นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ภาวะฝนแล้งและการกระจายตัวของฝนไม่สม่ำเสมอ เป็นปัญหาสำคัญของการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของไทย ส่งผลให้ผลผลิตรวมทั้งประเทศลดลง การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ทนทานต่อสภาพแล้ง เหมาะสมกับฤดูปลูก รวมถึงมีอายุเก็บเกี่ยวที่เหมาะสมกับระบบปลูกพืช เป็นแนวทางหนึ่งในการลดความเสียหายของผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในสภาพการกระจายของฝนที่ไม่แน่นอนได้
ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ กรมวิชาการเกษตรศึกษาวิจัยพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ให้ทนทานต่อสภาพแล้ง เหมาะกับฤดูปลูก มีอายุเก็บเกี่ยวเหมาะสมกับระบบปลูกพืช ต้านทานโรคทางใบที่สำคัญ เพื่อเป็นทางเลือกให้เกษตรกร โดยคัดเลือกตามขั้นตอนปรับปรุงพันธุ์ จนประสบความสำเร็จได้พันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์พันธุ์ใหม่ 2 พันธุ์คือ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ลูกผสมพันธุ์นครสวรรค์ 4 และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมพันธุ์นครสวรรค์ 5 โดยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทั้ง 2 พันธุ์ผ่านการพิจารณาเป็นพันธุ์รับรองของกรมวิชาการเกษตรแล้ว
ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมพันธุ์นครสวรรค์ 4 เป็นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมเดี่ยว อายุยาว เก็บเกี่ยวเมื่ออายุ 110-120 วัน เกิดจากการผสมข้ามระหว่างข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สายพันธุ์แท้ตากฟ้า 1 เป็นพันธุ์แม่ และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สายพันธุ์แท้ Nei 452006 เป็นพันธุ์พ่อ ให้ผลผลิตสูงเฉลี่ย 1,092 กิโลกรัมต่อไร่ ทนแล้งระยะออกดอก เก็บเกี่ยวด้วยมือง่าย ปลูกได้ดีในพื้นที่ดอน ดินระบายน้ำดี สภาพดินไม่เป็นกรดหรือด่างมากเกินไป
ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมพันธุ์นครสวรรค์ 5 เป็นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมเดี่ยว อายุค่อนข้างสั้น เก็บเกี่ยวเมื่ออายุ 95-100 วัน ให้ผลผลิตสูงเฉลี่ย 1,176 กิโลกรัมต่อไร่ ทนแล้ง ต้านทานโรคใบไหม้แผลใหญ่และโรคราสนิม เก็บเกี่ยวได้เร็วขึ้นที่อายุ 95-100 วัน ฝักแห้งเร็ว หรือความชื้น ขณะเก็บเกี่ยวน้อยกว่าพันธุ์อื่น ขณะที่ต้น ยังเขียวสดสามารถปลูกในพื้นที่หลังนาที่มีการให้น้ำชลประทาน แหล่งปลูกที่เกษตรกรต้องการเก็บเกี่ยวผลผลิตเร็วเพื่อปลูกพืชตาม หรือแหล่งปลูกที่มีการระบาดของโรคใบไหม้แผลใหญ่ในภาคเหนือของไทย
นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยพืชไร่ชัยนาท กรมวิชาการเกษตรยังประสบความสำเร็จในการศึกษาวิจัยปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพดข้าวเหนียวลูกผสมพันธุ์ชัยนาท 2 ซึ่งผ่านการพิจารณาเป็นพันธุ์รับรองของกรมวิชาการเกษตรเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2562 ลักษณะเด่นคือ ให้ผลผลิตฝักทั้งเปลือก 2,132 กิโลกรัมต่อไร่ และฝักปอกเปลือก 1,306 กิโลกรัมต่อไร่ เมล็ดมีสีขาวม่วง เป็นที่นิยมของผู้บริโภค คุณภาพเหนียวนุ่ม เหมาะรับประทานฝักสด และปรับตัวได้ดีกับสภาพแวดล้อม
ทั้งนี้ กรมวิชาการเกษตรพร้อมเปิดตัวข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมพันธุ์ใหม่ทั้ง 2 พันธุ์และข้าวโพดข้าวเหนียวลูกผสมพันธุ์ชัยนาท 2 ในการประชุมวิชาการข้าวโพด-ข้าวฟ่าง ครั้งที่ 39 ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรเป็น เจ้าภาพจัดงานระหว่างวันที่ 27-29 สิงหาคม ที่โรงแรมลพบุรี อินน์ รีสอร์ท จ.ลพบุรี เพื่อเผยแพร่ข้อมูล ข่าวสารผลงานวิจัยและความรู้ใหม่ รวมถึงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างบุคลากรทุกภาคส่วน ที่อยู่ในวงการข้าวโพดและข้าวฟ่างของประเทศไทย