นางฉัตรสุดา จันทร์ดียิ่ง กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะกำกับดูแลงานด้านสิทธิผู้สูงอายุ ผู้พิการ เด็ก การศึกษา และการสาธารณสุข เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ออกรายงานข้อเสนอแนะ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 247 (3) ที่ 4/2560 ลงวันที่ 1 สิงหาคม 2560 ไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เรื่อง ข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการปรับปรุงกฎหมายและระเบียบ อันเกี่ยวเนื่องกับสิทธิเด็กในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา กรณีการเปิดเผยประวัติการกระทำความผิดทางอาญาของเด็กและเยาวชน ซึ่งมีความเห็นว่า ระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าด้วยประมวลระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดี ลักษณะที่ 32 การพิมพ์ลายนิ้วมือ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2557 นั้น มีบทบัญญัติบางส่วนที่อาจเป็นการละเมิดสิทธิเด็ก และไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 มาตรา 84
กฎหมายดังกล่าว มุ่งคุ้มครองสิทธิของเด็กและเยาวชน โดยป้องกันมิให้มีการเปิดเผยประวัติการกระทำความผิดทางอาญาของเด็กและเยาวชนที่อาจส่งผลต่อการใช้ชีวิตอย่างปกติสุข คุ้มครองเด็กและเยาวชนที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดทางอาญาหรือถูกศาลพิพากษาว่ามีความผิด ให้ได้รับการปฏิบัติที่แตกต่างไปจากผู้ต้องหาหรือจำเลยที่เป็นผู้ใหญ่ โดยให้ได้รับผลกระทบจากการต้องถูกดำเนินคดีและควบคุมตัวน้อยที่สุด สำหรับเด็กและเยาวชนที่มีปัญหาความประพฤติหรือกระทำความผิดทางอาญา ได้รับโอกาสแก้ไขให้สามารถเติบโตเป็นพลเมืองดีของสังคม โดยมีสมมติฐานว่าเด็กและเยาวชนกระทำความผิดใด ๆ ไปด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ขาดวุฒิภาวะ ตลอดทั้งสิ่งแวดล้อมมีอิทธิพลในการผลักดันความประพฤติของเด็ก
นางฉัตรสุดา กล่าวว่า แม้ สตช. ได้ตอบรับข้อเสนอแนะของ กสม. โดยได้มีการแก้ไขระเบียบว่าด้วยประมวลระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดี ลักษณะที่ 32 การพิมพ์ลายนิ้วมือ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2557 เมื่อเดือนสิงหาคม 2561 อย่างไรก็ดี ในทางปฏิบัติ กสม. ยังคงได้รับทราบข้อมูลว่า ยังมีการเปิดเผยประวัติการกระทำความผิดทางอาญาของเด็กและเยาวชน จนเป็นเหตุให้เด็กและเยาวชนหลายรายไม่สามารถเข้าทำงานได้ทั้งในองค์กรภาครัฐและเอกชน เป็นผลให้การคืนเด็กและเยาวชนที่ก้าวพลาดกลับสู่สังคมไม่เป็นไปตามที่มุ่งหวัง จึงได้มีการประสาน ติดตาม และสื่อสารสร้างความเข้าใจกับ สตช. และกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาดังกล่าว และเป็นที่น่ายินดีว่า ไม่นานมานี้ กองทะเบียนประวัติอาชญากร ได้มีหนังสือ ที่ ตช 0032.34/1184 ลงวันที่ 17 พฤษภาคม 2562 ถึงเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แจ้งว่า ปัจจุบันเมื่อมีการขอตรวจสอบประวัติบุคคล จากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน หากพบว่าข้อมูลประวัติของผู้ที่ถูกตรวจสอบเป็นเด็กและเยาวชน เคยกระทำความผิดทางอาญา กองทะเบียนประวัติอาชญากร ก็จะไม่เปิดเผยข้อมูลประวัติให้กับหน่วยงานที่ขอตรวจสอบ ทั้งนี้ เป็นไปตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 มาตรา 84
“ในโอกาสที่ปี 2562 นี้ เป็นปีครบรอบ 30 ปี แห่งอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติที่มีสาระสำคัญ คือ การดำเนินการทั้งหลายต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นอันดับแรก ดิฉันขอชื่นชมความพยายามของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติในเรื่องนี้ ที่ตอบรับข้อเสนอแนะของ กสม. จนมีการแก้ไขระเบียบและมีแนวปฏิบัติในการไม่เปิดเผยประวัติข้อมูลการกระทำความผิดทางอาญาของเด็กและเยาวชน การดำเนินการนี้ แสดงให้เห็นถึงความตระหนักร่วมกันในการคุ้มครองสิทธิของเด็กและเยาวชนที่ก้าวพลาดเพราะขาดวุฒิภาวะหรือการรู้เท่าไม่ถึงการณ์ให้ได้รับโอกาสในชีวิตอีกครั้ง ทั้งในด้านการศึกษา การทำงาน หรือการสร้างครอบครัว โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการไม่เปิดเผยประวัติการกระทำความผิดทางอาญาของเด็กและเยาวชน จะเป็นการปิดช่องว่างสำคัญที่ทำให้เด็กและเยาวชนผู้ก้าวพลาด หลงผิด ได้มีโอกาสกลับตนเป็นคนดี มีหนทางที่ดีในชีวิต ไม่หวนไปกระทำผิดซ้ำ และกลับมามีที่ยืนในสังคมอย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” นางฉัตรสุดากล่าว