โลกของจีน : ชัยวัฒน์ วนิชวัฒนะ
สัมพันธ์ 50 ปี ตุรกี-จีน
ความเป็นชาตินักการค้า ทำให้จีนมีความสัมพันธ์กับนานาชาตินับตั้งแต่การบุกเบิกเส้นทางสายไหมในยุคโบราณมาจนถึงปัจจุบัน หนึ่งในชาติที่สี จิ้นผิง ผู้นำจีนเรียกว่าเป็น “ประเทศทางสายไหมโบราณ” ก็คือสาธารณรัฐตุรกี ซึ่งเพิ่งครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตยุคใหม่ในเดือนกรกฎาคมปีนี้
ตุรกีในยุคโบราณก็คืออาณาจักรออตโตมัน เคยเป็นจักรวรรดิอิสลามที่เจริญรุ่งเรืองอยู่ถึง 6 ศตวรรษ ออตโตมันเคยเป็นศูนย์กลางของโลกอิสลาม สุลต่านแห่งออตโตมันเคยเป็นผู้นำของประชาชาติมุสลิม ความยิ่งใหญ่ของชาวเติร์กเคยเป็นที่เลื่องลือไปทั่วโลก
ในโอกาสครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์จีน-ตุรกี ซึ่งต่างมีความเก่าแก่ทางประวัติศาสตร์ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้ต่อสายตรงคุยกับประธานาธิบดี เรเซป ทายยิป เออร์โดอัน แห่งตุรกี โดยเน้นย้ำถึงความร่วมมือด้านการค้าและเศรษฐกิจ ซึ่งในปี 2020 ทั้งสองประเทศมีการค้าร่วมกันคิดเป็นมูลค่าสูงถึง 24,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 783,600 ล้านบาท แม้ว่าจะมีผลกระทบเรื่องสถานการณ์โควิด-19
อันที่จริงความสัมพันธ์ระหว่างตุรกีกับจีนในอดีตนั้น ใช่ว่าจะราบรื่น เพราะมีกรณีของ “ชาวอุยกูร์” ซึ่งบรรพบุรุษมีเชื้อสายตุรกี และอพยพมาตั้งรกรากในเขตปกครองตนเองซินเจียง จนขยายลูกหลานกลายเป็นประชากรใหญ่จำนวนประมาณ 11 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมนับถือศาสนาอิสลาม
การเป็นชนเผ่าขนาดใหญ่ที่มีภาษาและวัฒนธรรมที่แตกต่างจากชาวจีนส่วนใหญ่ จึงเคยมีคนบางกลุ่มเคลื่อนไหวเรียกร้องแบ่งแยกดินแดนเป็นอิสระจากจีน โดยว่ากันว่า กลุ่มทุนที่หนุนหลังอยู่ในตุรกี ซึ่งแน่นอนว่า เรื่องเช่นนี้พรรคคอมมิวนิสต์จีนและรัฐบาลจีนไม่มีวันยอมปล่อยให้เกิดขึ้น เช่นเดียวกับเรื่องไต้หวัน ทิเบต หรือทะเลจีนใต้
การจัดวางกำลังทหารนับแสนนายประจำการในเขตปกครองตนเองซินเจียงด้วยเหตุผลด้านความมั่นคง เพราะเป็นพื้นที่ชายแดนติดต่อกับ 8 ประเทศแล้ว ยังเป็นมาตรการเด็ดขาดตามสไตล์จีนสำหรับการป้องกันและปราบปราม “ 3 พลังความชั่วร้าย” คือ ลัทธิแบ่งแยกดินแดน ลัทธิก่อการร้าย และลัทธิสุดโต่ง ซึ่งถือว่า เป็นปฏิปักษ์ต่อความมั่นคงของจีน
รัฐบาลจีนได้ใช้มาตรการที่เข้มงวดและแข็งกร้าวในการควบคุมพฤติกรรมอันไม่พึงประสงค์ จนกลายเป็นความกดดันต่อชาวอุยกูร์ในซินเจียง มีการนำผู้เห็นต่างจำนวนมากเข้า “ศูนย์อบรมวิชาชีพและศูนย์สอนภาษาจีนกลางเพื่อให้คนห่างไกลจากแนวคิดสุดโต่งทางศาสนา” ซึ่งโลกภายนอกเรียกว่า “ค่ายกักกัน” และชาติตะวันตกหลายประเทศที่เป็นคู่แข่งกับจีนได้ช่วยกันสร้างภาพว่าเป็นค่ายบังคับใช้แรงงาน ซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่รับไม่ได้
ในช่วงเวลาหนึ่งมีชาวอุยกูร์ที่ไม่อาจยอมรับกฎกติกาของจีน ได้พากันหลบหนีออกนอกประเทศโดยจุดหมายหลักคือประเทศตุรกี ซึ่งรัฐบาลตุรกีก็โอบอุ้มผู้อพยพหรือผู้ลี้ภัยเหล่านี้ จนปัจจุบันมีชาวมุสลิมอุยกูร์อยู่ในตุรกีประมาณ 40,000 คน
เรื่องการหลบหนีออกนอกประเทศของชาวอุยกูร์นั้น ประเทศไทยเคยถูกใช้เป็นทางผ่านก่อนเดินทางต่อไปยังตุรกี และเมื่อไม่นานมานี้ รัฐบาลไทยเคยตกที่นั่งลำบากในการส่งชาวอุยกูร์ที่หลบหนีเข้าเมืองส่วนหนึ่งกลับไปยังประเทศจีน จนเป็นเหตุให้สถานกงสุลไทยที่นครอิสตันบูลถูกบุกทำลายทรัพย์สินด้วยความโกรธแค้นจากกลุ่มผู้ประท้วงในตุรกี
ในอดีตนายเรเซป ทายยิป เออร์โดอัน ตอนนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีก็เคยด่ารัฐบาลจีนว่า ได้ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวอุยกูร์ในซินเจียงเมื่อครั้งปราบเหตุจลาจลในเมืองอุรุมชี ซึ่งทำให้รัฐบาลปักกิ่งไม่พอใจเป็นอย่างมาก แต่นโยบายการเมืองของสหรัฐอเมริกากลับทำให้ตุรกีที่เคยฝักใฝ่ตะวันตกหันมานิยมตะวันออก และวันนี้จีนกับตุรกีกลายเป็นมิตรสนิทกัน
การพยายามทำรัฐประหารเพื่อโค่นล้มรัฐบาลของนายเออร์โดเมื่อเดือนกรกฎาคม 2016 แต่ล้มเหลวนั้น เชื่อกันว่า มีการหนุนหลังจากรัฐบาลวอชิงตัน (ยุคนายบารัค โอบามา) และยุโรปบางประเทศ เพราะมีการปิดกั้นไม่ให้ตุรกีเข้าร่วมสหภาพยุโรป
ต่อมาในยุคโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ก่อสงครามการค้ากับทั่วโลก ยิ่งบีบให้ตุรกีถอยห่างเมื่อมีการขึ้นภาษีนำเข้าอลูมิเนียมและเหล็กกล้า 20-50% ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญจากตุรกี ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจและซ้ำเติมปัญหาที่เผชิญอยู่แล้วจนรัฐบาลตุรกีตัดสินใจหันหามิตรในฝั่งตะวันออกอย่างจีนและรัสเซีย
ในด้านเศรษฐกิจผู้นำตุรกีมองเห็นว่า “โครงการเส้นทางสายไหมยุคใหม่ หรือแผนริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน” มีความสำคัญต่อตุรกีมาก เพราะประเทศกำลังขาดแคลนเงินตราต่างประเทศ ล่าสุดมีรายงานข่าวว่าสถาบันการเงินของจีนเตรียมที่จะปล่อยกู้เป็นจำนวน 2,300 ล้านดอลลาร์ ให้แก่ตุรกี เพื่อเดินหน้าโครงการสร้างสะพานและทางด่วนพิเศษในเมืองอิสตันบูล
ตุรกีอาศัยเวทีการประชุมกลุ่มประเทศ G20 ในการเสริมสร้างความร่วมมือและความสัมพันธ์อันดีกับจีนในวงกว้าง และเมื่อมีโอกาสตุรกีก็กระโดดเข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ ซึ่งเป็นองค์การด้านการเมือง เศรษฐกิจและการทหารในทวีปยูเรเชีย
ความสัมพันธ์อันดีกับจีน มีส่วนช่วยให้ตุรกีอย่างมากจากการเผชิญวิกฤติของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่วันนี้จากประชากร 83 ล้านคน มียอดผู้ติดเชื้อสะสมมากกว่า 5.54 ล้านคน หายแล้ว 5.39 ล้านคน เสียชีวิตมากกว่า 5 หมื่นคน
ตุรกีเริ่มแผนฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ทั่วประเทศเมื่อเดือนมกราคม โดยมีข้อตกลงจัดซื้อวัคซีนซิโนแวคจาจีนจำนวน 50 ล้านโดส อีกส่วนหนึ่งคือวั คซีนของไฟเซอร์-ไบออนเทค (Pfizer-BioNTech) ซึ่งถูกเพิ่มเข้ามาในแผนฉีดวัคซีน
ทั้งนี้ ข้อมูลล่าสุดของกระทรวงฯ ระบุว่า ตุรกีฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ไปแล้วมากกว่า 50 ล้านโดส และมีประชาชนฉีดวัคซีนครบสองโดสแล้วมากกว่า 15.1 ล้านคน
แต่ชาวตุรกีจะเรื่องมากประสิทธิภาพวัคซีน และเลือกมากเรื่องยี่ห้อวัคซีนอย่างชาวสารขัณฑ์จิตตกหรือไม่ ใครรู้ช่วยบอกที