นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพิจารณาการเชื่อมต่อระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนกับการขนส่งสาธารณะรูปแบบอื่น โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม ทั้งนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาการเชื่อมต่อระบบรถ ราง เรือ อย่างสมบูรณ์ของโครงข่ายรถไฟฟ้าสายสีม่วง ที่สถานีสะพานพระนั่งเกล้า โดยมอบการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และกรมเจ้าท่า (จท.) ดำเนินการร่วมกันให้มีการเชื่อมต่อการเดินทางของสถานีรถไฟฟ้ากับท่าเรือพระนั่งเกล้า และให้รถโดยสารองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) มีเส้นทางเดินรถที่เข้าไปเชื่อมต่อการเดินทางกับท่าเรือ นอกจากนี้ ทุกสถานีรถไฟฟ้าจะต้องเชื่อมต่อกับรถประจำทางรวมถึงท่าเรืออย่างสมบูรณ์และใกล้กับสถานี พร้อมกับมีป้ายประชาสัมพันธ์ให้ผู้โดยสารเห็นจุดเชื่อมการเดินทางที่ชัดเจน
“ที่ประชุมมีแผนที่จะพัฒนารูปแบบการเดินทางเพื่อเชื่อมต่อให้สมบูรณ์ทุกโครงข่ายการเดินทางแบบบูรณาการ เพื่อให้ประชาชนที่ใช้บริการเข้าถึงระบบการให้บริการได้อย่างสะดวก โดยเป็นการเชื่อมระหว่างรถไฟฟ้าเชื่อมต่อรถเมล์ รถไฟฟ้าเชื่อมต่อเรือโดยสาร อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมได้มอบหมายสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ศึกษาข้อมูลรายละเอียดว่ามีกี่จุดบางที่ยังไม่มีการเชื่อมต่อที่สมบูรณ์ และมีการให้บริการรถเมล์สายใดบ้าง จะต้องสรุปเพื่อมารายงานต่อที่ประชุมครั้งต่อไป นอกจากนี้ ได้เสนอให้มีการตั้งคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบการเชื่อมต่อระบบขนส่งสาธารณะ ภายใต้คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) โดยจะต้องมีการเสนอต่อที่ประชุมคจร. เพื่อแต่งตั้งอนุกรรมการดังกล่าว โดยจะมีบทบาทในการติดตามโครงการโดยตรง”นายชัยวัฒน์ กล่าว
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาการจัดระบบจราจรและการเชื่อมต่อบริเวณอาคารรัฐสภาใหม่ บริเวณแยกเกียกกาย ที่คาดว่าจะสามารถสมบูรณ์ประมาณกลางปี 2563 โดยให้บูรณาการเพื่อเชื่อมต่อทั้งระบบรถ ราง เรือ ในเส้นทางของอาคารรัฐสภาแห่งใหม่เพื่อบรรเทาปัญหาจราจรและให้การเดินทางมีความสะดวกเมื่อมีการเปิดใช้งาน ทั้งนี้ จะต้องสรุปรายละเอียดการเดินทางด้วยว่าหากรัฐสภาแห่งใหม่เปิดให้บริการ รถสาธารณะจะเพียงพอต่อการให้บริการหรือไม่ หากรองรับไม่เพียงพอ อาจจะมีการให้บริการระบบรถชัตเตอร์บัสเสริมการให้บริการ เบื้องต้นในประชุมเห็นว่าอาจจะเริ่มให้บริการตั้งแต่สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ (หมอชิต) -เตาปูน –บางโพ-รัฐสภา (เกียกกาย) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการ
อย่างไรก็ตาม จะต้องรอผลการศึกษาที่เหมาะสมอีกครั้ง ทั้งนี้ ยังมีแผนที่จะสร้างท่าเรือพระนั่งเกล้าแบบเรือโดยสาร แต่ระหว่างรอการก่อสร้างท่าเรือที่ถาวรก็จะต้องสร้างเรือชั่วคราวที่ต้องตามมาตรฐานของกรมเจ้าท่า เพื่อให้บริการผู้โดยสารได้อย่างปลอดภัยก่อน โดยมอบให้กรมเจ้าท่า และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย เป็นหน่วยงานรับผิด ซึ่งคาดว่าประมาณเดือนกันยายน 2562 จะสามารถว่าจ้างผู้รับเหมาโครงการก่อสร้างดังกล่าวได้
นอกจากนี้ ยังได้มอบหมายให้มีการจัดระบบจราจรและการเชื่อมต่อการเดินทางในพื้นที่ชุมชนและย่านธุรกิจของโครงข่ายรถไฟชานเมืองสายสีแดงและการเชื่อมต่อการเดินทางบริเวณศูนย์ราชการจังหวัดนนทบุรีภายใต้แนวคิดการพัฒนาศูนย์เชื่อมต่อบริเวณศูนย์ราชการจังหวัดนนทบุรี โดยสามารถพัฒนาพื้นที่เป็นสถานีโครงข่ายคมนาคม อาคารจอดแล้วจร ร้านค้า อาคารสำนักงานและที่อยู่อาศัย ซึ่งขณะนี้ที่พื้นที่2ไร่ ที่เป็นพื้นที่ของกรมธนารักษ์ ทั้งนี้ ได้หารือกับกรมธนารักษ์เพื่อดำเนินการและบริหารจัดการในอนาคต