ว่าที่ร้อยตรี สมสวย ปัญญาสิทธิ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) เปิดเผยถึงสถานการณ์ไม้ผลเศรษฐกิจของประเทศ ปี 2562 ว่า ไม้ผลภาคเหนือ ประกอบด้วย ลำไยใน 8 จังหวัดภาคเหนือ ปีนี้มีปริมาณผลผลิต จำนวน 624,321 ตัน แบ่งเป็น ลำไยในฤดู 341,028 ตัน ลำไยนอกฤดู 283,293 ตัน เปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา ปริมาณ 675,549 ตัน ลดลง 7.5% เนื่องจากสภาพภูมิอากาศเกิดฝนแล้ง ปริมาณน้ำฝนไม่เพียงพอ อากาศร้อน เกิดพายุร้อนและวาตภัย โดยช่วงที่ผลผลิตออกมากจะอยู่ในเดือนสิงหาคม
ส่วนลิ้นจี่ มีปริมาณผลผลิต จำนวน 26,278 ตัน เปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา ปริมาณ 41,220 ตัน ลดลง 36.25% สาเหตุเกิดจากภาวะฝนทิ้งช่วง อากาศร้อนจัด แห้งแล้ง เกษตรกรลดการดูแลรักษาเพราะราคาไม่จูงใจ ช่วงที่ผลผลิตออกมากอยู่ในเดือนพฤษภาคม ผลผลิตไม่เพียงพอจำหน่าย
สำหรับสถานการณ์ไม้ผลภาคใต้ ประกอบด้วย ทุเรียน มังคุด เงาะ และลองกอง ปี 2562 ทุเรียน มีปริมาณผลผลิต จำนวน 445,220 ตัน เปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา จำนวน 304,267 ตัน เพิ่มขึ้น 46.33% เนื่องจากเนื้อที่ให้ผลเพิ่มขึ้น ราคาดี จูงใจให้เกษตรกรบำรุงรักษาดูแลผลผลิตดีขึ้น ทำให้ต้นมีความสมบูรณ์ ออกดอกและติดผลมากขึ้น ช่วงที่ผลผลิตออกมากอยู่ในเดือนสิงหาคม มังคุด มีปริมาณผลผลิต จำนวน 156,118 ตัน เปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา จำนวน 110,364 ตัน เพิ่มขึ้น 41.46% เนื่องจากเนื้อที่ให้ผลเพิ่มขึ้น ต้นมีความสมบูรณ์ออกดอกและติดผลมากขึ้น ช่วงที่ผลผลิตออกมากเดือนกรกฎาคม - สิงหาคม
เงาะ มีปริมาณผลผลิต จำนวน 69,371 ตัน เปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา จำนวน 71,884 ตัน ลดลง 3.5% สาเหตุจากอากาศร้อนจัดและน้ำไม่เพียงพอในช่วงเดือนเมษายน ส่งผลให้ดอกร่วง ช่วงที่ผลผลิตออกมากเดือนสิงหาคม - เดือนกันยายน และลองกอง มีปริมาณผลผลิต จำนวน 67,687 ตัน เปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา จำนวน 42,870 ตัน เพิ่มขึ้น 57.89% เนื่องจากมีช่วงแล้งเหมาะสมกับการออกดอก และต้นมีความสมบูรณ์ออกดอกเพิ่มขึ้น ช่วงที่ผลผลิตออกมากเดือนกันยายน - ตุลาคม
ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการฯ เห็นชอบแผนบริหารจัดการผลไม้ ปี 2562 เพื่อให้จังหวัดใช้เป็นแนวทางปฏิบัติในการบริหารจัดการผลไม้ในฤดูกาลผลิต ปี 2562 แบบเบ็ดเสร็จด้วยตัวเอง โดยผ่านกลไกคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาอันเนื่องมาจากผลผลิตการเกษตรระดับจังหวัด (คพจ.) ให้เป็นไปตามกลไกตลาดปกติ ในเชิงปริมาณเน้นการจัดสมดุลอุปสงค์และอุปทาน ในเชิงคุณภาพสอดคล้องตามยุทธศาสตร์พัฒนาผลไม้ไทย พ.ศ. 2558 – 2564 โดยผลไม้ภาคเหนือ ได้แก่ ลำไย เน้นบริหารจัดการลำไยในฤดู ปริมาณ 341,028 ตัน แผนบริหารจัดการผลไม้ภาคใต้เน้นผลผลิตในฤดู รวม 580,401 ตัน แบ่งเป็น ทุเรียน จำนวน 366,938 ตัน มังคุด จำนวน 145,025 ตัน เงาะ จำนวน 68,438 ตัน
โดยการบริหารจัดการเชิงปริมาณ ได้แก่ การกระจายผลผลิตในประเทศ ด้วยวิธีการกระจายผลผลิตออกนอกแหล่งผลิตผ่านผู้ประกอบการ (ล้ง) วิสาหกิจชุมชน ศูนย์คัดแยกผลไม้ชุมชน สหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร Modern Trade ไปรษณีย์/ตลาดออนไลน์ ตลาดค้าผลไม้ภายในจังหวัด การจำหน่ายตรงผู้บริโภค การจัดงานประชาสัมพันธ์ เป็นต้น การแปรรูป ด้วยวิธีการแช่แข็ง อบแห้ง กวน ทอด และการส่งออก (ผลสด)
ส่วนการบริหารจัดการเชิงคุณภาพ ส่งเสริมให้เกษตรกรดูแลผลผลิตแต่ละระยะ ตั้งแต่ก่อนเก็บเกี่ยว ได้แก่ การถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีการพัฒนาคุณภาพเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไม้ผล การส่งเสริมการผลิตตามมาตรฐานและยกระดับสู่การรับรอง (GAP) การพัฒนาคุณภาพผลผลิตสู่การส่งออก การรวมกลุ่ม ทำตลาดล่วงหน้า การยกระดับสินค้าเกษตรที่เป็นอัตลักษณ์และเหมาะสมกับพื้นที่เพื่อเพิ่มมูลค่า เป็นต้น ระยะเก็บเกี่ยวผลผลิต รณรงค์ให้เกษตรกรเก็บเกี่ยวผลผลิตในระยะที่เหมาะสม การประชาสัมพันธ์รณรงค์ส่งเสริมการบริโภค ส่งเสริมการรวมกลุ่มบริหารจัดการร่วมกัน มุ่งเน้นการรวมกลุ่มผู้ผลิตไม้ผลคุณภาพ โดยเฉพาะทุเรียนต้องเร่งป้องปรามผลผลิตทุเรียนด้อยคุณภาพไม่ให้ออกสู่ตลาด
“ผลไม้นับเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย สามารถทำรายได้เข้าประเทศปีละหลายพันล้านบาท และยังเป็นที่นิยมบริโภคกันทั่วไปทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะการส่งผลไม้ไปจำหน่ายประเทศจีน นอกจากนี้ ความต้องการบริโภคผลไม้นับวันจะเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้น และความสนใจในสุขภาพก็มีมากขึ้นด้วย ไทยถือเป็นประเทศที่มีสภาพพื้นที่และภูมิอากาศที่เหมาะสมต่อการผลิตผลไม้เมืองร้อนหลายชนิด ตั้งแต่ภาคเหนือจนถึงภาคใต้ ส่วนฤดูกาลให้ผลผลิตแต่ละชนิดก็แตกต่างกันไปในแต่ละสภาพพื้นที่ของแต่ละภาค จึงเป็นข้อดีประการหนึ่งที่ส่งผลให้ไทยมีผลไม้หลากหลายชนิดหมุนเวียนออกสู่ตลาดตลอดทั้งปี และมั่นใจว่าปีนี้ราคาจะอยู่ในเกณฑ์ดีเป็นที่น่าพอใจของพี่น้องเกษตรกร เนื่องจากเกษตรกรก็มีการนำเทคโนโลยีต่างๆ มาพัฒนาคุณภาพผลผลิตให้ดีขึ้น” รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรกล่าว