กาแฟคุณภาพเยี่ยม เสิร์ฟให้สัมผัสท่ามกลางบรรยากาศงดงามอากาศบริสุทธิ์ของอำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา อีกทั้ง ต่อยอดสร้างนวัตกรรมแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจากกาแฟนานาชนิด ช่วยเพิ่มมูลค่า ขยายตลาดเติบโต ก่อประโยชน์ให้ชุมชนโดยรอบ นี่เป็นโมเดลการทำเกษตรวิถีใหม่สู่ความยั่งยืน จากสมองและสองมือของ “ปกรณ์ เตชสิทธิ์วรโชติ” เจ้าของธุรกิจ “โรงคั่วกาแฟ วังน้ำเขียว”
ย้อนกลับไปเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2554 ปกรณ์ ประสบปัญหาธุรกิจอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เสียหายหนักจากภัยน้ำท่วมกรุงเทพฯ จนต้องหลบมาคลายเครียดที่ อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา ซึ่งการมาพักผ่อนครั้งนั้น กลายเป็นจุดเปลี่ยนชีวิต
“ผมเจอที่แห่งนี้ แล้วความประทับใจมาก ตัดสินใจนำเงินก้อนสุดท้าย ลงทุนซื้อที่ดิน เพื่อทำธุรกิจเกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ และกาแฟครบวงจร เพราะส่วนตัวผมรักการดื่มกาแฟมาก เริ่มจากเปิดคาเฟ่เล็ก ๆ ลงแรงคั่วกาแฟด้วยมือ” ปกรณ์ เล่าย้อนให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นของโรงคั่วกาแฟ วังน้ำเขียว
ในเวลานั้น ทางเข้าร้าน ยังเป็นดินโคลน เดินทางไม่สะดวก แต่ด้วยกาแฟรสเลิศจากเมล็ดพันธุ์ “อาราบิก้า” ปลูกในพื้นที่วังน้ำเขียว และทางภาคเหนือ คั่วด้วยสูตรเฉพาะตัว มีกลิ่นหอมละมุน และไม่ใส่สารแต่งกลิ่นใด ๆ ทั้งสิ้น ควบคู่กับบรรยากาศของร้านสวยงามยอดเยี่ยม อยู่ติดริมแม่น้ำ อุดมด้วยธรรมชาติสมบูรณ์ ลูกค้ามาแล้วประทับใจ ช่วยถ่ายภาพและแชร์ต่อในโซเชียลมีเดีย ก่อให้เกิดกระแสบอกต่ออย่างกว้างขวาง ผลักดันให้ธุรกิจแจ้งเกิดสำเร็จ
เมื่อธุรกิจเดินหน้าด้วยดี เจ้าของธุรกิจหนุ่มต่อยอดตามเจตนาที่อยากทำธุรกิจกาแฟครบวงจร ด้วยการแปรรูปทำ “เมล็ดกาแฟคั่วบรรจุซอง” เพื่อขายเป็นของฝากประจำร้าน รวมถึงขายส่งให้ร้านกาแฟทั่วไป นอกจากนั้น ยังสร้างนวัตกรรมแปรรูปกาแฟเป็น “ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง” เช่น แชมพู สบู่ ครีมอาบน้ำ เป็นต้น ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่ม หลีกหนีการแข่งขันตัดราคากับผลิตภัณฑ์กาแฟคั่วที่มีขายในท้องตลาดทั่วไป
อย่างไรก็ตาม การขยายธุรกิจ จำเป็นต้องใช้เงินทุนหมุนเวียนและลงทุนซื้อเครื่องจักร แต่เนื่องจากในอดีต ติดปัญหาด้านการเงิน สถาบันการเงินต่าง ๆ ล้วนปฏิเสธที่จะให้เงินทุน ยกเว้นธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank ที่เล็งเห็นถึงศักยภาพธุรกิจ และประโยชน์ที่มีต่อชุมชน เข้ามาให้คำปรึกษา ช่วยแนะนำธุรกิจจดทะเบียนเป็น “นิติบุคคล” จนสามารถเข้าถึงทุนได้
"ในอดีตที่ธุรกิจผมล้ม ติดปัญหาการเงิน ทำให้ไม่สามารถทำธุรกรรมกับสถาบันการเงินได้ แต่ SME D Bank เล็งเห็นถึงความตั้งใจ ทำให้เราได้รับโอกาสที่เกินคาดฝัน ช่วยให้เราผ่านวิกฤตมาได้ จากวันนั้นถึงวันนี้ เราโตแบบก้าวกระโดด ขณะเดียวกัน อีกหลายร้อยชีวิตที่เป็นเครือข่ายของเรา ก็ได้รับประโยชน์ไปด้วย" ปกรณ์ ระบุ
นอกจากเรื่องเงินทุนแล้ว SME D Bank ยังแนะนำให้โรงคั่วกาแฟ วังน้ำเขียว จับคู่ธุรกิจกับลูกค้าอีกรายของธนาคาร ซึ่งดำเนินธุรกิจผลิตกาแฟครบวงจรอยู่ที่ จ.น่าน มีเครือข่ายเกษตรกรผู้ปลูกเมล็ดกาแฟกว่า 1,400 ครัวเรือน ทำให้โรงคั่วกาแฟ วังน้ำเขียว มีแหล่งวัตถุดิบเมล็ดกาแฟเกรดพรีเมียมที่ไว้วางใจได้ เหมาะสำหรับใช้แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ทั้งกาแฟคั่วบรรจุซอง หรือผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางกาแฟ ที่มีแผนจะขยายตลาดส่งออกในอนาคต
ปัจจุบัน โรงคั่วกาแฟ วังน้ำเขียว มีผลิตภัณฑ์แปรรูปมากกว่า 20 รายการ เช่น เมล็ดกาแฟคั่ว กาแฟดริปสำเร็จรูป ชาดอกกาแฟ สบู่เหลวกาแฟ แชมพูกาแฟ เป็นต้น วางขายผ่านหน้าร้าน ตัวแทนจำหน่าย และอีคอมเมิร์ซ
ปกรณ์ ชี้ให้เห็นด้วยว่า การต่อยอดแปรรูปกาแฟเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ มีส่วนช่วยบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 เพราะในช่วงที่ต้องปิดร้านหรือลูกค้าไม่สามารถเดินทางมาร้านได้ ตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 ลูกค้าที่เคยใช้ผลิตภัณฑ์ของโรงคั่วกาแฟ วังน้ำเขียว แล้วชื่นชอบติดใจในคุณภาพ ยังสามารถสั่งสินค้าผ่านอีคอมเมิร์ซได้ต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจากกาแฟที่ตลาดเติบโตสูง จนปัจจุบันทำกำไรสูงกว่าการขายกาแฟคั่วด้วยซ้ำ \
จากอดีตธุรกิจเคยล้ม ทุกวันนี้ ปกรณ์นำพา “โรงคั่วกาแฟ วังน้ำเขียว” ให้เป็นแบรนด์ที่ลูกค้าเชื่อมั่นยอมรับในคุณภาพผลิตภัณฑ์และบริการ ที่สำคัญ ธุรกิจยังมีส่วนเกื้อหนุนชุมชน สร้างงาน สร้างรายได้ให้ชาวอำเภอวังน้ำเขียว รวมถึง เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟทางภาคเหนือ และในอนาคต ธุรกิจนี้ ยังคงเดินหน้าที่จะเติบโตเคียงข้างชุมชนบนวิถีแห่งเกษตรยั่งยืนต่อไป