โรงพยาบาลเลิดสินเตือนถ้ามีอาการปวดและเจ็บบริเวณข้อต่อขากรรกรรไกร อ้าหรือขยับปากลำบากขากรรไกรค้าง ร่วมกับปวดศีรษะบ่อยๆ ควรรีบพบแพทย์เพราะอาจนำไปสู่โรคข้อต่อขากรรไกร
นายแพทย์ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ และ โฆษกกรมการแพทย์ เปิดเผยว่าโรคข้อต่อขากรรไกรเกิดจากความผิดปกติของข้อต่อและกล้ามเนื้อที่อยู่รอบๆข้อต่อขากรรไกร สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ อาจจะเกิดจากปัญหาในช่องปาก หู โพรงจมูกหรือความผิดปกติของข้อต่อขากรรไกร โดยจะมีอาการปวดบริเวณข้อต่อขากรรไกร อ้าหรือขยับปากลำบาก เวลาขยับขากรรไกรจะมีเสียงผิดปกติ ขากรรไกรค้าง และมีอาการอื่นๆร่วมด้วย เช่น ปวดศีรษะบ่อยๆ ปวดข้อต่อขากรรไกรลามไปถึงบริเวณหู ปวดกรามรุนแรงทันทีเมื่อเคี้ยวหรือกัด ทั้งนี้สาเหตุอาจเกิดจากการติดเชื้อ การใช้กล้ามเนื้อมากเกินไปหรือใช้ผิดประเภท เช่น เคี้ยวข้างใดข้างหนึ่งมากกว่าอีกข้าง เคี้ยวของแข็ง การสบฟันที่ผิดปกติ เป็นต้น หรือเคยได้รับบาดเจ็บบริเวณข้อต่อขากรรไกรมาก่อนหรืออาจเกิดจากโรคต่างๆ อาทิ โรคหัวใจขาดเลือด ไซนัสอักเสบ ปวดหัวข้างเดียวและปวดบริเวณรอบๆดวงตา โรคปวดเส้นประสาทใบหน้า
นายแพทย์สมพงษ์ตันจริยภรณ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเลิดสิน กรมการแพทย์กล่าวว่า
การรักษาของแพทย์จะเริ่มจากการสอบถามอาการและตรวจเช็คข้อต่อขากรรไกร โดยกดกล้ามเนื้อที่ใช้ในการเคี้ยวและข้อต่อขากรรไกรข้างที่เจ็บ รวมถึงตรวจการเคลื่อนไหวของขากรรไกร ซึ่งเมื่อแพทย์วินิจฉัยอาการแล้วเบื้องต้นจะรักษาโดยการให้รับประทานยา และแนะนำให้ปรึกษาทันตแพทย์เพื่อตรวจสอบการสบฟัน หากมีอาการสบฟันผิดปกติ และมีอาการปวดร่วมด้วย แพทย์อาจให้ใส่ที่ครอบฟัน เพื่อให้การสบฟันคงที่ ลดการกระแทกของข้อต่อขากรรไกรรวมถึงทำกายภาพบำบัด ถ้าผู้ป่วยอาการไม่ดีขึ้นอาจต้องผ่าตัด สำหรับการดูแลตนเองควรปฎิบัติดังนี้ รับประทานอาหารอ่อนๆ เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารแข็งหรือที่ต้องใช้แรงเคี้ยวมาก เช่น น้ำแข็ง อ้อย และอาจใช้น้ำอุ่นประคบกล้ามเนื้อที่อยู่รอบๆขากรรไกรถ้าอาการยังไม่ดีขึ้นควรรีบปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อทำการรักษาต่อไป