กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ประสานศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์ป่า (ศปก.พป.) ขยายผลตรวจสอบเหมืองทองของบริษัทอัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) กรณีการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ ๒๔๘๔ ในท้องที่ จังหวัดพิจิตร และจังหวัดเพชรบูรณ์
กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง บูรณาการร่วมกับศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์ป่า (ศปก.พป) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อปฏิบัติการขยายผลตรวจสอบการถือครองที่ดินแบบผิดกฎหมายของกลุ่มทุน กรณีการบุกรุกยึดถือครอบครองที่ดินตามพระราชบัญญัติป่าไม้ ๒๔๘๔ ของบริษัทอัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ในท้องที่ จังหวัดพิจิตร และจังหวัดเพชรบูรณ์
โดยตั้งแต่วันที่ ๘ - ๑๔ ตุลาคม ๒๕๖๓ นายอดิศร นุชดำรง อธิบดีกรมป่าไม้ สั่งการให้ชุดปฏิบัติการหน่วยเฉพาะกิจปราบปรามพิเศษ (พยัคฆ์ไพร) นำโดยนายชีวะภาพ ชีวะธรรม ที่ปรึกษาหน่วยเฉพาะกิจปราบปรามพิเศษ (พยัคฆ์ไพร) บูรณาการร่วมกับ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง นำโดยพลตำรวจโทต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง พลตำรวจตรีวิวัฒน์ ชัยสังฆะ รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง พลตำรวจตรีพิทักษ์ อุทัยธรรม ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พันตำรวจเอกกฤษณะ สุขสมบูรณ์ รองบังคับการบก.ปทส. พันตำรวจเอกศานุวงษ์ คงคาอินทร์ ผู้กำกับการ ๔ บก.ปทส. คณะพนักงานสอบสวน บก.ปทส. และเจ้าหน้าที่จากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ได้ร่วมกันดำเนินการตรวจสอบ ตรวจพบการบุกรุกพื้นที่ครอบครองการทำประโยชน์โดยไม่ได้รับอนุญาต และทำลายทางสาธารณประโยชน์ของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน ในรายของ บริษัท อัครา รีซอร์สเซสจำกัด (มหาชน) จำนวน ๑๕ แปลง เนื้อที่ 73-0-08 ไร่ รายละเอียดปรากฏดังนี้
๑. แปลงประทานบัตรที่ ๒๖๙๑๒/๑๕๓๖๗ ท้องที่อำเภอทับค้อ จังหวัดพิจิตร บุกรุกพื้นที่ป่า จำนวน ๒-๐-๑๓ ไร่
๒. แปลงประทานบัตรที่ ๒๖๙๑๗/๑๕๘๐๔ ท้องที่อำเภอทับค้อ จังหวัดพิจิตร บุกรุกพื้นที่ป่า จำนวน ๑๗-๒-๖๒ ไร่
๓. แปลงประทานบัตรที่ ๒๖๙๒๐/๑๕๘๐๗ ท้องที่อำเภอทับค้อ จังหวัดพิจิตร บุกรุกพื้นที่ป่า จำนวน ๔-๑-๗๕ ไร่
๔. แปลงประทานบัตรที่ ๒๖๙๒๑/๑๕๘๐๖ ท้องที่อำเภอทับค้อ จังหวัดพิจิตร บุกรุกพื้นที่ป่า จำนวน ๓-๒-๖๘ ไร่
๕. แปลงประทานบัตรที่ ๒๖๙๒๒/๑๕๘๐๕ ท้องที่อำเภอทับค้อ จังหวัดพิจิตร บุกรุกพื้นที่ป่า จำนวน ๖-๒-๑๔ ไร่
๖. แปลงประทานบัตรที่ ๒๖๙๒๓/๑๕๘๐๘ ท้องที่อำเภอทับค้อ จังหวัดพิจิตร บุกรุกพื้นที่ป่า จำนวน ๒-๒-๗๙ ไร่
๗. บ่อกักเก็บกากโลหะกรรมที่ ๑ ระวางรูปถ่ายทางอากาศ บ้านวังทรายพูนใน หมายเลข ๕๑๔๑ IV แผ่นที่ ๑๖๓ บุกรุกพื้นที่ป่าจำนวน ๔-๒-๗๔ ไร่
๘. บ่อกักเก็บกากโลหะกรรมที่ ๒ ระวางที่ดินหมายเลข ๕๑๔๑ IV ๗๔๐๐ บุกรุกพื้นที่ป่าจำนวน ๓-๐-๑๙ ไร่
๙. แปลงประทานบัตรที่ ๒๖๙๑๐/๑๕๓๖๕ ท้องที่อำเภอทับค้อ จังหวัดพิจิตร บุกรุกพื้นที่ป่า จำนวน ๑-๐-๖๑ ไร่
๑๐. แปลงประทานบัตรที่ ๒๖๙๑๑/๑๕๓๖๖ ท้องที่อำเภอทับค้อ จังหวัดพิจิตร บุกรุกพื้นที่ป่า จำนวน ๐-๓-๒๒ ไร่
๑๑. แปลงประทานบัตรที่ ๓๒๕๒๙/๑๕๘๐๙ ท้องที่อำเภอวังโป่ง จังหวัดเพชรบูรณ์ บุกรุกพื้นที่ป่า จำนวน ๐-๓-๐๐ ไร่
๑๒. แปลงประทานบัตรที่ ๓๒๕๓๐/๑๕๘๑๐ ท้องที่อำเภอวังโป่ง จังหวัดเพชรบูรณ์ บุกรุกพื้นที่ป่า จำนวน ๓-๒-๓๕ ไร่
๑๓. แปลงประทานบัตรที่ ๓๒๕๓๑/๑๕๘๑๑ ท้องที่อำเภอวังโป่ง จังหวัดเพชรบูรณ์ บุกรุกพื้นที่ป่า จำนวน ๑-๒-๑๐ ไร่
๑๔. แปลงประทานบัตรที่ ๓๒๕๓๒/๑๕๘๑๒ ท้องที่อำเภอวังโป่ง จังหวัดเพชรบูรณ์ บุกรุกพื้นที่ป่า จำนวน ๓-๒-๑๗ ไร่
๑๕. แปลงประทานบัตรที่ ๓๒๕๓๒/๑๕๘๑๒ ท้องที่อำเภอวังโป่ง จังหวัดเพชรบูรณ์ บุกรุกพื้นที่ป่า จำนวน ๙-๒-๕๙ ไร่
โดยศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์ป่า (ศปก.พป.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ประสานงานกับกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อร้องทุกข์กล่าวโทษ โดยได้มอบหมายให้นายชีวะภาพ ชีวะธรรม เป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษดำเนินคดีตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องจำนวนทั้งหมด 15 คดีตามประทานบัตรที่ได้รับอนุญาต
ก่อนหน้านี้ประมาณปี 2559 ขณะที่เหมืองแร่ทองคำได้ดำเนินกิจการอยู่นั้น ได้มีกลุ่มคนออกมาประท้วงร้องเรียนว่า ใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก เพราะที่เหมืองแร่เปิดอยู่ใกล้ชุมชน ส่งผลให้แหล่งน้ำตามธรรมชาติถูกทำลายและปนเปื้อนไปด้วยโลหะหนัก ชาวบ้านไม่สามารถใช้น้ำจากธรรมชาติได้ รวมถึงเริ่มมีอาการเจ็บป่วย มีผื่นคัน ตุ่มหนองทางผิวหนัง จนทำให้เครือข่ายชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบเข้ายื่นหนังสือต่อรัฐบาลในขณะนั้นกระทั่ง 13 ธันวาคม 2559 มีคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 72 /2559 เรื่อง การแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคํา โดยในคำสั่งระบุว่า มีการร้องเรียนและคัดค้านการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคํา เนื่องจากได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะปัญหาความขัดแย้งของประชาชนในพื้นที่โครงการทําเหมืองแร่ทองคําหลายแห่ง จึงมีความจําเป็นต้องกําหนดมาตรการในการป้องกันและระงับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน รวมทั้งกำหนดมาตรการในการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคํา จึงมีคำสั่งระงับการประกอบกิจการไว้ตั้งแต่
วันที่ 1 มกราคม 2560
นอกจากนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ได้รวมรวมข้อเท็จจริง และพยานหลักฐาน จนกระทั่งในเดือนสิงหาคม 2561 สามารถแจ้งความดำเนินคดีอาญากับบริษัทอัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) และผู้เกี่ยวข้องในความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ 2484 และพระราชบัญญัติทางหลวง 2535 และส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ตรวจสอบกรณีการอนุญาตให้บริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด เปลี่ยนแปลงผังโครงการเหมืองแร่ทองคำโดยมิชอบ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้บริษัทเอกชน โดยที่ประชุมมีมติชี้มูลความผิด อดีตอธิบดี
กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและเหมืองแร่กับพวก
หลังจากที่เหมืองทองคำได้ถูกสั่งให้ระงับการประกอบกิจการตามคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 72/2559 ทางบริษัทฯได้เจรจาเพื่อยื่นข้อเสนอรัฐบาลไทย ให้ชดใช้เป็นจำนวนเงินประมาณ 750 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ30,000 ล้านบาท แต่การเจรจาไม่เป็นผล เมื่อเจรจาไม่สำเร็จ ทางบริษัทฯได้ตัดสินใจเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการกับรัฐบาลไทย เพื่อเรียกร้องให้มีการชดเชยค่าเสียหายที่เกิดขึ้นอันเนื่องจากมาตรการของรัฐบาลไทย เนื่องจากการสั่งปิดเหมืองเป็นการละเมิดข้อตกลงการค้าเสรี ไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA)
รัฐบาลไทยและบริษัทคิงส์เกต เริ่มเข้ากระบวนการไต่สวนของอนุญาโตตุลาการ เมื่อวันที่ 3 - 12 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งการพิจารณายังอยู่ในขั้นตอนของกระบวนการอนุญาโตตุลาการ คาดว่าอาจมีคำวินิจฉัยปลายปีนี้