นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ได้รับรายงานหนอนผีเสื้อชอนใบมะเขือเทศแพร่ระบาดเข้ามาแถวประเทศเพื่อนบ้านของไทย จึงสั่งให้เจ้าหน้าที่จากสำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืชสร้างการรับรู้และเฝ้าระวังการระบาดของหนอนผีเสื้อชอนใบมะเขือเทศให้เกษตรกรและผู้เกี่ยวข้อง เพื่อป้องกันแมลงศัตรูพืชต่างถิ่นดังกล่าว เข้ามาแพร่ระบาดสร้างความ เสียหายให้พืชเศรษฐกิจในประเทศไทย
หนอนผีเสื้อชอนใบมะเขือเทศมีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศเปรู สำหรับเอเชียพบการระบาดของหนอนผีเสื้อชอนใบมะเขือเทศครั้งแรกที่อินเดียและเนปาล ล่าสุดได้รับยืนยันจากหน่วยงาน World Vegetable Center และ The Center for Agriculture and Bioscience International (CAB) พบการระบาดของหนอนผีเสื้อชอนใบมะเขือเทศในภาคเหนือของเมียนมาแล้ว
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า หนอนผีเสื้อชอนใบมะเขือเทศมีพืชอาหารหลัก ได้แก่ มะเขือเทศ มะเขือ มันฝรั่ง พริกหวาน ยาสูบ และโทงเทงฝรั่ง ส่วนพืชอาหารทางเลือก ได้แก่ ถั่ว และกะหล่ำ โดยทั่วไปหนอนจะเข้าทำลายใบเป็นหลัก แต่หนอน วัยท้ายๆ เจาะเข้าทำลายผลได้ด้วย ซึ่งการเจาะเข้าผลนี้เสี่ยงสูงที่แมลงชนิดนี้จะเล็ดลอดเข้ามาในประเทศโดยติดมากับผลผลิต หนอนผีเสื้อชอนใบมะเขือเทศ สามารถสร้างความเสียหายโดยการกัดกินชอนไชใบ และกัดกินผล ถ้าระบาดรุนแรงผลผลิตอาจเสียหายได้ 80-100% ดังนั้น ประเทศไทยจำเป็นต้องเฝ้าระวังการแพร่กระจายของศัตรูพืชชนิดนี้
กรมวิชาการเกษตรในฐานะเป็นองค์กรอารักขาพืชแห่งชาติตามอนุสัญญาว่าด้วยการอารักขาพืชระหว่างประเทศได้สั่งการให้ด่านตรวจพืชของกรมวิชาการเกษตร โดยเฉพาะด่านบริเวณชายแดนไทย-เมียนมา เฝ้าระวังและตรวจสอบผลผลิตเกษตร ซึ่งเป็นพืชอาหารของหนอนผีเสื้อชอนใบมะเขือเทศ อย่างเข้มงวด เพราะเสี่ยงสูงที่แมลงชนิดนี้จะติดเข้ามากับผลผลิตและแพร่ระบาดภายในประเทศไทยได้
"หากตรวจพบศัตรูพืชต่างถิ่นได้ตั้งแต่แรกที่ยังไม่พบการระบาดกระจายเป็นพื้นที่กว้าง เป็นไปได้ที่จะจำกัดขอบเขตการระบาดไม่ให้ขยายไปพื้นที่อื่น หรือกำจัดให้หมดไปจากประเทศได้ จึงขอความร่วมมือเกษตรกรและผู้ที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวัง ถ้าสำรวจ พบแปลงมะเขือเทศมีลักษณะเข้าทำลายที่ต่างไป จากการเข้าทำลายของหนอนชอนใบมะเขือเทศชนิดที่มีอยู่ในประเทศไทยแจ้งได้ที่กลุ่มบริหารศัตรูพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร โทรศัพท์ 0-2579-5583" อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว