้นที่ จำนวน 564  ราย 654 แปลง และพิธีมอบหนังสือแสดงโครงการป่าชุมชนให้ชุมชนในพื้นที่ภาคใต้ จำนวน 11 พื้นที่ 11 จังหวัด (จังหวัดสุราษฎร์ธานี ชุมพร ระนอง นครศรีธรรมราช ตรัง พัทลุง สงขลา สตูล กระบี่ พังงา และจังหวัดภูเก็ต ) เนื้อที่รวม 9,546-0-37 ไร่ โดยมีพลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และนายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำพิธีมอบหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ฯ ให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 4 จังหวัด (กระบี่ ระนอง นครศรีธรรมราช และชุมพร) ก่อนส่งมอบต่อให้กับผู้แทนชุมชนของแต่ละพื้นที่ รวมทั้งมอบหนังสือแสดงโครงการป่าชุมชนให้ชุมชนในพื้นที่ภาคใต้ จำนวน 11 พื้นที่ 11 จังหวัดให้กับผู้แทนป่าชุมชนในพื้นที่ภาคใต้ของแต่ละจังหวัด

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวกับประชาชนที่มาให้การต้อนรับว่า รู้สึกดีใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้มาพบปะกับประชาชนชาวจังหวัดชุมพรในวันนี้ และได้มารับทราบข้อมูลปัญหาต่าง ๆ รวมทั้งความต้องการของประชาชนในพื้นที่ เพื่อจะได้นำไปเป็นแนวทางในการแก้ไขและพัฒนา ซึ่งจะเป็นการยกระดับศักยภาพของจังหวัดและคุณภาพชีวิตของประชาชนชาวชุมพรให้ดียิ่งขึ้น ทั้งนี้ ก่อนการที่จะมีการประชุมประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 6/2561 ณ จังหวัดชุมพรในวันพรุ่งนี้ (21 สิงหาคม 2561) วันนี้ได้มอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีทุกคนลงพื้นที่เยี่ยมเยียนประชาชนในพื้นที่อื่นของจังหวัดภาคใต้ด้วย ซึ่งการเดินทางมาครั้งนี้ไม่ใช่เป็นการสนับสนุนเรื่องของงบประมาณเพียงอย่างเดียว แต่มาเพื่อติดตามความก้าวหน้าเรื่องของงบประมาณแผนงานโครงการต่าง ๆ ตามนโยบายรัฐบาลที่ได้อนุมัติลงมาแล้วทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ว่ามีความคืบหน้ามากน้อยเพียงใด ซึ่งถือเป็นการสื่อสารสองทางของการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลปัจจุบัน โดยตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมาของการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลนั้น ระยะ 2 -3 ปีแรกเป็นการแก้ไขปัญหาและขจัดอุปสรรค ทั้งเรื่องกายภาพ กฎหมาย วิธีการบริหารจัดการทั้งหมด จนวันนี้สามารถเกิดผลเป็นรูปธรรมและนำสู่การปฏิบัติได้ เช่น พิธีมอบหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัย เพื่อให้ประชาชนมีพื้นที่ดินทำกิน และมอบหนังสือแสดงโครงการป่าชุมชนตามนโยบายของรัฐบาล และในปีที่ 4 เป็นการวางรากฐานของประเทศโดยเฉพาะการวางยุทศาสตร์ชาติ 20 ปี ก่อนส่งต่อให้รัฐบาลชุดใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งโดยได้แสดงความหวังว่า การดำเนินการดังกล่าวจะเกิดประโยชน์กับประชาชนในการประกอบอาชีพอย่างมั่นคง และสามารถพัฒนาศักยภาพของผลิตผลให้มีคุณภาพ เพื่อจะช่วยสร้างมูลค่าให้กับสินค้า สร้างรายได้ที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต และมีสภาพแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ เพื่อให้การอยู่อาศัยของประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี 
  
นายกรัฐมนตรีกล่าวยืนยัน ไม่ห่วงเรื่องการบริหารจัดการน้ำของจังหวัดชุมพร แต่มีความห่วงใยเรื่องของไฟฟ้าส่องสว่างและความเป็นระเบียบของสายไฟฟ้า ซึ่งตรงนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องไปดำเนินการให้เรียบร้อย อย่าให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน รวมถึงเรื่องการบริหารจัดการขยะในพื้นที่ต้องดำเนินการให้มีประสิทธิภาพ โดยมอบหมายให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไปดำเนินการ ขณะเดียวกันได้ขอความร่วมมือประชาชนในพื้นที่ช่วยกันลดปัญหาขยะด้วยการลดหรืองดใช้ถุงพลาสติก หันมาใช้ถุงผ้าแทนจะสามารถช่วยแก้ไขปัญหาขยะในพื้นที่อีกทางหนึ่ง

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำให้ประชาชนจังหวัดชุมพรปลูกพืชแบบผสมผสาน น้อมนำเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มาปฏิบัติโดยเฉพาะการปลูกพืชนิดอื่นแซมการปลูกยางพาราและมะพร้าว เพื่อให้ระหว่างที่รอผลผลิตจากยางและมะพร้าว สามารถมีผลผลิตจากพืชอื่นไว้บริโภคและสามารถจำหน่ายได้เพื่อจะได้มีรายเพิ่มขึ้นอีกทางหนึ่ง
   
พร้อมทั้ง นายกรัฐมนตรีได้กล่าวย้ำถึงศักยภาพของจังหวัดชุมพรว่า เป็นประตูสู่ภาคใต้ และเชื่อมโยงพื้นที่ฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน ซึ่งมีศักยภาพในด้านการท่องเที่ยวที่โดดเด่น เป็นจุดเด่นในเรื่องการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติและเชิงเกษตร โดยเป็นแหล่งปลูกกาแฟที่สำคัญของภาคใต้และประเทศไทย สามารถสร้างรายได้เข้าสู่จังหวัดเป็นจำนวนมาก พร้อมทั้งมีแบรนด์กาแฟที่มีชื่อเสียงได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคที่รักกาแฟ และยังมีสินค้าเกษตรที่สามารถนำมาแปรรูปจนได้รับความนิยมจากประชาชน รวมถึงการเชื่อมต่อทางกายภาพ ทั้งการเชื่อมต่อเส้นทางคมนาคม สนามบิน ตลอดจนเรื่องของรถไฟทางคู่ และมีการเชื่อมโยงทั้งฝั่งตะวันตกและฝั่นตะวันออก คือพื้นที่ฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน โดยในฝั่งของจังหวัดชุมพรคือฝั่งอ่าวไทย เรียกว่าริเวียราเมืองไทยมีชายหาดที่สวยงามซึ่งจะต้องเน้นเรื่องของการท่องเที่ยวซึ่งนับวันจะเจริญเติบโตมากขึ้น ซึ่งประเทศไทยมีคนนิยมมาท่องเที่ยวเป็นอันดับต้นของโลก พร้อมกันนี้ ต้องคำนึงถึงความมั่นคง และความปลอดภัย การประกอบอาชีพต่าง ๆ ที่โปร่งใส มีประสิทธิภาพ รวมไปถึงต้องมีการเชื่อมโยงภาคธุรกิจ และภาคประชาชนเข้าด้วยก้น  โดยรัฐบาลมุ่งหวังที่จะวางโครงสร้างต่าง ๆ ขึ้นมาใหม่ โดยเฉพาะในการจัดหารายได้เข้าประเทศ เช่น การจัดเก็บภาษี สร้างกลไก EEC ให้เกิดขึ้นในภาคตะวันออก รวมถึงการเน้นในเรื่องของอาหาร ผลไม้  ประมง ท่องเที่ยว ดังนั้นรัฐบาลจะเชื่อมโยงพื้นที่ฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามันให้ถึงกันให้ได้ด้วยเส้นทางคมนาคม รถไฟทางคู่ เชื่อมโยงไปสู่ประเทศเพื่อนบ้าน และขยายไปสู่ประเทศอื่น ๆ ของโลกต่อไปด้วย

นอกจากนั้น จังหวัดชุมพรยังเป็นฐานการผลิตพืชเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ ทั้งยางพารา ปาล์มน้ำมัน ไม้ผลต่าง ๆ ซึ่งถือเป็นจุดแข็งที่ต้องมาร่วมมือกันพัฒนาและส่งเสริมศักยภาพการเกษตรให้มีคุณภาพยิ่งขึ้น เพื่อเป็นการเพิ่มรายได้ให้แก่จังหวัดและประชาชนชาวชุมพร ขณะเดียวกันยังมีจุดเชื่อมโยงการคมนาคม มีเครือข่ายทางบก ทางรถไฟ ทางอากาศ ท่าเรือน้ำลึก ทำให้การขนส่งมีความสะดวก เอื้ออำนวยต่อการประกอบธุรกิจในวงกว้าง และการทำงานอย่างบูรณาการของกลุ่มจังหวัดภาคใต้ตอนบนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ จากศักยภาพที่จังหวัดชุมพรมีอยู่นั้น จะทำอย่างไรที่จะสามารถเพิ่มมูลค่าให้สูงขึ้นได้ทั้งในแง่ของวัตถุดิบ และเป็นผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปแล้ว โดยเฉพาะการทำให้พืชผลมีคุณภาพตั้งแต่กระบวนการเพาะปลูก การดูแล การผลิต การแปรรูป และที่สำคัญคือการตลาดที่เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคอย่างแท้จริง 

นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวยืนยันถึงการเดินทางลงพื้นที่มาตรวจราชการจังหวัดระนองและจังหวัดชุมพร และประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 6/2561 ณ จังหวัดชุมพร ระหว่างวันที่ 20 – 21 สิงหาคม 2561 ว่า ไม่ได้มาเรื่องของการเมือง แต่มาเพื่อรับฟังปัญหาต่าง ๆ จากประชาชน และติดตามความก้าวหน้าของการดำเนินงานตามแผนงานโครงการต่าง ๆ ที่รัฐบาลได้สนับสนุนงบประมาณลงมาในพื้นที่ รวมทั้งโครงการแผนงานที่จะทำต่อไปในอนาคต โดยเฉพาะแผนแม่บทและแผนปฏิบัติการต้องเกิดขึ้นให้ได้ก่อนที่จะมีรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาบริหารราชการแผ่นดินต่อ ซึ่งการที่ประชาชนจะเลือกบุคคลใดเข้ามาก็เป็นดุลยพินิจของแต่ละคน แต่ขอให้ตัดสินใจให้ดี พร้อมกล่าวขอบคุณทุกภาคส่วนที่ได้ช่วยกันทำงานให้เกิดผลเป็นรูปธรรม
 
จากนั้น นายกรัฐมนตรีและคณะ ได้เยี่ยมชมนิทรรศการ “ด้วยพระบารมี ชุมพรวันนี้สุขร่มเย็น” เช่น การบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรมจังหวัดชุมพร Agri-map การแสดงพื้นที่ก่อสร้างโครงการฝายชะลอน้ำ ตำบลหินแก้ว อำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร  วิธีการผลิตไหมตามมาตรฐาน มกษ. 8000-2555 ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มหม่อนไหมบ้านป่ากล้วย รวมถึงการแสดง Mobile Application Smart me (เรารู้) ของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ซึ่งเป็นแอปพลิเคชั่นสำหรับเกษตรกรและประชาชนทั่วไปใช้ในการบันทึกบัญชีครัวเรือน (รายรับ - รายจ่าย) และบัญชีต้นทุนอาชีพ (รายได้และต้นทุน/ค่าใช้จ่าย) เพื่อวางแแผนการใช้จ่ายและแผนการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผลผลิตและผลิตภัณฑ์แปรรูปเกษตรแปลงใหญ่จังหวัดชุมพร อาทิ มะพร้าว กล้วยหอม กล้วยเล็บมือนาง มังคุด สับปะรด ปาล์ม เป็นต้น 

พร้อมเยี่ยมชมโครงการแก้มลิงหนองใหญ่ และสะพานไม้เคี่ยมซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของแก้มลิงหนองใหญ่จังหวัดชุมพร เริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปี 2552 โดยใช้ทีมงานสร้าง 7 คน ใช้เวลาประมาณ 1 เดือนครึ่ง ระยะทางความยาว 290 เมตร กว้าง 1.2  เมตร มีลักษณะคดโค้งเป็นรูปตัว S สาเหตุที่ต้องใช้ไม้เคี่ยม เนื่องจากเป็นไม้ที่ทนน้ำ ทนแดด และทนฝน อย่างไรก็ตามเนื่องจากสะพานไม้เคี่ยมดังกล่าวได้ก่อสร้างมานานเกือบ 10 ปี ทำให้เกิดการชำรุดทรุดโทรมเป็นอย่างมาก โดยเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2561 จังหวัดชุมพรจึงได้ร่วมกับกลุ่มพลังมวลชน และภาคส่วนต่าง ๆ ในจังหวัด ร่วมกันบูรณะสะพานไม้เคี่ยมในโครงการพัฒนาพื้นที่หนองใหญ่ตามพระราชดำริ โดยสามารถดำเนินการเสร็จภายในวันเดียว ปัจจุบันสะพานไม้เคี่ยมมีความยาวทั้งหมดประมาณ 1 กิโลเมตรกว่า
          
ต่อจากนั้น นายกรัฐมนตรีและคณะ ออกเดินทางจากโครงการพัฒนาพื้นที่หนองใหญ่ฯ ไปยังศาลกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ตำบลหาดทรายรี อำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร เพื่อสักการะอนุสรณ์สถาน พลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ต่อไป

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...