ก.เกษตรฯ เสนองบรายจ่ายประจำปี 63 แจงกรอบวงเงินรวม 246,998 ล้านบาท ใน 4 กลุ่มหลัก เพื่อมุ่งขับเคลื่อนภารกิจโครงการ แผนงานให้สำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพ ยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร
นางสาวทัศนีย์ เมืองแก้ว รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า สศก.ในฐานะหน่วยงานจัดทำงบประมาณในภาพของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) ได้เสนอของบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ วงเงินเสนอขอเบื้องต้นรวมทั้งสิ้น 246,998 ล้านบาท สามารถจำแนกเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้ 1. กลุ่มงบประมาณรายจ่ายบุคลากรภาครัฐ จำนวน 26,656 ล้านบาท 2. กลุ่มงบประมาณรายจ่ายของกระทรวง/หน่วยงาน (Function) จำนวน 82,838 ล้านบาท 3. กลุ่มงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ (Agenda) ที่ กษ.เกี่ยวข้อง รวม 8 แผนงาน วงเงินรวม 135,135 ล้านบาท โดยมีแผนงาน/โครงการ และงบประมาณส่วนใหญ่อยู่ที่แผนงานบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ วงเงิน 127,132 ล้านบาท และแผนบูรณาการพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก วงเงิน 7,117 ล้านบาท และ 4) กลุ่มงบประมาณรายจ่ายพื้นที่ (Area) วงเงินรวม 2,368 ล้านบาท
จากคำของบประมาณดังกล่าว มีงบประมาณตามนโยบายสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จำนวน 175,563 ล้านบาท ประกอบด้วย 1. การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ วงเงิน 154,790 ล้านบาท 2. การพัฒนาศักยภาพกระบวนการผลิตสินค้าเกษตร (ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน สับปะรด มะพร้าว กาแฟ ทุเรียน มังคุด ลองกอง หม่อนไหม ประมง ปศุสัตว์ และพืชอื่นๆ) วงเงิน 4,646 ล้านบาท 3. แผนการผลิตการตลาดข้าวครบวงจร วงเงิน 2,473 ล้านบาท 4. การส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ วงเงิน 4,226 ล้านบาท 5. การยกระดับคุณภาพมาตรฐานสินค้าเกษตร วงเงิน 3,272 ล้านบาท
6. การป้องกันและแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย วงเงิน 703 ล้านบาท 7. ประมงพื้นบ้าน วงเงิน 62 ล้านบาท 8. ระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ วงเงิน 2,103 ล้านบาท 9. การส่งเสริมการใช้ยางในหน่วยภาครัฐ วงเงิน 1,997 ล้านบาท 10. การพัฒนาอาชีพชาวสวนยาง/การปลูกพืชแซม วงเงิน 352 ล้านบาท 11. การส่งเสริมการพัฒนาระบบตลาดภายในสำหรับสินค้าเกษตร วงเงิน 543 ล้านบาท และ 12. การพัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง (Smart Farmer)/ Young Smart Farmer/ เกษตรกรรุ่นใหม่ วงเงิน 389 ล้านบาท
ทั้งนี้ งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะเน้นขับเคลื่อนภารกิจโครงการ/แผนงานให้สำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดผลสัมฤทธิ์ ส่งผลให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดี รายได้สุทธิทางการเกษตรเพิ่มขึ้น สถาบันเกษตรกรมีความเข้มแข็งมีความสามารถในการดำเนินธุรกิจ สินค้าเกษตรได้รับการยกระดับคุณภาพมาตรฐาน และสร้างมูลค่าเพิ่ม รวมทั้งทรัพยากรการเกษตรมีการบริหารจัดการอย่างเหมาะสม ได้รับการอนุรักษ์ปรับปรุงและฟื้นฟูให้เกิดความสมดุลอย่างยั่งยืน