ไทยร่วมมือประเทศสมาชิกอาเซียนพัฒนาแนวทางการดำเนินงานด้านการเกษตรและป่าไม้ มุ่งสร้างการยอมรับระบบการตรวจสอบรับรองที่ได้มาตรฐาน และสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชากรโลก
นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสของการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านการเกษตรและป่าไม้ ครั้งที่ 39 สมัยพิเศษ (Special SOM-39th AMAF) และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ณ เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี ว่า ที่ประชุมได้รับทราบและให้ความเห็นชอบกรอบนโยบายการดำเนินงาน โครงการ ด้านอาหาร การเกษตร และป่าไม้ และรับทราบถึงสถานการณ์การผลิตและการบริโภคสินค้าเกษตรที่สำคัญ 5 ชนิด ได้แก่ ข้าว น้ำตาล ถั่วเหลือง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมันสำปะหลัง ของโลกและของภูมิภาคอาเซียน รวมถึงความก้าวหน้าในการดำเนินงานของ ASEAN Plus Three Emergency Rice Reserve (APTERR) และระบบข้อมูลสารสนเทศความมั่นคงทางอาหารในภูมิภาคอาเซียนบวกสาม (ASEAN Food Security Information System: AFSIS) ในพืชอาหารที่สำคัญ 5 ชนิด คือ ข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพด ถั่วเหลือง และอ้อย รวมทั้งข้อมูลพื้นฐานอื่นของประเทศในภูมิภาคอาเซียน โดยมีประเทศไทย (สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร) เป็นผู้บริหารจัดการและดำเนินงาน
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับทราบความก้าวหน้าการดำเนินงานและให้ความเห็นชอบข้อสรุปของการประชุมคณะทำงานด้านเกษตรในสาขาต่าง ๆ ภายใต้ความร่วมมือด้านเกษตรและป่าไม้ อาทิ คณะทำงานอาเซียนด้านอาหารฮาลาล คณะทำงานอาเซียนด้านปศุสัตว์ คณะทำงานอาเซียนด้านพืช คณะทำงานอาเซียนด้านประมง คณะทำงานอาเซียนส่งเสริมการเกษตรและการฝึกอบรม คณะทำงานอาเซียนด้านการวิจัยและพัฒนาเกษตร เป็นต้น อีกทั้งยังเห็นชอบให้เสนอร่างมาตรฐานความปลอดภัยอาหาร ให้ที่ประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านการเกษตรและป่าไม้ (ASEAN Ministers on Agriculture and Forestry: AMAF) ครั้งที่ 40 ที่จะจัดขึ้นในเดือนตุลาคม 2561 ณ ประเทศเวียดนาม เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ อาทิ มาตรฐานผลิตผลพืชสวนและพืชอาหารอื่นของอาเซียน ค่าปริมาณสารพิษตกค้างของอาเซียน ร่างแนวทางของอาเซียนสำหรับการรับรองการเกษตรอินทรีย์ ร่างมาตรฐานอาเซียนสำหรับมะพร้าว (แก่) ร่างมาตรฐานอาเซียนสำหรับทุเรียนเทศ ร่างมาตรฐานอาเซียนสำหรับเผือกราก และร่างคู่มือการอธิบายความตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของอาเซียน และเห็นชอบร่างมาตรฐานการจัดทำมาตรฐานการเลี้ยงที่ดี ASEAN Good Animal Husbandry Practices (GAHP) ของสุกร และนำไปสู่การปฏิบัติในประเทศสมาชิกอาเซียนแต่ละประเทศต่อไป ทั้งนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบให้มีการลงนาม MOU between ASEAN- FAO on Strengthening Cooperation in Agriculture and Forestry ในการประชุม AMAF ครั้งที่ 40 ด้วย
อย่างไรก็ตาม การจัดทำมาตรฐานผัก ผลไม้ และพืชอาหารของอาเซียนจะเกิดประโยชน์สูงสุดทั้งต่อประเทศไทย และประเทศในอาเซียน โดยจะเป็นการสร้างการยอมรับระบบการตรวจสอบรับรองที่ได้มาตรฐาน และสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชากรโลก นอกจากนี้ ประเทศไทยยังได้แสดงศักยภาพและบทบาทในการเป็นผู้นำด้านการเกษตร รวมถึงได้สนับสนุนกิจกรรมของอาเซียนที่ช่วยเสริมสร้างความร่วมมือและความสัมพันธ์ด้านเกษตรและป่าไม้ระหว่างไทยกับประเทศอาเซียน ประเทศจีน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี และสหพันธรัฐรัสเซียด้วย
นายเลิศวิโรจน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ประเทศไทยยังได้นำเสนอต่อที่ประชุม เรื่อง Strengthening ASEAN collaboration on Sustainable Soil Management in Asian Soil Partnership (ASP) of the Food and Agriculture Organization of the United Nations เพื่อให้มีการสร้างความเข็มแข็งของกลุ่มประเทศอาเซียนบวกสาม ภายใต้กรอบความร่วมมือสมัชชาดินแห่งภูมิภาคเอเชียเพื่อการจัดการดินอย่างยั่งยืน ซึ่งจะนำไปสู่การขจัดความอดอยากหิวโหยและสร้างความมั่นคงทางอาหารของเอเชีย
“การเพิ่มประสิทธิภาพด้านการแข่งขันของสินค้าอาหาร การเกษตร และป่าไม้ของอาเซียนในตลาดโลก จะสร้างความเชื่อมั่นเรื่องความมั่นคงและความปลอดภัยด้านอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการอย่างเท่าเทียมกัน มีการบริหารจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน ทำให้การเกษตรและป่าไม้ รวมทั้งการผลิตอาหารและสินค้าเกษตรมีความครอบคลุม ยืดหยุ่น และยั่งยืน สามารถบูรณาการเข้ากับระบบเศรษฐกิจโลก มีการเตรียมความพร้อมเพื่อให้การเกษตรและป่าไม้ของอาเซียนสามารถบรรเทาและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภัยธรรมชาติ และภัยพิบัติอื่น ๆ รวมทั้งการร่วมกันแก้ไขปัญหาและประเด็นท้าทายที่มีผลกระทบต่อประเทศไทยและภูมิภาคในภาพรวม และช่วยให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ ปี 2573” นายเลิศวิโรจน์ กล่าว