นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลการดำเนินการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัย (พายุปาบึก) ว่า จากสถานการณ์พายุปาบึกที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 3 – 6 มกราคม 2562 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์สามารถดำเนินการจ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับความเสียหายด้านพืช ด้านประมง ด้านปศุสัตว์ และเรือประมงตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ จำนวน 26,275 ราย วงเงิน 189.17 ล้านบาท ภายในวันที่ 6 มีนาคม 2562 (ดำเนินการได้ภายใน 60 วัน จากระเบียบฯกำหนด 90 วัน) และจ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง ตามระเบียบการยางฯ จำนวน 5,753 วงเงิน 17.26 ล้านบาท และให้การช่วยเหลือสมาชิกสหกรณ์ โดยจ่ายชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้แทนสมาชิก ในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี ระยะเวลา 6 เดือน จำนวน 9 จังหวัด สถาบัน 75 แห่ง สมาชิก 11,247 ราย มูลหนี้ต้นเงินกู้ 1,797 ล้านบาท
รวมทั้งช่วยเหลือเพื่อฟื้นฟูให้เกษตรกรสามารถทำการผลิตได้อย่างต่อเนื่อง โดยการแจกจ่ายเชื้อราไตรโครเดอม่า 100,000 กิโลกรัม แจกจ่ายหญ้าอาหารสัตว์พระราชทาน 412,700 กิโลกรัม อพยพสัตว์ 1,825 ตัว เคลื่อนย้ายสัตว์สู่ที่ปลอดภัย 251,274 ตัว ถุงยังชีพ 2,332 ชุด รักษาสัตว์ 15,275 ตัว ดูแลสุขภาพสัตว์ 22,556 ตัว และจัดหน่วยเฉพาะกิจสัตวแพทย์เคลื่อนที่ นักวิชาการเกษตรลงพื้นที่ให้คำแนะนำฟื้นฟูส้มโอทับทิมสยาม และไม้ผล สนับสนุนปัจจัยการผลิตเพื่อช่วยเหลือฟื้นฟูบำรุงดินหลังน้ำลด ได้แก่ สารเร่งซุปเปอร์ พด.1 700 ซอง สารเร่งซุปเปอร์ พด.2 1,020 ซอง ปุ๋ยหมัก 535 ตัน พืชปุ๋ยสด 105 ตัน โดโลไมท์ 531.50 ตัน และหินปูนฝุ่น 1,927 ตัน
ขณะเดียวกันได้ดำเนินการตามแผนการบริหารจัดการสถานการณ์ภัยแล้งปี 2561/62 ในด้านปฏิบัติการเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้งควบคู่กันไปด้วย โดยมอบหมายกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เริ่มปฏิบัติการฝนหลวงตั้งแต่ 1 มี.ค. 2562 โดยจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง 11 หน่วย ได้แก่ หน่วยปฏิบัติการเชียงใหม่ ตาก ลพบุรี ราชบุรี นครราชสีมา ขอนแก่น อุบลราชธานี สุรินทร์ สระแก้ว สุราษฎร์ธานี สงขลา มีการขึ้นปฏิบัติการฝนหลวง 111 วัน (1 มี.ค.- 25 มิ.ย. 2562) มีฝนตกคิดเป็นร้อยละ 90.09 ขึ้นปฏิบัติการ 3,024 เที่ยวบิน จังหวัดที่มีรายงานฝนตกรวม 57 จังหวัด และมีการคาดการณ์ว่าบางช่วงของฤดูฝนปีนี้
โดยเฉพาะช่วงปลายเดือนมิถุนายนถึงกลางเดือนกรกฎาคม จะมีการกระจายตัวของฝนไม่สม่ำเสมอและมีปริมาณฝนน้อย ซึ่งจะส่งผลให้มีน้ำไม่เพียงพอสำหรับการเกษตรในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะนอกเขตชลประทาน สำหรับพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะจังหวัดอุบลราชธานี เปิดหน่วยฯ ตั้งแต่วันที่ 17 มิ.ย. 62 ขึ้นปฏิบัติการ 6 วัน 9 เที่ยวบิน มีฝนตกในพื้นที่จังหวัดยโสธร ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี จะดำเนินการขึ้นปฏิบัติการฝนหลวงอย่างต่อเนื่องจนกว่าปริมาณฝนจะเพียงพอต่อการทำการเกษตร และมอบหมายกรมชลประทานติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 199 เครื่อง เพื่อสูบน้ำเติมให้โรงสูบน้ำเพื่อผลิตน้ำประปา เพื่อเติมน้ำเข้าคลองซอย ขุดลอกคลอง สร้างทำนบดินชั่วคราว ออกหน่วยบริการน้ำเพื่อการอุปโภค สร้างฝายชะลอน้ำ เพื่อเก็บกักและชะลอน้ำในการรักษาระบบนิเวศ
ในส่วนการเตรียมการด้านประมง ได้จับสัตว์น้ำขึ้นจำหน่ายและประชาสัมพันธ์ให้งดเลี้ยงสัตว์น้ำ เพื่อป้องกันความเสียหายด้านประมง ส่วนด้านพืชได้ให้คำแนะนำการดูแลรักษาพืช เช่น นำเศษวัสดุทางการเกษตรคลุมโคน ตัดแต่งกิ่งใบตามหลักวิชาการ เพื่อลดการคายน้ำ และการใช้ระบบน้ำหยดในพื้นที่แปลงหากมีความจำเป็น ปรับเวลาการให้น้ำ
นอกจากนี้ มีการปรับโครงสร้างการปฏิบัติงานทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค การประเมินความเสี่ยงด้านการเกษตร การกระจายเครื่องมือ เครื่องจักร ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ และชี้แจงทำความเข้าใจกับเกษตรกรให้ปลูกข้าวรอบ 2 (11.21 ล้านไร่) ให้ใกล้เคียงเป้าหมายที่สามารถจัดสรรน้ำได้ 11.65 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 104 ของแผน ซึ่งการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2561/62 (1 พ.ย. 2561 – 30 เม.ย. 2562) สามารถจัดสรรน้ำให้เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค การรักษาระบบนิเวศ การเกษตร และอุตสาหกรรม จำนวน 23,585 ล้าน ลบ.ม.(103%) และมีปริมาณน้ำสำรองสำหรับต้นฤดูฝน (20 พ.ค.62) จำนวน 18,626 ล้าน ลบ.ม. ทั้งนี้ ได้กำชับและมอบหมายหน่วยงานในพื้นที่ เฝ้าระวังสถานการณ์ฝนทิ้งช่วงอย่างต่อเนื่อง จนกว่าสถานการณ์จะสิ้นสุดด้วย