นิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) สำรวจความคิดเห็นประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร กระจายทุกระดับการศึกษาและอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,256 หน่วยตัวอย่าง เรื่อง “การจัดการวิกฤตฝุ่นละออง” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 15-16 มกราคม 2563 เมื่อถามถึงการปฏิบัติตัวเมื่อเผชิญปัญหาจากวิกฤตฝุ่นละอองของประชาชน พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 69.98 ระบุ สวมหน้ากากอนามัยเวลาออกนอกบ้าน รองลงมา ร้อยละ 21.50 ระบุ หลีกเลี่ยงการเดินทางออกนอกบ้าน ร้อยละ 10.59 ระบุ งดทำกิจกรรมกลางแจ้ง
ทั้งนี้เมื่อถามถึงประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง พบว่าร้อยละ 2.47 ระบุ มีประสิทธิภาพมาก เพราะหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องมีการจัดการแก้ปัญหาที่ดี ร้อยละ 17.60 ระบุ ค่อนข้างมีประสิทธิภาพ เพราะมีการพ่นละอองน้ำเพื่อลดฝุ่นมีการแจ้งเตือนเขตพื้นที่สีแดงทำให้ประชาชนได้เตรียมพร้อมรับมือ ขณะที่บางส่วนระบุว่า ไม่ได้เกี่ยวข้องกับงานภาครัฐ แต่เป้นที่ตัวบุคคลในการทำให้เกิดฝุ่นละออง ร้อยละ 40.84 ระบุ ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ เพราะ หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องยังแก้ไขได้ไม่ตรงจุดทำงานไม่จริงจัง ไม่ต่อเนื่อง ควรมีมาตรการอย่างจริงจังที่เป็นรูปธรรมในการควบคุม เช่น การก่อสร้าง รถควันดำ หรือผู้ที่ก่อให้เกิดมลพิษ ร้อยละ 36.22 ระบุ ไม่มีประสิทธิภาพเลย เพราะการจัดการของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องยังไม่มีการตื่นตัว ไม่มีการแก้ปัญหาที่เป็นรูปธรรม ไม่มีความชัดเจน ปัญหายังเดิมๆ ไม่เปลี่ยนแปลง เช่น งานก่อสร้างต่างๆ รถประจำทาง/รถส่วนตัวยังมีควันดำ
อย่างไรก็ตามเมื่อถามถึงการมีส่วนร่วมช่วยลดปัญหาฝุ่นละอองของประชาชน พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 30.57 ระบุ ใช้บริการขนส่งสาธารณะแทนการขับรถส่วนตัว รองลงมาร้อยละ 24.20 ระบุ ฉีดน้ำล้างฝุ่นละอองหน้าบ้านตนเอง ร้อยละ 23.09 ระบุ หยุดเผาขยะ ใบไม้ เศษวัสดุ ร้อยละ 21.66 ระบุ ไม่มีส่วนช่วยลดปัญหาฝ่นละออง เพราะการใช้ชีวิตประจำวันไม่ได้ทำอะไรหรือสร้างปัญหาอะไรเกี่ยวกับงุ่นอยู๋แต่บ้าน/อาคารไม่ได้ไปไหน