สทนช.เดินสายสร้างความรู้ความเข้าใจในบริบทใหม่ของการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ภายใต้แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี และพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 ทั่วประเทศ ประเดิมครั้งแรกพื้นที่อีสานเหนือ มั่นใจจะนำไปสู่การขับเคลื่อนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำให้เกิดผลเป็นรูปธรรม
สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) จัดสัมมนา เรื่อง “บริบทใหม่การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำภายใต้แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี และพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561”
นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า การจัดสัมมนาครั้งนี้ เป็น 1 ใน 9 ครั้ง ที่ สทนช. จัดขึ้นในส่วนภูมิภาคทั่วประเทศ เพื่อสร้างการรับรู้การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำภายใต้แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ และร่างกฎหมายลำดับรองตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 ให้กับหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ คณะกรรมการลุ่มน้ำ และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ลุ่มน้ำรับทราบ อันจะนำไปสู่การขับเคลื่อนให้เกิดผลเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำต่อไป
“บริบทใหม่ในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศนั้น จะประกอบด้วย 4 เสาหลัก คือ 1.แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 2.องค์กรกลาง ได้แก่ คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) สทนช. กรรมการลุ่มน้ำ 3.พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 และ 4.การพัฒนาองค์ความรู้ นวัตกรรม และเทคโนโลยีที่จะขับเคลื่อนแผนแม่บทให้ไปสู่เป้าหมายตามวิสัยทัศน์ที่กำหนดไว้ โดย สทนช. ให้ความสำคัญกับการสร้างการรับรู้เกี่ยวกับบริบทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศของคณะกรรมการลุ่มน้ำทั่วประเทศ เนื่องจากตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 คณะกรรมการลุ่มน้ำจะต้องเป็นผู้ที่จัดทำแผนแม่บทการใช้ การพัฒนา การบริหารจัดการ การบำรุงรักษา การฟื้นฟูและการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำในเขตลุ่มน้ำ เสนอต่อคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อใช้ในการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพต่อไป" เลขาธิการ สทนช. กล่าว
ทั้งนี้ การจัดสัมมนาในครั้งนี้ นอกจากจะมีการบรรยายเรื่อง 4 เสาหลักในการบริหารจัดการน้ำของประเทศไทยแล้ว ยังจะมีการบรรยายสร้างความรู้ความเข้าใจในแนวทางการคัดเลือกกรรมการผู้แทนคณะกรรมการลุ่มน้ำในคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หลักเกณฑ์และวิธีการได้มาซึ่งกรรมการลุ่มน้ำ ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรรมการผู้แทนองค์กรผู้ใช้น้ำ และกรรมการลุ่มน้ำผู้ทรงคุณวุฒิ หลักเกณฑ์และวิธีการพ้นจากตำแหน่งของกรรมการผู้แทนองค์กรผู้ใช้น้ำ และกรรมการลุ่มน้ำผู้ทรงคุณวุฒิ รวมทั้งการกำหนดวัตถุประสงค์ อำนาจ หน้าที่ และการดำเนินงานขององค์กรผู้ใช้น้ำ ตลอดจนหลักเกณฑ์ ขั้นตอน และวิธีการก่อตั้งองค์กรผู้ใช้น้ำด้วย ซึ่งจะทำให้ผู้ร่วมสัมมนามีความรู้ความเข้าใจในบริบทใหม่ของการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ อันจะนำไปสู่การขับเคลื่อนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในแต่ละลุ่มน้ำทั้ง 22 ลุ่มน้ำหลักทั่วประเทศ เพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพสูงสุด
สำหรับการจัดสัมมนาทั้ง 9 ครั้งทั่วประเทศนั้น เริ่มต้นครั้งแรกในพื้นที่อีสานเหนือ ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดอุดรธานี ขอนแก่น เลย หนองบัวลำภู ชัยภูมิ หนองคาย นครพนม บึงกาฬ สกลนคร กาฬสินธุ์ ครั้งที่ 2 พื้นที่อีสานใต้ ที่จังหวัดอุบลราชธานี วันที่ 5 กรกฎาคม 2562 ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี มหาสารคาม ร้อยเอ็ด สุรินทร์ นครราชสีมา บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ ยโสธร อำนาจเจริญ มุกดาหาร ครั้งที่ 3 พื้นที่ภาคเหนือตอนบน ที่จังหวัดเชียงใหม่ วันที่ 10 กรกฎาคม 2562 ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน เชียงราย พะเยา น่าน ลำพูน ลำปาง แพร่ ครั้งที่ 4 พื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง ที่จังหวัดพิษณุโลก
วันที่ 12 กรกฎาคม 2562 ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก ตาก สุโขทัย กำแพงเพชร พิจิตร อุตรดิตถ์ นครสวรรค์ อุทัยธานี ครั้งที่ 5 ภาคตะวันตก ที่จังหวัดราชบุรี ในวันที่ 23 กรกฎาคม 2562 ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดราชบุรี กาญจนบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม สมุทรสงคราม สมุทรสาคร เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ครั้งที่ 6 พื้นที่ภาคกลาง ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา วันที่ 25 กรกฎาคม 2562 ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพชรบูรณ์ ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง ลพบุรี สระบุรี ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ ครั้งที่ 7 พื้นที่ภาคตะวันออก ที่จังหวัดระยอง วันที่ 31 กรกฎาคม 2562 ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดระยอง ฉะเชิงเทรา นครนายก ชลบุรี ปราจีนบุรี จันทบุรี สระแก้ว ตราด ครั้งที่ 8 พื้นที่ภาคใต้ตอนบนที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี วันที่ 7 สิงหาคม 2562 ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ชุมพร ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ นครศรีธรรมราช และครั้งสุดท้าย ครั้งที่ 9 ในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง ที่จังหวัดสงขลา วันที่ 9 สิงหาคม 2562 ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดสงขลา ตรัง พัทลุง สตูล ปัตตานี ยะลา นราธิวาส