ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ย้อนกลับ
จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
19 ก.พ. 2563

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

              ในบรรดานักการเมืองทั้งหลาย ชื่อหนึ่งที่คุ้นเคยและมักได้ยินมาอย่างสม่ำเสมอก็คือ “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” หนึ่งในสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ที่มีบทบาทและลีลาทางการเมืองเป็นที่น่าสนใจยิ่งโดยเฉพาะที่วันนี้ได้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดคือหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และรั้งตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ในรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

             รัฐมนตรีจุรินทร์ให้เกียรติเป็นแขกรับเชิญของคอลัมน์ “อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก” ในฉบับนี้ โดยเริ่มเล่าให้ฟังว่าท ตัวเขาเป็นคนพังงา เกิดที่จังหวัดพังงา เริ่มต้นการศึกษาในระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนศิริราษฎร์วิทยา จังหวัดพังงา (สอบได้ที่ 1 ของจังหวัด) ศึกษาต่อระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย สำเร็จปริญญาตรี รัฐศาสตร์บัณฑิต สาขาบริหารรัฐกิจ (สิงห์แดง) จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และระดับปริญญาโท รัฐประศาสนศาสตร์มหาบัณฑิต สาขานโยบายสาธารณะและการวางแผน จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)

              สำหรับด้านการเมืองนั้น รัฐมนตรีจุรินทร์ สนใจการเมืองมาอย่างยาวนานและต่อเนื่อง โดยเมื่อสมัยยังเป็นนักศึกษา ได้สวมวิญญาณเป็นนักเขียนการ์ตูนการเมืองชื่อดัง ใช้นามปากกาว่า "อู๊ดด้า" จึงเป็นฉายาที่มักจะเรียกจนติดปากมาจนถึงทุกวันนี้

              อย่างไรก็ตาม ด้วยหมวก 3 ใบที่สวมใส่อยู่ในปัจจุบันที่ทั้งตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ความรับผิดชอบตามหน้าที่จึงย่อมมีอยู่มากมาย แต่สิ่งที่เป็นปรัชญาในการทำงานก็คือ การทำงานต้องลงมือทำโดยมีข้อคิดในหลักการทำงานและการบริหารงานว่า

         “เมื่อเข้ามาทำงานให้ประชาชนแล้ว ต้องลงมือทำทันที และต้องทำได้ไว ทำได้จริงในการทำงานเป็นผู้บริหารระดับสูง และเมื่อมีความรับผิดชอบในระดับประเทศ ดังนั้น จึงต้องมีความละเอียดรอบคอบและตั้งใจทำงาน มุ่งมั่นทำหน้าที่นั้นๆ เมื่อเข้ามาทำตามสิ่งที่ประชาชนคาดหวังแล้ว และประชาชนเขาให้มาทำงานเพื่อบ้านเมือง ก็ต้องสามารถรายงานประชาชนได้ว่า ได้ทำอะไรให้เขาได้บ้างและผลเป็นอย่างไร เกี่ยวข้องกับประชาชนอย่างไร เป็นผลประโยชน์ของสังคม ประชาชน และประเทศชาติอย่างไร”  รัฐมนตรจุรินทร์ กล่าวกับ อปท.นิวส์ พร้อมกับบอกต่อไปว่า

           ตัวเขานั้นคิดเสมอว่าทำแล้วต้องเป็นประโยชน์ เข้ามาทำงานแล้วต้องเป็นประโยชน์ โดยเฉพาะเมื่อมาเป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พันธกิจสำคัญคือจะต้องสามารถทำตามนโยบายและผลักดันนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภาไว้เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2562 ให้สัมฤทธิ์ผลได้ทั้งหมด เพราะเป็นคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับโครงการประกันรายได้เกษตรกร เรื่องความซื่อสัตย์สุจริต เรื่องของการแก้ไขในหัวข้อที่เป็นการปลดล็อคกุญแจนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งหมดนั้น ประชาชนรับรู้จากการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา

 

นอกจากนั้นแล้วในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ก็มีภารกิจหลักที่ได้ให้นโยบายต่อผู้บริหารกระทรวงใน 10 นโยบายซึ่งก็จะต้องผลักดันให้ประสบความสำเร็จให้ได้ ดังนั้นในเรื่องของหน้าที่ความรับผิดชอบจึงเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับผู้บริหารมาก

รัฐมนตรีจุรินทร์ ได้ขอย้ำถึงแนวนโยบายหลักๆ ของกระทรวงพาณิชย์ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจในหลายประเทศที่มีแนวโน้มชะลอตัว ประกอบกับความท้าทายใหม่ๆ ที่มีความซับซ้อนอย่างมากทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ คือ

1) การประกันรายได้เกษตรกร โดยดูแลพืชเศรษฐกิจ 5 ชนิด ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และข้าวโพด และกระตุ้นราคาสินค้าเกษตรในภาพรวมทั้งหมด รวมทั้งเร่งรัดปัญหาพืชเกษตรเชิงรุก ไม่รอให้เกิดปัญหา จะแก้ปัญหาล่วงหน้า เพราะปฏิทินพืชผลการเกษตรนั้นทุกฝ่ายรู้ล่วงหน้าอยู่และจะมีการใช้แผนเกษตรพันธสัญญาด้วย

2) ดูแลราคาสินค้าและบริการเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมผู้กับผู้ประกอบการและผู้บริโภค

3) เร่งรัดการส่งออกสินค้าและบริการโดยเน้นส่งออกพืชผลทางการเกษตร บริการสินค้า OTOP สินค้าเสื้อผ้า เครื่องประดับ หมวดอื่นๆ โดยมียุทธศาสตร์สำคัญเน้นรักษาและขยายตลาดเดิม เปิดตลาดใหม่ ฟื้นตลาดเก่าจากสถานการณ์ในต่างประเทศที่เคยเป็นอุปสรรค และมุ่งเน้นการค้าชายแดนและข้ามแดน เพิ่มมูลค่าการส่งออก

4) เร่งรัดการเจรจาข้อตกลงการค้าที่ยังค้างท่อ เช่น ASEAN และ  RCEP การดำเนินการเจรจา FTA ระหว่าง THAI-EU ตุรกี ศรีลังกา ปากีสถาน อังกฤษ ตลอดจนเร่งหาข้อสรุปของ CPTPP (ข้อตกลงความชอบความครอบคลุมและความก้าวหน้าและความก้าวหน้าเรื่องหุ้นส่วนทางการค้าภาพภาพพื้นเอเซียเอเชียแปซิฟิก)

5) เดินหน้าระบบ e-filing ต่อไปเพื่อให้การจดทะเบียนและการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับบริหารของกระทรวงยึดหลักง่าย สะดวก รวดเร็ว กับทั้งผู้เกี่ยวข้องและผู้ใช้บริการ ทั้งในเรื่อง นิติบุคคล ผู้ใช้บริการ ทรัพย์สินทางปัญญา เอกสารการค้าระหว่างประเทศ

6) เร่งรัดการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาโดยเฉพาะ GI เพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการเพื่อใช้ประโยชน์ทางพาณิชย์ทั้งภายในและนอกประเทศ

7) ผลักดันเศรษฐกิจยุคใหม่ Bio green sharing creative economy  การค้าออนไลน์ โดยสนับสนุน start up เพื่อส่งเสริม สนับสนุนให้ SME OTOP และธุรกิจแฟรนไชส์ เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

8) ฟื้นช่วยโชห่วยให้เป็นกลไกสำคัญต่อเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ และจะดำเนินการให้ปรับรูปแบบเป็น Smart โชห่วย ควบคู่ร้านธงฟ้า จะมีการตั้งเป้าหมายต่อไป และจะปรับเป็นร้านคอนวิเนียนสโตร์

9) มุ่งเน้นการส่งเสริมพัฒนาธุรกิจภาคบริการเพื่อเพิ่มการแข่งขันของประเทศ รวมทั้ง สปา ธุรกิจการดูแลผู้สูงอายุ

10) ใช้กลไกขับเคลื่อนให้นโยบายเดินหน้าไปดังนี้ คือ การประชุมภายในกระทรวงอย่างน้อยเดือน 1 ครั้งเพื่อติดตามงานคืบหน้า /กลไกคณะกรรมการร่วมภาครัฐกับเอกชนด้านพาณิชย์ (กรอ.พาณิชย์) /ใช้กลไก 3 ประสานเพื่อดูแลเรื่องการเกษตร ประกอบด้วย ภาครัฐ เอกชน และเกษตรกร ให้เกษตรกรมีเวทีร่วมกันในการตัดสินใจ /ทูตพาณิชย์ฯ ที่ต้องเป็นมืออาชีพเพื่อเป็นทัพหน้าสำคัญให้ภาคเอกชนนำรายได้จากการส่งออกเป็นสำคัญ

           และนอกจากมาตรการประกันรายได้แล้วยังได้ดำเนินการมาตรการเสริมอื่นๆ ควบคู่ต่อไปด้วย เพื่อยกระดับราคาสินค้าเกษตรให้สูงขึ้นและไม่เกิดภาระต่องบประมาณในอนาคต เช่น ยางพารานำไปทำถนน สินค้าปาล์มเน้นทำพลังงาน เช่น ดีเซล B20 หรือ B100 หรือใช้เป็นพลังงานในการทำไฟฟ้า หรือใช้มันสำปะหลังในการทำแอลกอฮอล์เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะเป็นมาตรการที่จะตอบโจทย์การส่งเสริมเศรษฐกิจชีวภาพตามแนวนโยบายของรัฐบาลหรือการดำเนินโครงการเกษตรพันธสัญญา เพื่อปลูกสินค้าเกษตรที่ตรงกับความต้องการและมาตรฐานของตลาด ซึ่งจะทำให้เกษตรกรมีตลาดและมีผู้ซื้อเพิ่มขึ้น

               รองนายกจุรินทร์ ยังบอกด้วยว่า ในฐานะที่ได้รับมอบหมายหน้าที่เป็นรองนายกรัฐมนตรีกำกับการบริหารราชการของกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์นั้น เชื่อว่าจะเกิดภาพการบูรณาการงานกันอย่างใกล้ชิด เพื่อขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ให้มีเอกภาพ เกิดประสิทธิภาพและผลสัมฤทธิ์สูงสุด โดยเฉพาะนโยบายประกันรายได้เกษตรกรที่จะมีการทำงานกันอย่างใกล้ชิดกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สามารถช่วยยกระดับราคาสินค้าเกษตรไทยให้สูงขึ้นได้

              พร้อมกันนี้ยังเชื่อมั่นว่าหากสามารถดำเนินนโยบายที่เกี่ยวข้องกับภาคการเกษตรให้เกิดผลเป็นรูปธรรมได้ ก็จะช่วยยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรไทยและสามารถพัฒนาภาคเกษตรของไทยให้แข่งขันได้ นอกจากนี้กระทรวงพาณิชย์จะมุ่งส่งเสริมการค้าชายแดนให้มากขึ้นเนื่องจากเป็นตลาดที่มีมูลค่าการค้าสูง และมีบทบาทสำคัญต่อการขยายตัวทางการค้าของไทยกับอาเซียนและช่วยส่งเสริมการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาคให้เข้มแข็งขึ้นด้วย

 

 

          สำหรับปัญหาและอุปสรรคต่อการดำเนินการในเรื่องต่างๆ นั้น รัฐมนตรีจุรินทร์คิดว่าท่ามกลางปัญหาและความท้าทายทางเศรษฐกิจทั้งในประเทศและนอกประเทศที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ยังมั่นใจในศักยภาพพื้นฐานและความเข้มแข็งของเศรษฐกิจไทย

            “แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเราต้องมีมาตรการหรือวิธีการที่จะช่วยกันผลักดันให้ผ่านพ้นช่วงเวลาที่ค่อนข้างคับขันขณะนี้ไปให้ได้ก่อน ซึ่งในเชิงนโยบายได้วางแนวทางเบื้องต้นของกระทรวงพาณิชย์ไว้แล้ว 10 ประการซึ่งก็มีการดำเนินการไปอย่างต่อเนื่องแล้ว รวมทั้งได้ตั้งกลไกที่จะหารือกับภาคเอกชนอย่างใกล้ชิด ผ่านคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนพาณิชย์ หรือ กรอ. พาณิชย์”

            รัฐมนตรีจุรินทร์ ยังบอกด้วยว่าในช่วงเวลาปีนี้และในอนาคต คิดว่าเราจำเป็นต้องเสริมสร้างกลไกสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานราก รวมทั้งหาแนวทางกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากให้กลับมามีพลังและความเคลื่อนไหวให้มากขึ้น ซึ่งต้องทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับภาคเอกชนในระดับภูมิภาค ซึ่งสิ่งนี้ตอกย้ำสิ่งที่พูดอยู่เสมอว่าในการผลักดันการค้าและการส่งออก ต้องให้เอกชนเป็นพระเอก เป็นผู้นำ ส่วนกระทรวงพาณิชย์จะเป็นผู้สนับสนุน

            สำหรับงานอดิเรกที่ถือเป็นการพักผ่อน คือการแบ่งเวลาระหว่างการทำงานและครอบครัว เพื่อให้ผู้อ่านยึดถือเป็นแนวปฏิบัติบ้างเพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างงานกับครอบครัว ซึ่งนอกเหนือจากงานในหมวก3 ใบในปัจจุบันนี้ ตนแทบจะไม่มีเวลาไปทำอย่างอื่นหรือแม้แต่ธุระส่วนตัว แต่คนเราก็ต้องสามารถแยกแยะให้ออกเพื่อรักษาสุขภาพและคุณภาพชีวิต นอนให้เพียงพอ ตนก็จะหาเวลาผ่อนคลายบ้างเพื่อให้ร่างกายมีความพร้อมในการที่จะทำงานได้ทุกวัน

             “ในช่วงเวลาปีนี้และในอนาคต คิดว่าเราจำเป็นต้องเสริมสร้างกลไกสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานราก รวมทั้งหาแนวทางกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากให้กลับมามีพลังและความเคลื่อนไหวให้มากขึ้น ซึ่งต้องทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับภาคเอกชนในระดับภูมิภาค ซึ่งสิ่งนี้ตอกย้ำสิ่งที่พูดอยู่เสมอว่า ในการผลักดันการค้าและการส่งออก ต้องให้เอกชนเป็นพระเอก เป็นผู้นำ ส่วนกระทรวงพาณิชย์จะเป็นผู้สนับสนุน”

 

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...