ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
คอลัมนิสต์ประจำอปท.นิวส์ ย้อนกลับ
ทุจริต กรณีจัดซื้อรถยนต์ดับเพลิงกู้ภัย
05 ส.ค. 2564

เขียนให้คิด : โดย ซีศูนย์

ทุจริต กรณีจัดซื้อรถยนต์ดับเพลิงกู้ภัย

สวัสดีครับท่านผู้อ่าน ช่วงนี้พยายามอยู่กับบ้านนะครับ อย่าไปสร้างปัญหาสังคมมากกว่านี้ ยิ่งได้ข่าวคนบางจำพวกไม่มีจิดสำนึก ยังกินยังเสพกันเป็นกลุ่มอย่างไม่ใยดีกับคนส่วนใหญ่ที่ลำบาขณะนี้ ต้องช่วยกันประนามกันครับ อย่าปล่อยให้ลอยนวลในสังคมต่อไป

มาว่าของเรากันต่อครับ เมื่อกลางเดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา ปรากฎข่าว ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดผู้บริหารท้องถิ่นแห่งหนึ่งเรื่องการจัดซื้ออีกครับ คือ กรณีเรื่องกล่าวหานายกองค์การบริหารส่วนตำบล กับพวกรวม 14 รายทุจริต กรณีจัดซื้อรถยนต์ดับเพลิงกู้ภัย ซึ่งคณะไต่สวนเบื้องต้นได้ไต่สวนข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ในปี พ.ศ. 2555 นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งนี้ ได้จัดซื้อรถยนต์ดับเพลิงกู้ภัยแบบกระเช้าหอน้ำพร้อมบันไดด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ราคากลาง 33,950,000 บาท โดยได้แต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดคุณลักษณะฯ มีนิติกร รักษาราชการแทนหัวหน้าสำนักปลัด นักพัฒนาชุมชน 5 เจ้าพนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 4 และครูชำนาญการ สังกัดวิทยาลัยเทคนิคจังหวัด 4 คน โดยคณะกรรมการกำหนดคุณลักษณะฯ ได้พิจารณากำหนดรายละเอียดของเครื่องสูบน้ำให้เป็น “เครื่องสูบน้ำแบบแรงเหวี่ยงหนีศูนย์” ต้องเป็นผลิตภัณฑ์ภายในประเทศที่ได้รับการรับรองจากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) หรือได้รับการจดทะเบียนผลิตภัณฑ์กับสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม โดยมีเอกสารมาแสดงในวันยื่นซอง และมีเอกสารการแต่งตั้งเป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่องสูบน้ำจากบริษัทผู้ผลิตที่มีอำนาจเต็ม ใช้เอกสารการแต่งตั้งตัวแทนจำหน่ายฉบับจริง เพื่อให้ได้สินค้าที่มีคุณภาพเพื่อประโยชน์สูงสุดต่อทางราชการมาแสดงในวันยื่นซองเสนอราคา

ในขณะนั้นเครื่องสูบน้ำแบบแรงเหวี่ยงหนีศูนย์ยังไม่มีประกาศกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม แต่มีผู้ได้รับการจดทะเบียนไว้ที่สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรมแล้ว จำนวน 6 ราย และมีเพียง 2 รายเท่านั้น ที่มีคุณสมบัติตรงตามประกาศขององค์การบริหารส่วนตำบล และมีสิทธิเข้าเสนอราคาได้ ความปรากฎว่า บริษัทหนึ่ง เป็นของพี่ชายของกรรมการผู้จัดการอีกบริษัท ดังนั้น การกำหนดคุณลักษณะเครื่องสูบน้ำแบบแรงเหวี่ยงหนีศูนย์ของคณะกรรมการกำหนดคุณลักษณะเฉพาะฯ ดังกล่าว จึงเป็นการมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม และมีลักษณะกีดกันผู้ผลิตรายอื่นๆ ที่มีคุณสมบัติตรงตามประกาศฯ แต่ไม่ได้จดทะเบียนผลิตภัณฑ์เครื่องสูบน้ำแบบแรงเหวี่ยงหนีศูนย์ไว้กับสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และปรากฏว่า มีผู้มาซื้อซองเอกสารประมูลฯ จำนวน 8 ราย แต่มีผู้มายื่นซองเอกสารการประมูลฯ จำนวน 5 ราย โดยมีผู้ผ่านการคัดเลือกให้เข้าเสนอราคา จำนวน 3 ราย ได้แก่ บริษัท ช. บริษัท วี และบริษัท จ. ซึ่งผู้เสนอราคาทั้ง 3 ราย ได้เสนออุปกรณ์ปรับแรงดันสูงอัตราการไหลสูง (Regulator) เป็นรุ่นเดียวกันคือ Pressure regulator U 47 ผลิตจากประเทศเยอรมณี

แต่ปรากฏว่า มี 2 บริษัท วี และบริษัท จ. ได้ใช้หนังสือแต่งตั้งตัวแทนจำหน่ายอุปกรณ์ปรับแรงดันสูงอัตราการไหลสูง (Regulator) เป็นเอกสารปลอมมาแสดงต่อคณะกรรมการดำเนินการประมูลฯ ในวันยื่นซอง รวมทั้งผู้เสนอราคาทั้ง 3 ราย มิได้มีการทดลองและสาธิตอุปกรณ์ดังกล่าวในวันยื่นซอง ไม่เป็นไปตามเอกสารประมูลซื้อฯ และรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะฯ แต่คณะกรรมการดำเนินการประมูลด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่มีรองปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล หัวหน้าฝ่ายบริหารทั่วไป และนาย ณ.เป็นกรรมการ ไม่ได้ตรวจสอบรายละเอียดหนังสือแต่งตั้งตัวแทนจำหน่ายของ 2 บริษัท กลับพิจารณาให้ผู้เสนอราคาทั้ง 3 ราย เป็นผู้มีคุณสมบัติครบถ้วน ทั้งที่ผู้ยื่นเอกสารการประมูลทั้ง 3 รายดังกล่าวขาดคุณสมบัติ และในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2555 บริษัท บีส ไดแมนชั่น จำกัด ผู้ให้บริการตลาดกลางได้จัดการประมูลอิเล็กทรอนิกส์โครงการจัดซื้อรถยนต์ดับเพลิงกู้ภัยแบบกระเช้าพร้อมบันได ผลปรากฏว่าบริษัท ช. เป็นผู้ชนะการประกวดในราคา 39,920,000 บาท คณะกรรมการดำเนินการประมูลฯ ได้รายงานผลการประมูลฯ เสนอให้นายกองค์การบริหารส่วนตำบลทำสัญญากับบริษัท ช. นอกจากนี้ ยังปรากฏหลักฐานว่าทั้งสามบริษัทที่เสนอราคา มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกัน โดยบริษัท จ. มีที่ตั้งอยู่ภายในรั้วเดียวกับบริษัท ช. และตั้งขึ้นมาเพื่อเอื้อประโยชน์ในทางธุรกิจของบริษัท ช.

สำหรับบริษัท วี. นั้น ได้รับการว่าจ้างจากบริษัท ช. ให้ยื่นซองเอกสารการประมูล โดยมีนาง ฐ. อดีตภรรยาของนาย ค. เจ้าของบริษัท ช. เป็นผู้ดำเนินการ ให้ธนาคารออกหนังสือค้ำประกัน (หลักประกันซอง) ให้แก่บริษัท จ. และบริษัท วี เพื่อใช้เป็นเอกสารประกอบในการยื่นเอกสารประมูลจัดซื้อรถยนต์ดับเพลิงฯ ในโครงการดังกล่าวด้วย แล้วเป็นไงครับ

คณะกรรมการ ป.ป.ช. ก็มีมติว่า การกระทำของนายก อบต.แห่งนี้ มีมูลความผิดอาญา มาตรา 151 และมาตรา 157 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 10 มาตรา 11 และมาตรา 12 และมีมูลความผิดฐานจงใจทอดทิ้งหรือละเลยไม่ปฏิบัติการตามอำนาจและหน้าที่อันจะเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง หรือปฏิบัติการไม่ชอบด้วยหน้าที่หรือประพฤติตนฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อย ตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 90/1

ส่วนการกระทำของคณะกรรมการกำหนดคุณลักษณะฯ 4 คน มีมูลความผิดทางอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 83 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 11 และมาตรา 12 ประกอบประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง แต่ม 1 คน ถึงแก่ความตายแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องจึงระงับไป ยังมีคณะกรรมการดำเนินการประมูลด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์อีก 3 คน ป.ป.ช.เห็นว่า ไม่มีมูลความผิดทางอาญา แต่มีมูลเป็นความผิดทางวินัยไม่ร้ายแรง

สำหรับ 3 บริษัท และกรรมการผู้จัดการบริษัททั้ง 3 บริษัท ผิดทางอาญาและฮั้วเช่นกัน นอกจากนี้ 2 บริษัทกับกรรมการผู้จัดการยังมีความผิดอาญาฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม แต่มีบริษัทหนึ่งจดmะเบียนเลิกบริษัท จึงสิ้นสภาพนิติบุคคลไม่อาจถูกฟ้องเป็นจำเลยต่อศาลได้ จึงให้ยุติการดำเนินคดี

เรื่องนี้ ป.ป.ช.กำลังให้อัยการดำเนินคดีอาญาต่อไป รวมถึงได้แจ้งผลการพิจารณาของ ป.ป.ช. ให้ ก.ก.ต.ทราบ ซึ่งหมายถึงการเพิกถอนสิทธิลงรับเลือกตั้งต่อไป ก็เป็นอุทธาหรณ์อีกเรื่องที่ผู้บริหารท้องถิ่นพึงระวังครับ

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 1 - 15 ธันวาคม 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...